เห็นตามนี้ก็อดนึกถึงคำพูดหนึ่งที่ว่า “ปลายทาง” สำคัญ “ระหว่างทาง” สำคัญกว่า ไม่ได้ เพราะทางฝั่งบ้านเราเพิ่งลงข่าวอึกทึกครึกโครมกันว่า สปป.ลาว เฉลิมฉลองวันชาติ ปี 2564 ด้วยการประกาศใช้รถไฟ ชื่อ “ล้านช้าง” อย่างเป็นทางการ

หลังหมดภารกิจที่เวียงจันทน์ คณะเดินทางของเรามาพร้อมกันที่สถานีรถไฟ แดดของฤดูฝนของที่นี่ร้อนแรงไม่แพ้บ้านเรา เลยยิ่งทำให้อยากเข้าไปภายในตัวอาคารโดยสารใหม่เอี่ยมเร็ว ๆ แต่สายตาเหลือบเห็นคนมุงกันเต็มตรงช่องจำหน่ายตั๋วก็อดจะเข้าไปร่วมไทยมุงกับคนอื่น ๆ ไม่ได้ เลยทำให้เห็นว่าภายในอัดแน่นด้วยผู้คน สังเกตจากบุคลิกลักษณะแล้วไม่เหมือนกับนักเดินทางท่องเที่ยวสักเท่าใด ซึ่งน่าจะเป็นจริงตามคำบอกเล่าที่ว่า ส่วนใหญ่คนเหล่านี้เป็น “เอเจนซี่” รับซื้อตั๋ว เพราะทางการยังกำหนดให้จองตั๋วล่วงหน้า ก่อนเดินทางเพียง 3 วัน ดังนั้นหากกำเงินสด ๆ มาซื้อวันเดินทางเลยก็มีสิทธิตกขบวนร้อยเปอร์เซ็นต์ !!!

คณะเดินทางของเราได้ตั๋วรถไฟขบวนพิเศษ EMU เที่ยว 13.30 น. หลังจากโชว์หลักฐานสำคัญ ได้แก่ ตั๋วรถไฟ หนังสือเดินทาง วัคซีนพาสปอร์ต ผ่านการสแกนกระเป๋าชนิดเข้มข้นไม่แพ้กับสนามบิน พวกของเหลว นํ้าดื่ม และสเปรย์แอลกอฮอล์ ไม่ได้รับอนุญาตให้พกพา หลายคนต้องทิ้งขวด “สเปรย์แอลกอฮอล์” ด้วยความเสียดาย เพราะยังติดใช้เพื่อความอุ่นใจช่วงโควิด-19 ที่ยังไม่ได้โบกมือลาชาวโลกอย่างถาวร

จากประสบการณ์ขึ้นรถไฟมาแล้ว 4 ครั้ง นับตั้งแต่ เบียร์-วศิน เกียรติปริทัศน์ เลขานุการโท สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ เวียงจันทน์ มาประจำอยู่ต่างแดน ถือโอกาสบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับรถไฟเส้นทางนี้ให้ผู้เดินทางทราบ เพื่อจะได้เตรียมตัวมาขึ้นอย่างสนุกสนานว่า ตั้งแต่ก่อน สปป.ลาวเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ พวกเราที่สถานทูตฯ ก็ได้รับคำถามเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในลาวโดยการขึ้นรถไฟ จุดหมายปลายทางยอดนิยมก็คือหลวงพระบาง เมืองมรดกโลกที่ใคร ๆ ก็อยากมาเยี่ยมชม รถไฟลาว-จีน เป็นรถไฟฟ้าความเร็วปานกลาง ไม่ใช่ความเร็วสูงอย่างที่หลายคนเข้าใจ ใช้ขนส่งทั้งผู้โดยสารและสินค้า

“รถไฟสำหรับขนส่งผู้โดยสารมี 2 แบบ ได้แก่ ขบวนธรรมดา ความเร็วสูงสุด120 กม./ชม. และขบวนพิเศษ EMU (Electric Multiple Unit) ความเร็วสูงสุด 160 กม./ชม. แต่ทั่ว ๆ ไปความเร็วจะอยู่ที่ 150 กม./ชม. ทั้งนี้ ความเร็วอาจปรับลดลงในกรณีสภาพอากาศแปรปรวนหรือตามลักษณะภูมิประเทศ ถ้ารถไฟความเร็วสูงจะมีความเร็วประมาณ 250 กม./ชม.” เลขานุการโท สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ เวียงจันทน์ กล่าว

ปัจจุบันเปิดให้บริการเฉพาะใน สปป. ลาว มี 10 สถานี ได้แก่ เวียงจันทน์-โพนโฮง-วังเวียง-กาสี-หลวงพระบาง-เมืองงา-เมืองไซ-นาหม้อ-นาเตย-บ่อเต็น แต่ขบวน EMU จะจอดเฉพาะสถานีเวียงจันทน์-วังเวียง-หลวงพระบาง-เมืองไซ-นาเตย-บ่อเต็น ผู้เดินทางที่รอจะนั่งรถไฟยาวไปจนถึงคุนหมิง คงต้องรออีกสักระยะหนึ่งก่อน แต่ตอนนี้นอกจากหลวงพระบาง ในเส้นทางก็สามารถเลือกจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่สวยงามและน่าสนใจไม่แพ้กันได้หลายแห่ง

ตอนนี้รถไฟแบบขนส่งผู้โดยสารแบ่งเป็น 3 ชั้น ได้แก่ ชั้นธุรกิจ, ชั้น 1 และชั้น 2 ผู้โดยสารชั้นธุรกิจจะมีห้องพักรับรองสำหรับผ่อนคลายตามอัธยาศัยก่อนเดินทาง และมีที่ว่างระหว่างที่นั่งกว้างกว่าที่นั่งโดยสารชั้นอื่น ๆ ชั้น 1 จะมีที่นั่งโดยสารประมาณ 40 ที่นั่ง แถวละ 4 ที่นั่ง ส่วนชั้น 2 มีประมาณ 60 ที่นั่ง แถวละ 5 ที่นั่ง ผู้เดินทางสามารถเลือกชั้นที่นั่งตามความเหมาะสมของงบประมาณการเดินทาง

ขณะนี้ทางการลาวยังไม่ได้เปิดจำหน่ายบัตรโดยสารแบบออนไลน์สามารถซื้อบัตรโดยสารได้ที่สถานีรถไฟต้นทางตั้งแต่เวลา 07.00 น. ของทุกวัน หรือที่เคาน์เตอร์จำหน่ายบัตรโดยสารที่เวียงจันทน์ เซ็นเตอร์ โดยซื้อล่วงหน้าได้ไม่เกิน 3 วันก่อนวันเดินทาง 1 ท่านสามารถซื้อบัตรโดยสารได้เพียง 3 ใบ และต้องชำระค่าบัตรโดยสารด้วยเงินสด โดยต้องแสดงหนังสือเดินทางและหลักฐานการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในการซื้อบัตรโดยสารด้วย ซึ่งในแต่ละวันจะมีผู้รอซื้อบัตรโดยสารจำนวนมากตั้งแต่ก่อนเปิดจำหน่าย หรือสามารถซื้อผ่านบริษัทนำเที่ยวหรือเอเจนซี่

“ผู้เดินทางควรศึกษาเส้นทางและวางแผนการซื้อบัตรโดยสารไว้ล่วงหน้า เพื่อไม่ให้เสียเวลาและพลาดประสบการณ์การเดินทางดี ๆ ใน สปป.ลาวในวันเดินทางควรไปถึงสถานีก่อนเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง และที่สำคัญอย่าลืมนำหนังสือเดินทางและหลักฐานการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปด้วย เพื่อแสดงพร้อมบัตรโดยสารต่อเจ้าหน้าที่ก่อนขึ้นรถไฟ”

เอนกายนั่งชมวิวริมหน้าต่างกึ่งหลับสลับตื่น ผ่านไปราว 2 ชั่วโมงครึ่ง ก็เดินทางมาถึงสถานีรถไฟหลวงพระบาง ผู้โดยสารทยอยลงจากขบวน ทำให้ทั่วบริเวณคลาคลํ่าไปด้วยผู้คน ซึ่งกำลังลากกระเป๋าเดินทางมารอรถยังจุดนัดพบ หลายคนบ่นว่าข้อด้อยของการเดินทางด้วยรถไฟคือ อยู่ไกลจากตัวเมืองหลวงพระบางมากกว่าสนามบิน ทำให้หารถต่อเข้าเมืองยากสักหน่อย โชคดีคณะของเรามีรถตู้มารับทำให้บึ่งออกจากสถานีรถไฟทันชมพระอาทิตย์ก่อนตกดิน ที่สตูดิโอผ้าทอแบบหลวงพระบางร่วมสมัย ที่ชื่อว่า “ออกพบตก” ซึ่งปรับพื้นที่ริมฝั่งแม่นํ้าโขง เป็นคาเฟ่เก๋ ๆ อยู่ตรงข้ามกับตลาดโพสี ศูนย์ทอผ้าหรือ “The Living Crafts Centre” แห่งนี้ เป็นแหล่งการเรียนรู้ซึ่งมีทั้งอาหาร คาเฟ่ มิวเซียมเล็ก ๆ ช็อป และที่พัก รีสอร์ทแม่โขงวิลล่า อยู่ในนั้นด้วย

ท่ามกลางบรรยากาศโรแมนติก จิบเครื่องดื่มนั่งชมท้องฟ้าที่อาบด้วยแสงทไวไลท์ พลันได้ยินเสียงคนส่งสัญญาณดังแว่วมาแต่ไกลจากลำนํ้า เมื่อชะโงกหน้าไปดู พนักงานของร้านถึงเล่าให้ฟังว่า ช่วงนี้เป็นเทศกาลแข่งเรือ นักกีฬาจึงกำลังซักซ้อมฝีพายเพื่อลงชิงชัย ทำให้ผืนนํ้าสีทองยามเย็นนั้นกลับมาคึกคักและมีชีวิตชีวามากขึ้นทีเดียว

ก่อนกลับเข้าโรงแรม พวกเราแวะกินพิซซ่าเติมพลังกัน ด้วยคำแนะนำปากต่อปากว่าที่หลวงพระบางมีร้านพิซซ่าโฮมเมดสไตล์อิตาเลียนแท้ ๆ มาเปิดใหม่ ชื่อว่า “เดอะซีเครท พิซซ่า” ขายแค่สัปดาห์ละ 2 วัน เฉพาะวันอังคารกับวันศุกร์เท่านั้น ไหน ๆ ก็มาลงล็อกตรงวันก็ขอมาลองแผ่นแป้งบางกรอบ เสิร์ฟในขนาดกำลังดีเป็นมิตรต่อกระเพาะคนเอเชีย สามารถสั่งมากินได้หลายชนิด ไม่หนักท้องจนเกินไป ยกทัพมาพร้อมลาซานญ่า สปาเกตตี และสลัดตัดเลี่ยนที่วางไว้ให้บริการตัวเอง อรุณรุ่งของวันใหม่ วิถีชีวิตคนหลวงพระบางยังนิยมตักบาตรข้าวเหนียวให้เห็นดั่งที่เคยชินตา

เมื่อใครถามว่าตอนนี้ “หลวงพระบาง” เป็นยังไงบ้าง?? ก็ต้องขอตอบว่าผู้คนยังอัธยาศัยน่ารักเหมือนเดิม เจอกันก็ยิ้มแย้มทักทาย “สบายดี” …ราวกับเป็นการบอกเป็นนัย ๆ ว่า หลวงพระบางยังสบายดีเหมือนเดิม.

ช้องมาศ พุ่มสวัสดิ์