ย้อนกลับไปเมื่อเดือนก.ค. ปีนี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ เยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ ท่ามกลางความสัมพันธ์ที่มึนตึงระหว่างทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะในประเด็นที่รัฐบาลวอชิงตันกล่าวหาอย่างเปิดเผย ว่าเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ทรงอยู่เบื้องหลังการสังหารโหดนายจามาล คาช็อกกี ผู้สื่อข่าวและนักวิจารณ์การเมืองฝ่ายตรงข้าม ภายในสถานกงสุลใหญ่ซาอุดีอาระเบีย ที่เมืองอิสตันบูลของตุรกี เมื่อเดือน ต.ค. 2561
แม้ในเบื้องหน้าสหรัฐยืนยันว่า การเยือนซาอุดีอาระเบียของไบเดนในครั้งนี้มีเป้าหมายสำคัญเพื่อ “ฟื้นฟูความร่วมมือ” กับซาอุดีอาระเบีย “ในทุกมิติ” แต่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทราบดีว่า “วัตถุประสงค์แท้จริง” ของผู้นำสหรัฐในการเยือนครั้งนี้ครอบคลุมเรื่องใดเป็นหลัก
ไบเดนและคณะผู้ติดตามซึ่งรวมถึง นายแอนโทนี บลิงเคน รมว.การต่างประเทศสหรัฐ ถึงกับหน้าเสีย เมื่อเจ้าชายโมฮัมเหม็ด ซึ่งทรงถือเป็น “ผู้ปกครองโดยพฤตินัยแห่งราชอาณาจักร” ทรงมีพระราชดำรัสต่อที่ประชุมอาหรับ-สหรัฐ ที่เมืองเจดดาห์ ว่าเป้าหมายการผลิตน้ำมันของซาอุดีอาระเบียยังคงเป็นไปตามที่เคยประกาศไว้ ว่าจะเพิ่มเป็นสูงสุด 13 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในปี 2570 จากปัจจุบันอยู่ที่วันละ 10-11 ล้านบาร์เรล “และจะไม่มีการเพิ่มมากกว่านั้นอีก” และยังไม่มีการเจาะจง ว่าซาอุดีอาระเบียจะเพิ่มการผลิตน้ำมันอีกครั้ง “เมื่อไหร่”
ทั้งนี้ องค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก ( โอเปก ) ซึ่งมีสมาชิก 13 ประเทศ โดยมีซาอุดีอาระเบีย ประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกเป็นหัวเรือใหญ่ และร่วมด้วยอีก 11 ประเทศ นำโดยรัสเซีย ในนาม “โอเปกพลัส” มีมติเป็นเอกฉันท์ เตรียมลดเพดานการผลิตลงวันละ 2 ล้านบาร์เรล เริ่มเดือน พ.ย. นี้ ซึ่งเป็นการลดอุปทานต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง และเป็นการปรับลดกำลังการผลิตครั้งใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่ปี 2563
ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทซาอุดีอารามโก รัฐวิสาหกิจด้านพลังงานของซาอุดีอาระเบีย แจ้งต่อลูกค้าในเอเชีย 7 ประเทศ ซึ่งไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการว่า คือประเทศใดบ้าง ว่าประเทศกลุ่มนี้จะยังคงได้รับน้ำมันตามกำหนดในเดือน พ.ย. และเป็นไปตามปริมาณที่สั่งซื้อ ว่ากันว่ายิ่งสร้างความไม่พอใจอย่างหนักให้แก่รัฐบาลวอชิงตัน ซึ่งมองว่า เป็นจุดยืนของโอเปกในการ “เข้าข้าง” รัสเซีย ถึงขั้นไบเดนสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสหรัฐ “ประเมินความสัมพันธ์” กับซาอุดีอาระเบีย แต่จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีการขยายความอย่างชัดเจน ว่าจะดำเนินการอย่างไร
