ท่ามกลางมรสุมวิกฤติโควิด-19 ระลอก 4 ที่กำลังระบาดไปทั่วประเทศไทย จากเจ้าเชื้อกลายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) แม้ทาง ศบค.จะยกระดับมาตรการคุมเข้ม ล็อกดาวน์ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด สีแดงเข้ม จาก 13 จังหวัด ขยายเป็น 29 จังหวัด ตั้งแต่เดือน ก.ค.จนมาถึงกลางเดือน ส.ค. ผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังทะยานพุ่งเกินวันละ 2 หมื่นราย ติดต่อกันนานนับสัปดาห์ ส่วนผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่าวันละ 200 ราย (ยอดติดเชื้อสะสม 839,771 ราย ผู้เสียชีวิต 6,942 ราย ข้อมูล ณ วันที่ 13 ส.ค.)
ทีมข่าว 1/4 Special Report หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ช่วงนี้นอกจากจะรายงานปัญหาการระบาดโควิด-19 ระบาด มานำเสนอแล้ว ยังเกาะติดโรคอุบัติใหม่ “ลัมปีสกิน” (Lumpy skin disease, LSD) ที่เกิดขึ้นกับสัตว์เลี้ยงโค-กระบือซึ่งติดเชื้อกระจายไป 62 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาค บางจังหวัดชาวบ้านก็เรียกว่า หูดวัว เพราะจะมีตุ่มใหญ่เกินขึ้นตามลำตัว หัว ขา บางตัวถ้าอาการหนักจะต่อมน้ำเหลืองโต ไข้สูง ถึงขั้นตุ่มแตกเป็นแผลเน่าน้ำเหลืองไหล ถ้ารักษาไม่ทัน ล้มตายจำนวนไม่น้อย ขณะที่ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรฯ ได้เร่งระดมฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ กำจัด พาหะสำคัญของโรคคือแมลงดูดเลือด เช่น เหลือบ ลิ้น ไร เห็บ ยุง แมลงวัน ฯลฯ พร้อมฉีดวัคซีนป้องกัน อย่างต่อเนื่อง
เฝ้าระวังเข้มฝูงกระทิงผืนป่ากุยบุรี
แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงและมองข้ามไม่ได้ หลังจากพบว่า เริ่มมีสัตว์ป่า คือ วัวแดง อย่างน้อย 9 ตัว เป็นตุ่มแผลชัดเจนมาก ลักษณะเดียวกับอาการของโรคลัมปีสกิน โดยกล้องดักถ่ายที่ติดไว้ตามจุดต่าง ๆ ในป่าสามารถบันทึกภาพฝูงวัวแดงบริเวณซับดงเย็น พื้นที่เตรียมการกำหนดเป็น เขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ ต.ระบำ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี ซึ่งก็อยู่ในอาณาบริเวณของพื้นที่ป่ามรดกโลกห้วยขาแข้ง ทำให้ทางกรมอุทยานแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้ประสานกับ กรมปศุสัตว์ ใช้มาตรการคุมเข้มทันทีเพื่อป้องกันส่งผลกระทบไปยัง กลุ่มสัตว์กีบ ที่อาศัยอยู่ในผืนป่ามรดกโลกห้วยขาแข้ง ซึ่งมีทั้ง วัวแดง และ ควายป่า หรือ “มหิงสา” ฝูงสุดท้าย อาศัยอยู่
นอกจากในพื้นที่ป่าห้วยขาแข้งแล้ว ก่อนหน้านี้ช่วงเดือนก.ค.ในพื้นที่ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เจ้าหน้าที่พิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ กร.1 (ป่ายาง) พบ ซากกระทิง 1 ตัว เพศผู้ อายุประมาณ 15-20 ปี น้ำหนัก 1,200-1,300 กก. ล้มตายจากการต่อสู้ บริเวณลำห้วยท้ายบ่อ 2 หุบตาวิทย์ ป่าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จากนั้น น.ส.สุพร พลพันธ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี นำทีมสัตวแพทย์ กรมอุทยานฯ ร่วมผ่าซากตรวจพิสูจน์ ผลออกมาพบว่าซากกระทิงมีเชื้อลัมปีสกิน ถือเป็นการตรวจพบในสัตว์ป่าครั้งแรกของไทยจึงต้องหาทางป้องกันไม่ให้กระทบต่อฝูงกระทิงป่า
ทีมข่าว 1/4 Special Report ได้สัมภาษณ์สถานการณ์ความคืบหน้าเรื่องนี้กับทาง นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี เปิดเผยว่า บริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี มีกระทิงอาศัยหากินอยู่ประมาณ 300 ตัว หลังพบซากกระทิงตาย เมื่อนำไปผ่าพิสูจน์แล้วตรวจพบเชื้อลัมปีสกินด้วยนั้น ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายศึกษาและวิจัย ร่วมกับหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ กร.5 (ห้วยลึก) และ เจ้าหน้าที่องค์กรกองทุนสัตว์ป่าสากล (WWF) ประจำประเทศไทย เข้าไปติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ 14 จุด ในพิกัดที่พบร่องรอยฝูงกระทิงออกหากิน เพื่อบันทึกภาพโดยไม่รบกวนการดำรงชีวิตของสัตว์ป่า และติดตามการระบาดของโรค
“มาตรการเพื่อป้องกันการนำโรคระบาดจากภายนอกเข้าเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี โดยรถยนต์ทุกคันและบุคคลทุกคนที่จะผ่านเข้าอุทยานฯ ต้องวิ่งผ่านระบบ บ่อน้ำยาฆ่าเชื้อ ทั้งหมด นอกจากนี้ยังได้เร่งสร้าง โป่งเทียม ในป่า เพิ่มเติมเพื่อให้เป็นแหล่งเสริมสร้างแร่ธาตุให้กระทิง หรือสัตว์ป่าอื่น ๆ เพราะหากสัตว์ป่ามีบาดแผลจะมาคลุกที่โป่งสารอาหารและแร่ธาตุในโป่งเทียมจะช่วยฆ่าเชื้อรักษาแผลให้สัตว์ป่าได้ ที่สำคัญทางทีมสัตวแพทย์อุทยานฯ ยังได้ติดตั้งมุ้งดักแมลงหลายจุดในพื้นที่ เพื่อดักจับแมลงดูดเลือดนำไปตรวจสอบหาเชื้อลัมปีสกิน”
กำหนดแนวป้องกัน–เล็งใช้เป็นโมเดล
ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 กล่าวต่อด้วยว่า แนวทางและมาตรการในการเฝ้าระวังโรคในสัตว์ป่า ยังได้ให้เจ้าหน้าที่อุทยานฯ พยายามสังเกตอาการป่วยหรือตายผิดปกติของ กลุ่มสัตว์กีบ ไม่ว่าจะเป็นกระทิง หรือวัวป่าในพื้นที่รับผิดชอบ รวมถึงติดตามสถานการณ์ของโรค สุขภาพสัตว์ และการฉีดวัคซีนของปศุสัตว์ ในสัตว์เลี้ยงในพื้นที่โดยรอบเขตอุทยานฯเพื่อประเมินสถานการณ์ โดยเฉพาะหน่วยงานที่มี สัตว์กลุ่มเสี่ยง ต่อการติดเชื้อให้ทำการควบคุม ป้องกันแมลงพาหะอย่างเข้มงวด หากพบสัตว์ป่าป่วย หรือในกรณีล้มตาย ต้องรีบแจ้งสัตวแพทย์ที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบหรือหน่วยงานใกล้เคียงเข้าดำเนินการตรวจสอบทันที พร้อมเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันสาเหตุของการป่วยหรือตาย รวมทั้ง กำหนดแนวเขตกันชน ห้ามนำสัตว์เลี้ยงเข้าสู่พื้นที่ป่าอนุรักษ์ และควบคุมไม่ให้มีการใช้พื้นที่ชายขอบป่าอนุรักษ์ในการเลี้ยงสัตว์ปศุสัตว์ เพื่อเป็นการป้องกันและลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อลัมปีสกินไปสู่สัตว์ป่า
นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า เปิดเผยว่า การเกิดโรคลัมปีสกินในกระทิงที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี เป็นการพบที่ยังไม่ถือว่าเป็นการระบาด เนื่องจากการตรวจชันสูตรซากกระทิงที่พบ มีบาดแผลตามผิวหนัง ซึ่งเกิดจากการต่อสู้จนบาดเจ็บล้มตาย โดยเชื้อลัมปีสกินอาจเป็นปัจจัยร่วมทำให้ร่างกายอ่อนแอ แต่เพื่อเป็นการป้องกันปัญหา กรมอุทยานฯได้บูรณาการร่วมกับกรมปศุสัตว์ เข้าดำเนินการสกัดโรคลัมปีสกิน และเตรียมยกอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ให้เป็น ต้นแบบ นำร่องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบเพื่อให้เป็นตัวอย่างของอุทยานทั่วประเทศ ทั้งนี้คณะทำงานได้รายงานสถานการณ์โรคอุบัติใหม่ครั้งแรกในไทย จากสัตว์เลี้ยงระบาดมาถึงสัตว์ป่าพร้อมแนวทางการแก้ไข ไปยังองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE)หน่วยงานระหว่างประเทศได้ทราบสถานการณ์แล้ว
ด้าน นายสัตวแพทย์ยุษฐิระ บัณฑุกุล ปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า เพื่อเป็นการป้องกันและลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อลัมปีสกิน จากสัตว์เลี้ยงไปสู่สัตว์ป่า ได้มีคำสั่งแจ้งกำชับใน “4 หมู่บ้าน” ที่มีแนวเขตติดกับอุทยานแห่งชาติกุยบุรี คือ พื้นที่ หมู่ 6-7-8-9 ต.หาดขาม อ.กุยบุรี ห้ามเคลื่อนย้ายโคและกระบือจากต่างพื้นที่เข้ามาในหมู่บ้าน และยังเร่งจัดเจ้าหน้าที่ออกฉีดพ่นยาฆ่าแมลงพาหะนำโรคในคอกและโรงเรือนของเกษตรกร รวมทั้งดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคลัมปีสกิน ได้รับสนับสนุนลอตแรกมาจากกรมปศุสัตว์ 4,000 โด๊ส ทยอยฉีดสัตว์เลี้ยงในพื้นที่ควบคุมไปแล้วมากกว่า 2,000 ตัว นอกจากนั้น ยังมีเป้าหมายฉีดวัคซีนให้กับโคและกระบือประมาณ 1 หมื่นตัวของเกษตรกรในพื้นที่แนวกันชนติดกับเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี 5 อำเภอ ได้แก่ อ.กุยบุรี 4 หมู่บ้าน, อ.หัวหิน 3 หมู่บ้าน, อ.ปราณบุรี 4 หมู่บ้าน, อ.สามร้อยยอด 3 หมู่บ้าน และ อ.เมืองประจวบฯ 1 หมู่บ้าน
นายสัตวแพทย์ยุษฐิระ กล่าวทิ้งท้ายว่า ใช้ทีมสัตวแพทย์จากปศุสัตว์อำเภอ ปศุสัตว์จังหวัดประจวบฯ ร่วมกันออกทำงาน คาดว่าใช้เวลาฉีดวัคซีนประมาณ 2 สัปดาห์ โดยหลังการฉีดวัคซีนแล้ว ภูมิคุ้มกันจะขึ้นประมาณวันที่ 10 และสูงสุดวันที่ 21 นับเป็นพื้นที่แรกของประเทศที่มีการฉีดวัคซีนลัมปีสกิน เพื่อเป็นแนวกันชนป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่สัตว์ป่า.