สิ่งที่ได้กลับมาทุก ๆ ครั้งจากการให้ คือการได้ความสุขที่เห็นรอยยิ้มของคนไข้ ทำให้แม้บางครั้งจะท้อแท้ แต่ก็ทำให้กลับมาสู้ได้อีกครั้ง จนถึงวันนี้“ เสียงที่หนักแน่นช่วยยืนยันถึงปณิธานอันมุ่งมั่นของ “คุณหมอสุนทร” หรือ “นพ.สุนทร อันตรเสน” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาหู คอ จมูก ที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องยาวนานมากกว่า 30 ปี ที่รวมถึงในต่างประเทศ โดยมีการก่อตั้ง “หน่วยแพทย์อาสา” เพื่อเดินทางไป “รักษาผู้ป่วยโรคหูนํ้าหนวก” ซึ่งผลจากการทุ่มเทเสียสละของคุณหมออาวุโสท่านนี้ ทำให้คุณหมอสุนทรนั้นเป็น “คนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลการทูตสาธารณะ” ซึ่งวันนี้ “ทีมวิถีชีวิต จะพาย้อนไปสัมผัสจุดเริ่มต้นเรื่องราวและเส้นทางชีวิตของคุณหมอท่านนี้…

เราสนใจเรื่องหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ตั้งแต่ตอนที่เรียนจบแพทย์ใหม่ ๆ แล้ว ซึ่งโรคหูนํ้าหนวกนั้นในอดีตถือเป็นโรคร้ายแรงในอันดับต้น ๆ ที่ทำให้เด็กเสียชีวิต เพราะเมื่อป่วยเป็นโรคหูนํ้าหนวก มันจะกินทะลุเข้าไปถึงที่เยื่อหุ้มสมอง ซึ่งถ้ารักษาไม่ทัน อาการอาจรุนแรงจนทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นเมื่อมีโอกาส เราจึงได้รวมกลุ่มกับเพื่อน ๆ  จัดตั้งแพทย์อาสากลุ่มเล็ก ๆ กันขึ้นมาเอง โดยเริ่มจากใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัว เพื่อเดินทางไปรักษาผู้ป่วยตามชนบทของไทยอยู่ 10 กว่าปี จนโรคนี้ค่อย ๆ น้อยลงในเมืองไทย เราก็เริ่มขยายขอบเขตไปรักษาผู้ป่วยในประเทศต่าง ๆ

คุณหมออาวุโส คนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลการทูตสาธารณะ “นพ.สุนทร อันตรเสน” เล่าถึง “แรงบันดาลใจ” ที่เป็นจุดเริ่มต้นของภารกิจนี้ให้ “ทีมวิถีชีวิต” ได้รับฟัง พร้อมกับเล่าให้เราฟังต่อว่า ปัจจุบันคุณหมออายุ 82 ปีแล้ว แต่ก็ยังทำงานเป็น ที่ปรึกษาโรงพยาบาลราชวิถี กับเป็น กรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี รวมถึงดำรงตำแห่งเป็น ประธานคณะกรรมการเพื่อพัฒนาความเป็นเลิศของหมอหู คอ จมูก ทั่วประเทศ ทั้งนี้ คุณหมอสุนทรได้เล่าเรื่องราวจุดเริ่มต้นของการเป็นคุณหมอจิตอาสาว่า นอกจากความสนใจเรื่องหน่วยแพทย์เคลื่อนที่แล้ว คุณหมอยังมีความรู้สึกประทับใจมาตั้งแต่ครั้งที่ตัวของคุณหมอได้เคยทำงานเป็นแพทย์อาสาให้กับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของ “สมเด็จย่า” สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดยตอนนั้นคุณหมอได้ไปออกหน่วยแพทย์ที่ จ.อุบลราชธานี อยู่นาน 3 เดือน ซึ่งการได้ไปเป็นแพทย์อาสาในพื้นที่ห่างไกลครั้งนั้นทำให้ตัวคุณหมอได้เห็นว่า เมืองไทยยังมีผู้ป่วยที่รอคอยความช่วยเหลือทางด้านการแพทย์อยู่อีกมาก จนทำให้คุณหมอได้ตั้งปณิธานว่าถ้ามีโอกาสจะขออาสาไปช่วยเหลือผู้ป่วยเหล่านี้ นอกจากนี้ ในการไปออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ครั้งนั้น สิ่งที่ทำให้คุณหมอสุนทรรู้สึกปลาบปลื้มปีติเป็นอย่างมาก นั่นคือการที่ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จพระราชดำเนินมาหาคุณหมอ

