เนื่องจากหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 54 มีความเสียหายทางเศรษฐกิจนับแสนล้านบาท รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงคิดทำโครงการบริหารจัดการน้ำ ด้วยวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท

ถ้าเอามาเปรียบเทียบกับเงินที่กู้มาแจกสะเปะสะปะ กู้มาใส่บัตรคนจนของรัฐบาลปัจจุบัน กลายเป็นว่า 3.5 แสนล้านบาทเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ไม่ได้มากมายอะไรเลย เมื่อเปรียบเทียบกับกิจกรรมต่าง ๆ ใน 10 โมดูลของโครงการบริหารจัดการน้ำ ที่เกิดจากการระดมสมองของหลายฝ่าย ทั้งคนไทยและบริษัทต่างประเทศที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องน้ำอย่างเนเธอร์แลนด์

ปีหน้าได้รัฐบาลใหม่ แม้ว่าโครงการดังกล่าวจะแพงกว่า 3.5 แสนล้านบาทไปมากแล้ว แต่ก็ต้องทำ! ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดอุทกภัยซ้ำซากในพื้นที่เดิม ๆ น้ำท่วมเขตเศรษฐกิจ ท่วมตัวเมือง 2 รอบ เพราะ 8 ปีที่ผ่านมารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ทำโครงการขนาดใหญ่อย่างจีรังยั่งยืน มีแต่ขุดบ่อ ขุดสระ สร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ความจุไม่เกิน 100 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเป็นบทบาทหน้าที่ของกรมชลประทานอยู่แล้ว

นอกเหนือจากนั้น รัฐบาลก็หันไปหันมากับการขุดลอกคูคลองและแหล่งน้ำ โยนงานไปให้องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก รับงานขุดลอกคูคลองและแหล่งน้ำมูลค่าเป็นพันล้านบาทไปทำ ท่ามกลางเสียงคัดค้านสงสัยว่ามีการทุจริตขายช่วงงาน เพราะองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือ ไม่มีเครื่องจักรกลหนัก แต่สุดท้าย “ป.ป.ช.” ก็จับทุจริตไม่ได้เลย

พอน้ำท่วมทีไร “นายกฯ ประยุทธ์” ทำได้แค่เดินทางไปปลอบชาวบ้าน ไปแจกถุงยังชีพเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วกลับ เวลาไปเยี่ยมน้ำท่วมต่างจังหวัด ต้องขนกำลังตำรวจมาดูแลเป็นพัน ๆ นาย ทางจังหวัดต้องหาเจ้าภาพ ช่วยจัดข้าวกล่องมาเลี้ยงดูตำรวจเป็นพันกล่อง แทนที่จะนำข้าวกล่องจำนวนนี้ไปแจกชาวบ้านที่กำลังถูกน้ำท่วม

บางปีไปแนะนำให้ชาวบ้านทำประมง เลี้ยงปลา จับปลาขาย เดี๋ยวรัฐบาลประยุทธ์จะหาห้องเย็นมาให้ ส่วนปีนี้ไปเยี่ยมน้ำท่วมหนักที่ จ.อุบลราชธานี แล้วบอกผู้ประสบภัยว่า “ของจะเสียมันก็ต้องเสีย เดี๋ยวเราค่อยหาใหม่ บางอย่างเป็นโชคชะตา ถ้าเราไม่อยู่ตรงนั้นมันก็ไม่ท่วม แต่เราอยู่ตรงนั้นไง ถึงได้บอกว่าคราวหน้าให้ขนของขึ้นข้างบน ขอให้เป็นบทเรียน”

นี่แหละวิธีคิดและการพูดของคนที่เป็นนายกฯ มากว่า 8 ปี ดังนั้นสมัยหน้าถ้าไม่ใช่นายกฯ ประยุทธ์ อีกแล้ว รัฐบาลใหม่คงทำโครงการที่จีรังยั่งยืน จะต้องทำเขื่อน ทำฟลัดเวย์ในพื้นที่ไหน หรือจะกันพื้นที่ 3 อำเภอ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นทุ่งรับน้ำนาน 2-3 เดือน ก็ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ชาวบ้านอย่างถูกต้องและเป็นธรรม

ถึงเวลาต้องแก้ปัญหาน้ำท่วมให้ได้อย่างยั่งยืนด้วยผู้รู้ ด้วยบริษัทที่มีประสบการณ์จากต่างประเทศ ด้วยหลักทางด้านวิศวกรรม ประเภทที่ว่าถึงเวลาน้ำท่วม นายกฯ ไปเดินผูกผ้าขาวม้าคาดเอว ไปยืนผัดกะเพราแจกชาวบ้าน พอกันเสียทีเถอะ!!.

————————

พยัคฆ์น้อย.