ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในเวทีเอเปคนี้ “อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ” ของ “ระบบเศรษฐกิจ” ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่เวทีนี้จะ “ถูกโฟกัสเป็นพิเศษ” …อย่างไรก็ตาม เวทีนี้สำหรับประเทศไทยก็อาจจะมี “ปุจฉา” ว่า…

เอเปค 2022” เวทีประชุมระดับโลก…

เวที แสวงหาความร่วมมือเศรษฐกิจ”

ไทยเจ้าภาพจะได้อะไร?-ดีอย่างไร?”

เกี่ยวกับ “ความสำคัญเวทีเอเปค-ความสำคัญต่อไทย” นั้น…วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลแง่มุมที่ทางนักวิชาการคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ได้สะท้อนความสำคัญของเวทีเอเปคไว้ผ่านบทความที่เผยแพร่อยู่ใน เว็บไซต์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้ชี้ถึงความสำคัญในการที่ “ไทยเป็นเจ้าภาพเอเปค 2022” ไว้ด้วย ซึ่งหลักใหญ่ใจความนั้นมีว่า…เวทีนี้คือเวทีสำคัญของโลกที่อาจจะส่งผลทำให้ “เศรษฐกิจโลก” เปลี่ยนไปเวทีประชุม “เอเปค 2022” นี้มีความสำคัญอย่างน้อย 2 เหตุผล โดยเหตุผลสำคัญประการหนึ่งตามที่ทาง ศ.ดร.ปิติ ได้ชี้ไว้ ก็คือ… เวทีเอเปค 2022 เป็นการประชุมแบบพบปะครั้งแรกในรอบหลายปี ที่ยิ่งทำให้เวทีนี้มีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมานั้น การประชุมเอเปคมักจะเกิดอุปสรรคขึ้นเสมอ ตั้งแต่การที่สหรัฐอเมริกาได้ประกาศสงครามการค้ากับ 15 ประเทศที่ขาดดุลการค้าด้วย โดยเฉพาะประเทศจีน ต่อเนื่องด้วยปี ค.ศ. 2019 ที่ได้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองขึ้นในประเทศเจ้าภาพอย่างชิลี ทำให้ปี 2019 ไม่มีการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค และหลังจากนั้นปี 2020 ถึงปี 2021 โลกเกิดโควิด-19 ก็ทำให้เวทีการประชุมนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในแบบพบหน้าในที่ประชุม…

“เอเปค 2022” นี่ ประชุมแบบพบปะ”

เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ผ่านมา”

ทาง ศ.ดร.ปิติ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เน้นย้ำถึง “ความสำคัญของเวทีเอเปค 2022” ผ่านบทความที่เผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไว้อีกว่า…เวทีเอเปค 2022 โดยเฉพาะการประชุมสุดยอดผู้นำที่จะเกิดขึ้นในไทยในเดือน พ.ย.นั้น เป็นการประชุมแบบมีการพบเจอกันเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ท่ามกลาง ระเบียบโลกที่เปลี่ยนแปลง” และ วิกฤติโลกที่มากมาย” ในด้านต่าง ๆ อาทิ วิกฤติอาหาร,  วิกฤติพลังงาน, สงครามการค้า, สงครามเทคโนโลยี เวทีเอเปคครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่โลกกำลังต้องการความร่วมมือทางเศรษฐกิจมากกว่าทุก ๆ ครั้ง

สำหรับเหตุผลสำคัญอีกประการตามที่นักวิชาการจุฬาฯ ท่านดังกล่าวได้ระบุไว้ในบทความ ก็คือ… เวทีการประชุมเอเปคคือเวทีความร่วมมือของ 21 เขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีประชากรรวมกันมากกว่า 3 พันล้านคน หรือคิดเป็น 38% ของประชากรโลก ทำให้กลุ่มประเทศสมาชิกเอเปคเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีขนาดเศรษฐกิจรวมกัน 2 ใน 3 ของมูลค่าผลผลิตมวลรวมของทั้งโลก นอกจากนั้น เวทีนี้ยัง ส่งเสริมให้เกิดมูลค่าการลงทุนมหาศาล ระหว่างประเทศเอเปค

“จากปี ค.ศ. 1990 ถึง ค.ศ. 2020 มูลค่าการลงทุนภายในกลุ่ม APEC มีอัตราเพิ่มขึ้นจาก 45.2% เป็น 67.9% สะท้อนว่าสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจนี้คือผู้ลงทุนรายสำคัญของโลก  ซึ่งการลงทุนที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องนี้เป็นผลมาจากความร่วมมือจากเวทีประชุม APEC ที่มีเป้าหมายในการประชุมเพื่อเน้นสร้างความร่วมมือในการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า”…นี่เป็น “ความสำคัญ” ของเวทีประชุมระดับโลกเวทีนี้ ที่ทาง ศ.ดร.ปิติ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้สะท้อนไว้

บ่งชี้ให้เห็น “ความสำคัญ-ความยิ่งใหญ่”

ของ “เวทีประชุมอินเตอร์” อย่างเอเปค

ส่วนประเด็น “ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ??” หรือ “ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดเวทีเอเปค 2022 แล้วดีต่อไทยอย่างไร??” นั้น นักวิชาการคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ท่านเดิมได้สะท้อนไว้ว่า…ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นประธานและเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค ตลอดจนรับผิดชอบเวทีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องตลอดทั้งปี พ.ศ. 2565 ซึ่งนอกจาก ผลการประชุมเวทีเอเปคจะเป็นประโยชน์ระยะยาวจากการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ในกรอบที่ใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว…

ผลทางตรงที่จะได้ทันทีสำหรับไทยคือ…ตลอดปี 2565 ไทยมีโอกาสได้เปิดประตูบ้านต้อนรับคณะผู้แทน 21 เขตเศรษฐกิจเอเปคในทุกระดับที่มาประชุมกัน ซึ่งรวมแล้วมีไม่ต่ำกว่า 14 คลัสเตอร์ มีตั้งแต่เจ้าหน้าที่ รัฐมนตรี ผู้นำประเทศต่าง ๆ รวมถึงสื่อมวลชนจากประเทศต่าง ๆ ที่จะเดินทางเข้ามาประเทศไทย ซึ่งจะช่วยก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากมาย จะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยเกิดการขยายตัวได้เพิ่มขึ้น ขณะที่อีกมุมที่ไทยจะได้ประโยชน์-ได้ผลทางอ้อมจากเวทีนี้คือ เป็นการช่วยประชาสัมพันธ์ประเทศไทยให้โลกรู้จักมากขึ้น …นี่เป็น “วิสัชนา” ข้อปุจฉา…

สรุปคือ เอเปคสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก”

“ไทยเจ้าภาพ” ก็จะ ดีต่อเศรษฐกิจไทย”

ทั้งจากการประชุมทางตรงทางอ้อม”.