’เป็นภาพความทรงจำที่ผมไม่เคยลืมเลย ตอนที่พระองค์ท่านเสด็จฯ มาพร้อมกับถ้วยนํ้าชา มาหาผม พร้อมกับตรัสว่า ไหน ๆ ขอดูหน้าหมอคนใหม่ของหน่วยแพทย์หน่อย“ คุณหมอสุนทรเล่าถึงความทรงจำประทับใจครั้งนั้น เมื่อครั้งได้มีโอกาสทำงานถวายในฐานะแพทย์อาสาของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของ สมเด็จย่า พร้อมกับเล่าให้ฟังอีกว่า สมัยนั้นการเดินทางโหดและหินที่สุด บางจุดต้องเดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์ หรือไม่ก็ทางเรือเท่านั้น เพราะถนนยังไม่มี ซึ่งการนั่งเฮลิคอปเตอร์ไปในสมัยนั้นก็ชวนให้หวาดเสียว เพราะสมัยนั้นยังมีเรื่องของผู้ก่อการร้ายในบางพื้นที่อยู่ ทำให้ถ้าเครื่องบินต่ำก็เสี่ยงที่จะถูกยิงสอยลงมา แต่ถ้าบินสูงมากไปก็เสี่ยงกับกระแสลมที่แรงจนอาจทำให้เครื่องตก 

ตรวจหูให้คนไข้ตัวน้อย

คุณหมอสุนทรบอกอีกว่า ในยุคคุณหมอนั้น โรคหูนํ้าหนวก ถือเป็นโรคร้ายแรงโรคหนึ่ง เพราะทำให้เด็กเสียชีวิตได้เป็นอันดับต้น ๆ อีกทั้งการรักษาก็เข้าถึงได้ไม่ง่าย เนื่องจากเวลานั้นในไทยมีหมอที่ผ่าตัดโรคหูนํ้าหนวกอยู่เพียง 10 กว่าคน อีกทั้งระบบสุขภาพก็ยังไม่ได้ดีและทั่วถึงเหมือนสมัยนี้ เพราะสมัยก่อนยังไม่มีโรงพยาบาลในระดับอำเภอ ทำให้มีคนป่วยในพื้นที่ห่างไกลอีกเยอะที่เข้าไม่ถึงการรักษา จนปี 2518 ทางโรงพยาบาลราชวิถี ได้มีการจัดตั้งหน่วยหู คอ จมูก ขึ้นมา คุณหมอและเพื่อน ๆ อีกราว 2-3 คน จึงรวบรวมทุนทรัพย์ส่วนตัวเพื่อออกเดินทางไปรักษาผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้ในพื้นที่ทุรกันดารที่ห่างไกล จนเมื่อเวลาผ่านไป 10 กว่าปี โรคนี้ในไทยค่อย ๆ น้อยลง อีกทั้งมีหมอรุ่นใหม่ ๆ ทางด้านนี้เยอะขึ้น ทำให้คุณหมอและเพื่อน ๆ จึงมองไปที่การขยายขอบเขตภารกิจนี้ออกไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะในแถบประเทศเพื่อนบ้านของไทย

เดินทางไปรักษาคนป่วยตามชนบทของไทยอยู่ 10 กว่าปี จนโรคนี้ค่อย ๆ น้อยลง ผมเลยเริ่มมองไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยเริ่มจากตอนนั้นได้มีโอกาสไปเป็นที่ปรึกษาให้กับทางองค์การอนามัยโลก ที่ประเทศเวียดนามและพม่า ทำให้ได้มีโอกาสเห็นพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศเหล่านี้ ซึ่งพบว่ามีปัญหาคล้าย ๆ กับไทยเช่นกัน จากการที่ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงการรักษา และจากปัญหาความขาดแคลนแพทย์ในด้านนี้ ก็เลยตัดสินใจที่จะออกไปทำภารกิจนี้เพื่อช่วยเหลือ