ไบเดนไม่อาจปฏิเสธได้ว่า แผนการของโอเปกในครั้งนี้จะยิ่งทำให้ราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอีก ไม่เว้นแม้แต่ในสหรัฐ และจะยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้กับรัฐบาลวอชิงตันและพรรคเดโมแครต เนื่องจากใกล้ถึงกำหนดการเลือกตั้งกลางเทอม ที่จะมีขึ้นในเดือนพ.ย. นี้แล้ว และสามารถใช้เป็นตัวชี้วัดในเบื้องต้น ให้กับเส้นทางของการเลือกตั้งสนามใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า นั่นคือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งต่อไป
การสู้รบที่ยืดเยื้อระหว่างรัสเซียกับยูเครน ไม่ได้เป็นสงครามตามรูปแบบดั้งเดิม แต่เป็น “สงครามลูกผสม” ที่รวมยุทธศาสตร์หลายรูปแบบเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเรื่องหนึ่งที่เป็นประเด็นใหญ่ เกี่ยวข้องกับมิติพลังงาน จากการที่รัสเซียคือหนึ่งในประเทศผู้ผลิตพลังงานรายใหญ่ที่สุดของโลก และยังเป็นหนึ่งใน “พันธมิตรหลัก” ของโอเปก
แม้สหรัฐและซาอุดีอาระเบียยกย่องซึ่งกันและกันตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ว่าเป็น “หุ้นส่วนสำคัญทางยุทธศาสตร์” แต่ในทางทฤษฎียังไม่อาจถือได้ว่า ทั้งสองประเทศเป็นพันธมิตรกันอย่างแท้จริง เนื่องจากไม่เคยมีการลงนามข้อตกลงความมั่นคงร่วม หรือสนธิสัญญาสถาปนาความร่วมมืออย่างเป็นทางการไม่ว่าในระดับใด ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศเรียกได้ว่าเป็นการ “แลกเปลี่ยนและต่อรองเพื่อผลประโยชน์” มากกว่า แน่นอนว่า โดยเฉพาะในเรื่องน้ำมัน ที่สหรัฐอาศัยอิทธิพลของรัฐบาลริยาดในโอเปก และการที่ซาอุดีอาระเบียได้รับความสนับสนุนแลความคุ้มครองด้านความมั่นคง “เป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทน”
นับตั้งแต่ทรงดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมาแห่งซาอุดีอาระเบีย เมื่อปี 2558 เจ้าชายโมฮัมเหม็ดทรงมีพระราชอำนาจและอิทธิพลเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ อย่างไรก็ตาม พระองค์ทรงดำเนินนโยบายที่สร้าง “ความแตกต่าง” จากสมาชิกราชวงศ์และรัฐบาลริยาดทุกชุด
ต่อให้ตะวันตกยังคงเดินหน้ากดดันซาอุดีอาระเบียในเรื่องสิทธิมนุษยชน ทว่าในเรื่องของการควบคุมตลาดน้ำมันโลก แม้เจ้าชายโมฮัมเหม็ดทรงยังไม่เคยตรัสอย่างเป็นทางการ แต่การประกาศนโยบายที่เกี่ยวข้องของพระองค์นั้น ชัดเจนในตัวเองแล้วว่า ซาอุดีอาระเบียต้องการรักษาราคาน้ำมันให้ยังอยู่ในระดับสูงต่อไป เพื่อเพิ่มแรงกดดันให้กับฝ่ายตะวันตกซึ่งสนับสนุนยูเครน
ขณะเดียวกัน ตราบใดที่รัฐบาลไบเดนยังไม่สามารถก้าวข้าม “นโยบายดั้งเดิม” ที่ใช้มานานหลายทศวรรษกับราชวงศ์ซาอุดและรัฐบาลริยาด หมายความว่า ซาอุดีอาระเบียจะยังคงได้รับความสนับสนุนด้านความมั่นคงจากสหรัฐต่อไป เป็นความสัมพันธ์ที่ยังดำเนินต่อไปได้ แม้กำลังเกิดรอยร้าวแล้วทีละน้อย.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES