แม้สังคมปัจจุบันจะเปิดกว้างยอมรับคนข้ามเพศมากขึ้น แต่การเข้าถึงระบบสุขภาพยังมีช่องว่าง  เช่นบุคคลข้ามเพศยังต้องใช้ฮอร์โมนเพื่อเปลี่ยนแปลงเพศสภาพ หรือการผ่าตัดเปลี่ยนเพศที่ต้องใช้เงินจำนวนมาก ซึ่งไม่ใช่เรื่องของความงามแต่ต้องการเปลี่ยนสภาพร่างกายให้เป็นตามความรู้สึกข้างใน 

โครงการ ส่งเสริมสุขภาวะและลดช่องว่างในการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนข้ามเพศในประเทศไทย ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดแถลงข่าวและฉายสารคดี “เมื่อการข้ามเพศ ต้องได้รับการคุ้มครองจากรัฐ” 

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า โครงการนี้ส่งเสริม สนับสนุนให้คนข้ามเพศมีช่องทางสื่อสารความต้องการ ข้อจำกัดด้านบริการสุขภาพ และร่วมกันพัฒนานโยบายด้านสุขภาพของคนข้ามเพศ เพื่อเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประไทยกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศยังถูกเลือกปฏิบัติในสังคม และพบว่าเข้าถึงบริการด้านสุขภาพน้อยกว่ากลุ่มรักต่างเพศ ส่วนหนึ่งเกิดจากสถานพยาบาลที่ให้บริการด้านสุขภาพผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศยังมีอยู่จำกัด  รวมถึงการขาดนโยบายทางสุขภาพที่ครอบคลุมความจำเป็นของผู้รับบริการ เช่น บุคคลข้ามเพศที่ต้องใช้ฮอร์โมน ค่าใช้จ่ายในการเข้ารับบริการ ทำให้ผู้รับบริการรู้สึกกังวล ขาดความมั่นใจ และไม่อยากเข้ารับบริการด้านสุขภาพ 

บุคคลข้ามเพศที่ต้องการเปลี่ยนแปลงร่างกายให้ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง ส่วนใหญ่หาซื้อฮอร์โมนกินเองตามท้องตลาด หรืออินเทอร์เน็ต ส่งผลให้เกิดการใช้ฮอร์โมนเกินขนาด หรือผิดวิธี มีความเสี่ยงทางสุขภาพ อาจนำไปสู่ผลกระทบต่อร่างกายและเป็นอันตรายถึงชีวิต ขณะนี้ สสส. ร่วมกับ GenV Clinic คลินิกเพศหลากหลาย โรงพยาบาลรามาธิบดี สานพลังภาคีเครือข่าย จัดตั้งศูนย์ให้บริการสุขภาพบุคคลข้ามเพศ ทั้ง 4 ภาค เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต ลดขั้นตอน ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง” นายชาติวุฒิ กล่าว 

ฐิติญานันท์ หนักป้อ คณะกรรมการการจัดทำร่างกฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ การแสดงออกทางเพศสภาพและคุณลักษณะทางเพศ บอกว่าตัวเองเคยกินยาคุมวันละ 8 เม็ดโดยที่ไม่มีความรู้เลยว่าจะส่งผลกระทบต่อร่างกายอย่างไรในระยะยาว แม้ประเทศไทยจะหาซื้อยาคุมง่ายแต่ก็เสมือนดาบสองคม รัฐควรมีมาตรฐานเรื่องนี้  อย่างไรก็ตามขณะนี้จำนวนของ LGBT+ในประเทศไทยรวมมีอยู่ 9.5 ล้านคน เช่นเดียวกับการแก้กฏหมายนำหน้านามแม้จะได้รับการแปลงเพศแล้ว ขณะที่บุคคลข้ามเพศเมื่อไปรับบริการจากภาครัฐ หรือรพ.ได้รับประสบการณ์การตีตราจากสังคม

 ขณะที่บุคคลข้ามเพศอีกคน  “กิ๊ก” หรือ ตฤณ พัฒนเวโรจน์ วัย 47 ปีบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองในสารคดีที่ฉายในวันนั้นว่า กระบวนการข้ามเพศหลายขั้นตอนมาก ตั้งแต่รับฮอร์โมน ผ่าตัดหน้าอก ผ่าตัดมดลูก ผ่าตัดปิดช่องคลอด ยืดท่อปัสาวะ ฝังท่อปัสสาวะ ผ่าตัดและแก้ไข Phalloplasty (การสร้างอวัยวะเพศชาย) ซึ่งการผ่าตัดการสร้างอวัยวะเพศชายใช้เงินที่ได้จากการถูกเลิกจ้างจากการทำงานมา15 ปีและเงินเก็บมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายจำนวน 1 ล้านบาท  ซึ่งมองว่าเป็นโอกาสที่พร้อม เพราะถ้ารอนานไปกว่านี้ร่างกายจะแก่จนไม่สามารถรับมือกับการผ่าตัดได้ 

คนทั่วไปอาจจะใช้เงินเก็บ ซื้อบ้าน ซื้อรถฯลฯแต่เราต้องนำมาจ่ายกับการเข้าถึงบริการเข้าถึงสุขภาพข้ามเพศเพราะสวัสดิการที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุม” ตฤณ เรียกร้อง

สุภัทรา นาคะผิว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า สิทธิที่จะได้รับบริการสาธารณสุขคือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน การให้บริการเพื่อการข้ามเพศถือเป็นความจำเป็นด้านสุขภาพของกลุ่มคน ที่มีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด พวกเขามีสิทธิที่จะกำหนดเจตจำนงในวิถีชีวิตของตัวเอง การข้ามเพศไม่ใช่การเสริมความงาม พวกเขาจึงไม่ได้เรียกร้องสิทธิพิเศษแต่อย่างใด รัฐจึงต้องให้การคุ้มครอง 

ผศ.ทวิดา กมลเวช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ประชากรของ LGBTQ+ กทม. มีประมาณ 1 แสนคน หรืออาจมากกว่านี้ ซึ่งสิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา กทม.ได้เปิด“คลินิกสุขภาพเพศหลากหลายกรุงเทพมหานคร (BKK Pride Clinic)11 แห่ง ในพื้นที่ 6 กลุ่มเขต ภายในสิ้นปี 2565 จะมี Pride Clinic 16 แห่ง และภายในปีหน้าจะเปิดให้ครบทุกเขต  แต่ทั้งนี้ขอพิจารณาเรื่องความพร้อมของทรัพยากรบุคคลประกอบด้วย  ขณะที่ในโรงพยาบาลของกทม.มี Pride Clinic แล้ว 5 โรงพยาบาลและจะขยายให้ครบ 9 แห่ง สามารถเข้ามารับบริการทางด้านจิตใจ ปรึกษาเรื่องฮอร์โมน หรือเข้ามารับการรักษาโรคทางเพศสัมพันธ์เป็นต้น

ณชเล บุญญาภิสมภาร ผู้รับผิดชอบโครงการส่งเสริมสุขภาวะและลดช่องว่างในการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนข้ามเพศในประเทศไทย กล่าวว่าข้อเสนอแนะเชิงนโยบายออกมา 7 แนวทางดังนี้  แนวทางที่ 1 คือการพัฒนาองค์ความรู้ควรทำสำมะโนประชากรของคนข้ามเพศ เพราะทุกครั้งจะทำนโยบายภาครัฐจะถามว่ามีจำนวนคนข้ามเพศกี่คนในประเทศไทย แนวทางที่ 2 เรื่องของนวัตกรรมการประเมินผล ในสถานการณ์โควิดเราได้เรียนรู้ว่าการบริการทางสุขภาพไม่ต้องเจอหมอที่คลีนิคอีกต่อไป สามารถพบหมอออนไลน์ได้ 

แนวทางที่ 3 ขอให้มีคลินิกสุขภาพ บ้านพักฉุกเฉินบ้านพักคนชรา พบว่าคนข้ามเพศที่อายุมากกว่า 50 ปีละหลายคนเป็นคนไร้บ้าน เพราะไม่สามารถกลับไปที่บ้านได้ ที่บ้านไม่เคยรู้ว่าผู้หญิงเหล่านี้เป็นผู้หญิงข้ามเพศ ควรมีบ้านฉุกเฉินที่เป็นมิตรกับคนข้ามเพศ 

แนวทางที 4 เป็นเรื่องทัศนคติล้วนๆของคนที่ให้บริการ เพราะว่ามีงานวิจัยจำนวนมากในต่างประเทศที่บอกว่าทัศนคติของผู้ให้บริการส่งผลให้คนข้ามเพศไม่ต้องการไปใช้บริการ แค่ไปพบที่เวชระเบียบ หรือพี่ๆที่รักษาความปลอดภัย อาจจะใช้สรรพนามที่ไม่ใช่ของเรา ทำให้เราเกิดความอึดอัดมีความกังวล ก่อให้เกิดชุดประสบการณ์ ปฏิเสธการรักษา ทำให้ไม่อยากให้ไปรพ.อีกต่อไป 

แนวทางที่ 5 หลักสูตรการเรียนรู้ ควรจะต้องจัดหลักสูตรผู้ให้บริการ หลักสูตรของแพทย์พยาบาล หรือคนที่ทำงานสาธารณสุขให้มีความละเอียดอ่อนกับคนข้ามเพศ แนวทางที่ 6 เครือข่ายความร่วมมือ ถือว่าเป็นแนวทางที่สำคัญเพราะสิ่งหนึ่งที่ได้จากงานนี้ เราทำงานร่วมกับเครือข่ายจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการสิทธิ สำนักอนามัยกทม. สปสช.เป็นต้น

แนวทางที่  7 การสร้างความยั่งยืนซึ่งสำคัญมากภาครัฐจะต้องเข้ามาส่วนร่วม เพราะฉะนั้นสวัสดิการทางสุขภาพเพื่อคนข้ามเพศเป็นเรื่องสำคัญมาก 

 “เราจะไม่พูดอีกต่อไปว่าการข้ามเพศเราทำเพราะเราอยากสวย เพราะไม่ใช่ความจริง ความจริงคือเราข้ามเพศเพราะการข้ามเพศทำให้เรามีสุขภาวะที่ดีขึ้นไมว่าจะทางกาย ทางใจและทางสังคม และสุขภาพที่อยู่กับการข้ามเพศเป็นเรื่องจำเป็น และสำคัญมากๆสำหรับคนข้ามเพศ ความสวยงามอาจมีเศษเสี้ยวของความจริงแต่เราอยากมีสุขภาพที่ดี” ณชเล ทิ้งท้าย

อีกแง่มุมของคนข้ามเพศที่อยากสื่อสารให้สังคมและคนที่เกี่ยวข้องรับรู้