คุณหมอสุนทรเล่า ภารกิจต่างแดนครั้งแรก ว่า เริ่มต้นที่ จีน โดยความช่วยเหลือจากกระทรวงการต่างประเทศ โดยเป็นการเดินทางไปเนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปีของความสัมพันธ์ไทย-จีน โดยไปทำภารกิจที่เมืองคุนหมิง หลังจากนั้นก็ได้ตระเวนออกไปช่วยเหลือผู้ป่วยในประเทศต่าง ๆ มาตลอด ทั้งลาว กัมพูชา เวียดนาม พม่า อินเดีย เคนยา บังกลาเทศ  ภูฏาน ติมอร์ตะวันออก รวมแล้วกว่า 80 เมือง ใน 10 ประเทศ โดยรวม ๆ แล้วคุณหมอและทีมเพื่อนรักษาผู้ป่วยไปแล้วกว่า 70,000 ราย

ส่วนหนึ่งของทีมแพทย์อาสา

คนที่เขามาให้เรารักษานั้นทุกคนมีความพยายามอย่างมาก บางคนต้องเดินทางกันมาจากพื้นที่ไกล ๆ เพราะต้องการให้เราช่วยรักษาให้กับเขา อย่างตอนที่ไปพม่าครั้งแรก มีคนมารอคิวให้รักษาเยอะมาก เรียกว่าวันหนึ่ง ๆ ต้องตรวจคนไข้กันเป็นหลักพันคนเลย ซึ่งตอนนั้นทำให้เกิดความรู้สึกว่าประเทศเพื่อนบ้านของเรายังขาดผู้เชี่ยวชาญด้านนี้อยู่อีกเยอะ ทำให้ภารกิจใหม่จึงเกิดขึ้น คือนอกจากเข้าไปรักษาคนไข้แล้ว งานอีกด้านของพวกเราก็คือการให้ความรู้ด้านการแพทย์กับคุณหมอของประเทศเหล่านั้นคุณหมอสุนทรบอกเล่าถึงภารกิจที่เพิ่มเติมขึ้นมา

ส่วนการออกไปปฏิบัติภารกิจในต่างแดนนั้น คุณหมอสุนทรบอกว่า จะมีทีมงานประมาณ 18-20 คน แบ่งเป็นหมอผ่าตัด 5 คน หมอตรวจอาการ 5 คน ที่เหลือจะเป็นวิสัญญีแพทย์ นักตรวจการได้ยิน พยาบาลห้องผ่าตัด เจ้าหน้าที่ดูแลเครื่องมือ และนักบัญชี หมุนเวียนสับเปลี่ยนกันไป แต่ทุกครั้งนั้นคุณหมอและภรรยาจะต้องลงพื้นที่ด้วยตัวเองก่อน เพื่อไปติดต่อสถานที่ กับเลือกโรงพยาบาลที่จะใช้เป็นสถานที่ผ่าตัด ตลอดจนดูแลจัดหาโรงแรมที่พัก และหาล่ามแปลภาษามาช่วยสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่กับคนไข้ ขณะที่ภารกิจในไทย คุณหมอสุนทรกล่าวว่า ก็ยังคงทำอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งโครงการแพทย์อาสา โครงการของ สมเด็จย่า และของ ในหลวงรัชกาลที่ 9  ซึ่งในแต่ละปีนั้นจะออกไปทำงานอาสารวมกันแล้วตกปีละประมาณ 3-4 เดือน 

’เอาเข้าจริง ๆ ไม่ว่าจะต่างประเทศหรือในประเทศ การเดินทางทุกครั้งก็ต้องมีเรื่องให้เราทุกคนต้องลุ้นกันตลอด ซึ่งส่วนใหญ่หนีไม่พ้นความลำบากหรือความทุลักทุเลจากการเดินทางเข้าไปในพื้นที่ โดยบางเส้นทางนั้นทีมงานอาจต้องใช้ระยะเวลาขับรถกันนานกว่า 2 วัน จึงจะไปถึงจุดหมาย หรือบางทีระหว่างทางก็เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งมีทั้งรถเสีย รถคว่ำ รถติดหล่ม หรือไปเจอนํ้าป่า นํ้าท่วมกลางทางก็เคยมี แต่ทุกคนที่ไปก็มองเป็นเรื่องสนุกสนาน แสดงว่าทุกคนจิตใจดี เพราะตั้งใจที่จะไปช่วยเหลือคนที่เขาตกทุกข์ได้ยาก ส่วนอาหารการกินไม่ค่อยมีปัญหา เพราะจะเตรียมติดตัวกันไประดับหนึ่ง เช่น นํ้าพริก บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และทีมแพทย์ที่ไปส่วนใหญ่กินง่ายอยู่ง่าย ซึ่งอาหารการกิน การเดินทาง การนอน ไม่ค่อยมีปัญหา ที่จะมีปัญหาหนักอกหนักใจกันที่สุด คือเรื่องห้องนํ้า เพราะบางที่มีแค่ส้วมหลุมอันเดียว เราก็ต้องผลัดกันเข้า หรือบางที่เป็นแค่ที่โล่ง ๆ ไม่มีประตู  ซึ่งก็น่าเห็นใจคุณหมอผู้หญิง และนางพยาบาล ซึ่งบางคนกลั้นไว้ไม่ถ่ายจนถึงขั้นเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบ“ คุณหมอเล่า “ประสบการณ์ที่พบเจอ” ระหว่างปฏิบัติภารกิจ

อุปสรรคระหว่างออกหน่วยแพทย์อาสา

อย่างไรก็ดี ทางคุณหมอสุนทรย้ำว่า ความลำบากที่เกิดขึ้น ไม่มีใครมองเป็นปัญหา เพราะทุกคนเองต่างทราบดีถึงความกันดารของพื้นที่ที่จะต้องเข้าไปอยู่แล้ว แต่ทุกคนก็อาสาไป ก็ตั้งใจที่จะไป ดังนั้นอุปสรรคพวกนี้ ทีมทุกคนไม่เคยมองเป็นปัญหา เพียงแต่ที่ “หนักใจที่สุด” จนถึงขั้น “รู้สึกท้อแท้” ในบางครั้ง กลับเป็นเรื่องของ “การประสานงาน”

เอาจริง ๆ ความลำบากที่เจอไม่ใช่ปัญหา แต่สิ่งที่ทำให้ท้อบ้างจะเป็นเรื่องการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานมากกว่า โดยเฉพาะการเอายาและเครื่องมือแพทย์ข้ามประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนและยุ่งยากมาก ๆ  ทั้งการขนย้ายและการนำยาบางตัวเข้าไป เพราะบางชนิดก็เข้าข่ายยาเสพติด เช่น พวกมอร์ฟีน ก็เลยต้องมีหลักฐานเยอะแยะว่านำเข้าไปเพื่อการรักษา ไม่ใช่ยาเสพติด และก็มีบางครั้งนะ ที่ตอนกลับเข้าประเทศไทยเราเข้าไม่ได้ เพราะเขาคิดว่าพวกเรากำลังขนยาเสพติดเข้าประเทศ คุณหมอสุนทรเล่า

อนึ่ง แม้ภารกิจซึ่งต้องเดินทางไปประเทศเพื่อนบ้านต้องหยุดชะงักไปเพราะโควิด-19 แต่ตอนนี้ คุณหมอสุนทรบอกว่า กำลังจะเริ่มกลับมาทำภารกิจได้อีกครั้ง หลังสถานการณ์เริ่มดีขึ้นแล้ว โดยตอนนี้กำลังวางแผนไว้สำหรับปี 2566 อยู่ ซึ่งอาจจะเน้นไปแถวบริเวณพื้นที่ชายแดน และอาจข้ามไปบริเวณประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งน่าจะช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยและเพื่อนบ้านบริเวณนั้นดีขึ้น โดยคุณหมอฝากบอกว่า สิ่งที่อยากได้ที่สุดตอนนี้คือ อยากได้จิตอาสามาช่วยทำหน้าที่ประสานงาน

คนไข้ภูฏานเข้าคิวยาวรอตรวจ

’ตอนนี้ที่อยากได้คนมาช่วยทีมมากที่สุดคือ คนประสานงาน เพราะบางทีการออกทริปแต่ละครั้งต้องติดต่องานกับหลาย ๆ กระทรวงมาก กว่าที่จะเอาของเข้าประเทศได้ ยิ่งตอนนี้ ภารกิจของเราจะเน้นไปแถบชายแดน ก็ยิ่งต้องการคนประสานงานที่เชี่ยวชาญงานตรงนี้อย่างมาก เพราะที่ผ่านมาเข้าออกเกือบทุกด่าน บางด่านเป็นด่านเถื่อน ไม่ต้องใช้วีซ่า แต่ต้องมีทหารทางไทยยอมรับ แล้วทหารอีกฝั่งก็ต้องยอมรับด้วย“ คุณหมอย้ำเรื่องนี้ผ่าน “ทีมวิถีชีวิต”

นอกจากนี้ “นพ.สุนทร อันตรเสน” ยังได้บอกกับ “ทีมวิถีชีวิต” ว่า แม้การออกไปทำภารกิจแพทย์อาสาแต่ละหนจะเจอความลำบากและเรื่องที่ทำให้มีท้อแท้บ้าง แต่คุณหมอยืนยันว่าจะไม่ล้มเลิก เพราะรู้สึกว่าการที่ได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเป็นการทำบุญที่ยิ่งใหญ่ และทุกครั้งที่ไป สิ่งที่ได้กลับมาคือ ความสุขใจที่ได้ช่วยเหลือคนให้มีชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมกันนี้ยังเล่าว่า อย่างที่ประเทศภูฏาน มีเด็กที่มีปมด้อย หูตึง จนเด็กคนนั้นคิดอยากจะฆ่าตัวตาย ทางทีมก็เอาเครื่องตรวจไป เอาเครื่องช่วยฟังไปให้ ซึ่งพอเด็กคนนั้นได้ยินเสียงเป็นครั้งแรกในชีวิต เด็กคนนั้นก็ร้องไห้เพราะดีใจ ซึ่งการได้เห็นรอยยิ้ม เป็นเหมือน “พลังทำให้สู้ต่อ” หรืออีกเคสหนึ่ง ไปตรวจรักษาให้คนไทยที่ติดคุกในพม่า ซึ่งพอเรือนจำที่นั่นเห็นแพทย์ไทยไปช่วยดูแลนักโทษให้ อานิสงส์ก็เลยทำให้คนไทยได้รับการปล่อยตัวออกมาเร็วขึ้น

ทั้งนี้ อีก “เป้าหมายสำคัญ” ตอนนี้ ที่ “นพ.สุนทร อันตรเสน” บอกว่าต้องทำคู่ไปกับการช่วยคน ก็คือ “การสร้างคน”

ตอนนี้พยายามสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมา ด้วยการพาไปช่วยภารกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกส่วนก็คือพวกเราพยายามถ่ายทอดความรู้ให้ได้มากที่สุด อีกทั้งส่งเสริมให้คุณหมอต่างประเทศรุ่นใหม่ ๆ มีโอกาสเข้ามาศึกษาในไทยมากขึ้น ด้วยการมอบทุนให้คนละ 1 ปี ให้เข้ามาเรียนที่ไทย เพื่อให้เขากลับไปดูแลคนไข้ของเขาได้ ซึ่งคนที่เราให้ทุนไป ตอนนี้ก็เติบโตเป็นอาจารย์หมออันดับต้น ๆ ในประเทศของเขาเองกันหลายคนแล้ว ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้

พวกเราทั้งดีใจ…ทั้งภูมิใจมาก“.

‘Goodwill’ รางวัล ‘ความปรารถนาดี’

สำหรับ “รางวัลการทูตสาธารณะ (Public Diplomacy Award)” นั้น ทาง ธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้อธิบายว่า รางวัลนี้เป็นรางวัลที่กระทรวงการต่างประเทศและมูลนิธิไทยก่อตั้งขึ้นเพื่อ มอบให้แก่บุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กร ที่สร้างคุณูปการให้แก่ประเทศไทย ด้านการสร้างมิตรภาพ หรือเสริมสร้างความเข้าใจอันดีในระดับประชาชนในต่างประเทศ โดยวัตถุประสงค์หลักของรางวัลก็คือเพื่อประกาศเกียรติคุณ และสนับสนุนบทบาทของผู้ที่ได้รับรางวัลให้เป็นที่ประจักษ์ รวมทั้งเพื่อเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของผู้ได้รับรางวัล ให้ดำเนินต่อไปด้วยดี โดย ’คุณหมอสุนทร เป็นคนแรกของไทยที่ได้รับรางวัลนี้“ จากการที่เป็นผู้ก่อตั้งหน่วยแพทย์อาสา และเดินทางไปรักษาผู้ป่วยโรคหูน้ำหนวกในประเทศต่าง ๆ ต่อเนื่องยาวนานกว่า 30 ปี จนทำให้ชาวต่างชาติชื่นชมและสัมผัสได้ถึงมิตรภาพอันเอื้ออารีของคนไทย ซึ่งรางวัลนี้ บนถ้วยรางวัลจะมีการสลักคำว่า “Goodwill” ที่ความหมายคือ “ความปรารถนาดี” โดยถ้วยรางวัลดังกล่าวจะถูกนำไปตั้งโชว์ไว้ที่กระทรวงการต่างประเทศ พร้อมทั้งมีทุนสนับสนุนให้ผู้ที่ได้รับรางวัลไว้ใช้สำหรับสานต่อภารกิจต่อไป.

บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน