แต่นี่ก็เหมือนคำทำนายของหมอดูที่แม่นราวกับตาเห็น…เพราะก็อย่างที่เห็น ๆ กันคือ “ปรากฏการณ์ตุ๋นเป็นลูกโซ่ยังมีในไทยมาตลอดจวบจนวันนี้” และไม่เพียงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ…จำนวนผู้เสียหาย-วงเงินความเสียหาย ก็ยังสูงลิ่วขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย ซึ่งล่าสุดก็มีการจับกุมสามีภรรยาคู่หนึ่งที่หลอกคนให้ร่วมลงทุนออมเงิน มีผู้ตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก วงเงินความเสียหายเท่าที่รวบรวมในเบื้องต้นก็เกือบ 40 ล้าน…

“ตุ๋นเป็นลูกโซ่” นั้น “ขึ้นชั้นตุ๋นอมตะ”

“ผลตอบแทนสูง” นี่ “ยังเป็นเคล็ดตุ๋น”

เคล็ดนี้ “ยุคนี้ก็ยังใช้ตุ๋นเหยื่อได้ผล!!”

กรณี “ลูกโซ่” ที่เป็นการ “ต้มตุ๋น-หลอกลวง” นี้…สมัยก่อนจะคุ้นกันกับคำว่า “แชร์ลูกโซ่” แต่หลัง ๆ มานี่นอกจากแชร์แล้วก็ยังมีอย่างอื่นเพิ่มขึ้นหลากหลาย มีทั้ง… ตุ๋นลงทุนค่าเงิน ตุ๋นลงทุนหุ้น ตุ๋นลงทุนทองคำ ตุ๋นลงทุนขายสารพัดสารพันสินค้า ตุ๋นออมเงิน ฯลฯ ซึ่งไม่ว่าจะตุ๋นเกี่ยวกับอะไร…สรุปแล้วก็คือในไทยเรานี่… เป็นเวลานับสิบ ๆ ปีมาแล้วที่มี “ปรากฏการณ์ตุ๋นเป็นลูกโซ่” เกิดขึ้น มีคนไทยตกเป็นเหยื่อไปแล้วเป็นจำนวนมากนับแต่ครั้งอดีตที่ยังไม่มีโลกออนไลน์ จวบจนมาถึงยุคนี้ “ตุ๋นเป็นลูกโซ่” ก็ยังคงดำรงอยู่ มิหนำซ้ำมาถึงยุคนี้ ยุคที่มีโลกออนไลน์ มีการใช้โซเชียลมีเดียแพร่หลาย ก็ยิ่ง

“ตุ๋นได้ง่ายขึ้น-ได้เร็วขึ้น-ได้เยอะขึ้น”

เพราะเป็นการ…“ตุ๋นลูกโซ่ออนไลน์”

ทั้งนี้ หากจะถามกันอีกครั้งว่า… กรณีตุ๋นเช่นนี้เคยเกิดแล้วมากมาย เกิดแต่ละครั้งก็เป็นเรื่องราวครึกโครมรับรู้กันทั่วไป ก็แล้ว เหตุใด?? กรณีตุ๋นเช่นนี้ยังเกิดขึ้นอีกเรื่อย ๆ จนปัจจุบัน?? …กับคำตอบนั้นก็คงยังเป็นดังที่ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ เคยชี้ผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้นานแล้ว หากแต่ปัจจุบันนี้ก็ยังคงเป็นคำตอบที่น่าพินิจพิจารณา ซึ่ง ณ ที่นี้ในวันนี้ก็ได้พลิกแฟ้มมานำเสนอเพื่อเป็นการเตือนกันไว้อีก

กล่าวคือ… กรณีที่มีการ ตั้งใจหลอกลวง ตั้งใจต้มตุ๋น ตั้งใจโกง อย่าง เป็นลูกโซ่ นั้น…ที่ผ่านมาวิธีการก็ยังคงเป็นไปในรูปแบบการ หาเหยื่อแบบขยายวงไปเป็นทอด ๆ คล้ายกับรูปแบบธุรกิจขายตรง ซึ่งแม้หลัง ๆ มาการ “ตุ๋นเป็นลูกโซ่” จะมีองค์ประกอบ
อื่น ๆ ที่แตกต่างไปจากเดิม ๆ แต่กลวิธีล่อใจเหยื่อนั้นจริง ๆ ก็ไม่ได้แปลกใหม่อะไร ก็ยังคงเดิม ๆ คือ…

ตุ๋นเหยื่อโดย “อ้างผลตอบแทนสูง ๆ”

ทาง รศ.ดร.สมชาย นักวิชาการอิสระ ชี้ผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้ว่า… “ตราบใดที่คนยังอยากรวยเร็ว ๆ ตราบใดที่คนยังอยากได้เงินเยอะ ๆ แบบง่าย ๆ เรื่องการตุ๋นแบบนี้ก็คงจะไม่มีทางหมดไปอย่างแน่นอน” และนอกจากนี้ก็ยังมี “ปัจจัยเสริมแรง” อื่น ๆ คือ… จากการที่มีคนไทยส่วนหนึ่ง…ซึ่งมิใช่จำนวนน้อย ๆ เป็นประเภทชอบพนันขันต่อ-ชอบเสี่ยงโชค “ชอบเสี่ยงหวังรวย”…นี่ก็อีก “ช่องโหว่ที่ทำให้ตุ๋นเป็นลูกโซ่เข้าครอบงำได้อย่างง่าย ๆ” ซึ่งแม้จะมีจุดสังเกตว่าอาจเป็น “กับดัก” เป็นการ “หลอกลวง-ต้มตุ๋น” ด้วยการอ้างผลตอบแทนสูงลิ่ว ที่แม้แต่คนที่มีช่องหาเงินสุจริตได้ง่าย ๆ โดยใช้เงินต่อเงิน ก็ยังไม่สามารถสร้างผลตอบแทนระดับนี้ได้ แต่ก็ยังคงมีผู้หลงเชื่อเป็นเหยื่อ ครั้งแล้วครั้งเล่า…กลุ่มแล้วกลุ่มเล่า…

“ปัจจัยเสริมตุ๋น” กับกรณีนี้ก็ “น่าคิด??”

ไม่เท่านั้น!!…ยังมี “ปัจจัยเสริมตุ๋น” ที่ทาง รศ.ดร.สมชาย เคยชี้ไว้อีก คือ… “นิสัยแห่ทำตาม ๆ กัน” ที่คนไทยส่วนหนึ่ง…ซึ่งก็มิใช่จำนวนน้อย ๆ อีกเช่นกัน มักจะเป็นเช่นนี้ โดยเรื่องนี้นี่ก็ทำให้ “เสี่ยงเป็นเหยื่อถูกตุ๋นเป็นลูกโซ่จากความไว้วางใจ” คือเห็นคนอื่น ๆ ลงแล้วได้ ก็ตามแห่นำเงินไปลงบ้าง …ซึ่งก็อย่างที่ทราบ ๆ กัน…คือ “ตุ๋นเป็นลูกโซ่” นั้นส่วนใหญ่ช่วงแรก ๆ ที่คนนำเงินไปลงก็มักจะได้ผลตอบแทนสูงจริง เพราะผู้ที่ตุ๋นต้องการให้ตายใจเพื่อลงเงินเพิ่ม และให้เกิดการบอกต่อกันไปเป็นลูกโซ่ จนเมื่อมีเหยื่อหลงเชื่อ เอาเงินไปลงมากขึ้น ถึงจุดหนึ่งก็ “จบเห่” เงินที่บรรดาเหยื่อ ๆ เอาไปลง “ถูกเชิดหนี”

อย่างไรก็ตาม นอกจากที่ทางนักวิชาการชี้ไว้ข้างต้นแล้ว กับกรณี “ตุ๋นเป็นลูกโซ่” นี่ยุคหลัง ๆ มาก็มีกระแสแว่ว ๆ ประมาณว่า…บางคนนั้นรู้ทั้งรู้ว่าน่าจะเป็นการตุ๋น…แต่ก็ลองเอาเงินไปลง เพราะมีความคิดประมาณว่า “ลงก่อนได้ก่อน…แล้วก็ชิ่งก่อน คนอื่นลงทีหลังถูกตุ๋น…ก็ช่วยไม่ได้” ซึ่งกระแสแว่ว ๆ ประมาณนี้จริงเท็จอย่างไรนั้นมิอาจจะยืนยันได้แน่ชัด แต่ที่แน่ ๆ คือการ “ตุ๋นเป็นลูกโซ่” นับแต่ยุคอดีตจนยุคนี้ที่เป็น “ตุ๋นเป็นลูกโซ่แบบออนไลน์” แล้ว กับคนที่เป็นเฮดเป็นหัวขบวนชักชวนคนอื่น ๆ เอาเงินไปลง ที่ก็โดนตุ๋นด้วยเช่นกัน…ซ้ำยังสุ่มเสี่ยงเป็น “ผู้สมรู้ร่วมคิด” กับการตุ๋นด้วยนั้น…มีเพียบ!!

ทั้งนี้ กับเสียงนักวิชาการนั้น ทาง รศ.ดร.สมชาย ยังเคยชี้ผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้อีกว่า… “ตุ๋นเป็นลูกโซ่นี่ก็ถือเป็นปรากฏการณ์หนึ่งทางสังคม” และ…ที่ก็น่าพินิจพิจารณามากเช่นกันคือ… ทางนักวิชาการท่านนี้ระบุถึงการ “ตุ๋นเป็นลูกโซ่” การหลอกลวงแบบขยายวงเป็นทอด ๆ เอาไว้ด้วยว่า… “นี่ก็ถือเป็นกระจกสะท้อนสภาพเศรษฐกิจด้วย” โดยที่…

“ภาวะเศรษฐกิจมีปัญหา” ก็อีก “ปัจจัย”

“เสริมแรง” ทำให้ “ตุ๋นลูกโซ่ยิ่งระบาด”

“ยิ่งเสี่ยง…เสี่ยงเสียหายกันมโหฬาร!!”.