นางลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 3 ในประวัติศาสตร์การเมืองของสหราชอาณาจักร ผู้นำรัฐบาลคนสุดท้ายในรัชสมัยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และคนแรกในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ประกาศลาออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 20 ต.ค. ที่ผ่านมา หลังปฏิบัติหน้าที่ได้เพียง 45 วัน ถือเป็นระยะเวลาที่ต้องได้รับการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศอีกครั้ง ว่าเธอคือผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสั้นที่สุด

ตลอดระยะเวลา 6 สัปดาห์ที่อยู่ในตำแหน่ง แม้เป็นระยะเวลาที่สั้นมาก แต่สิ่งที่เธอทิ้งเอาไว้ต่อให้เป็นเรื่องอดีต แต่จะยังคงสร้างแรงกระเพื่อมและความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรไปอีกนาน นั่นคือ ปรับลดภาษีครั้งใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่ปี 2515 ตั้งเป้าหมายใช้วงเงินประมาณ 45,000 ล้านปอนด์ (ราว 1.93 ล้านล้านบาท) ครอบคลุมระหว่างปี 2569-2570

อย่างไรก็ตาม การที่แผนการดังกล่าวกลับยังไม่ระบุเป้าหมายชัดเจนว่า จะนำเงินมาจากไหน สร้างความผันผวนอย่างหนักให้กับค่าเงินปอนด์ ซึ่งร่วงต่ำเป็นประวัติการณ์อยู่ระยะหนึ่ง และราคาพันธบัตรรัฐบาลทรุดหนัก จนธนาคารแห่งอังกฤษ (บีโออี) ต้องเข้ามาแทรกแซง เพื่อสร้างความสงบให้กับตลาด ซึ่งก็สามารถรักษาสถานการณ์ “ได้อยู่บ้าง”

ขณะที่บรรดานักวิเคราะห์พร้อมใจความวิตกกังวลต่อสถานะทางการคลังของสหราชอาณาจักร และเตือนว่า หากยังคงเดินหน้าแผนการที่ไม่มีเป้าหมายเช่นนี้ต่อไป ภาครัฐจะเผชิญกับความเสี่ยงในการแก้ไขการขาดดุลงบประมาณ

BBC News

ทั้งนี้ เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรก้าวข้ามผ่านวิกฤติตลอดยุคทศรรษที่ 1990-2000 มาได้ตลอด โดยอาศัยการค้ากับสหภาพยุโรป (อียู) และกลุ่มประเทศขนาดใหญ่ในเอเชียเป็นหลัก อีกทั้งตอนนั้นสหราชอาณาจักร ยังเป็นส่วนหนึ่งของอียู จึงได้รับผลประโยชน์ร่วมจากการซื้อขายพลังงานในราคาถูก และการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรี ช่วยให้อัตราเงินเฟ้อของประเทศอยู่ในระดับต่ำ จนกระทั่งเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และทำให้สถานการณ์พลิกผัน เป็นการบ้านที่ผู้นำสหราชอาณาจักรคนใหม่ต้องเร่งจัดการ

ตอนนี้ มีความแน่นอนเพียงอย่างเดียว นั่นคือ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสหราชอาณาจักรจะมาจากพรรคอนุรักษนิยม และจะยังคงเป็นการคัดเลือกโดยสมาชิกพรรคทั่วสหราชอาณาจักร ซึ่งมีจำนวนประมาณ 180,000 คน จากทุกอาชีพในสังคม ตั้งแต่กลุ่มรากหญ้าไปจนถึงกลุ่มนักวิชาการ และผู้มีฐานะทางการเงิน ภายในสัปดาห์หน้า

BBC News

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นยิ่งตอกย้ำความปั่นป่วน และสะท้อนรอยร้าวภายในพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักร เป็นแรงผลักดันให้พรรคแรงงานซึ่งตอนนี้เป็นพรรคแกนนำฝ่ายค้าน ได้รับความนิยมและความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น แน่นอนว่าฝ่ายค้านต้องการให้มีการเลือกตั้งทั่วไปทันที ไม่ต้องรอถึงปีหน้าอีกต่อไป แต่พรรคอนุรักษนิยมไม่ต้องการเช่นนั้น

ทิศทางการเมืองของสหราชอาณาจักรในอนาคตอันใกล้นี้ จะยังคงเป็นการเชือดเฉือนแย่งชิงอำนาจกันภายในพรรคอนุรักษนิยมอีกระยะหนึ่ง กระนั้น เมื่อประเมินร่วมกับปัจจัยอื่นโดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจด้วยแล้ว แน่นอนว่า ผลร้ายทั้งหมดตกอยู่กับประชาชน.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES