บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจทางด้านพลังงานขนาดใหญ่ของประเทศ และยังเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงสุดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปัจจุบัน ปตท.ไม่ได้มีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังแตกแขนงออกไปทำธุรกิจอื่นนอกเหนือจากพลังงานด้วย

วันนี้ทีมข่าว Special Report มีโอกาสสนทนากับ “ซีอีโอ ปตท.” นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ในเรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำมัน การลงทุนในธุรกิจเสริม และแหล่งพลังงานในอนาคต

เมื่อมีโอกาสคุยกับ “ซีอีโอ ปตท.” คำถามแรกที่ไม่น่าพลาดคือ ทิศทางราคาน้ำมันจะไปทางไหน?

“ตอบยากครับ เนื่องมาจาก 2 ปัจจัยแกว่งแรงพอๆกัน คือ 1.ช่วงต้นเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา กลุ่มโอเปกพลัสประกาศลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบวันละ 2 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นเรื่องปกติของกลุ่มผู้ผลิตเมื่อเห็นว่าทิศทางราคาน้ำมันดิบอยู่ในช่วงขาลง จึงลดกำลังการผลิต ขณะเดียวกันเริ่มเข้าสู้หน้าหนาว ปริมาณการใช้น้ำมันจะเยอะ ราคาจึงแพง และ 2.เศรษฐกิจทั่วโลกหลังจากโควิด-19 คลี่คลาย ยังไม่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วตามที่คาดการณ์ไว้ จากปัญหาเงินเฟ้อ และดอกเบี้ย ดังนั้นปริมาณการใช้น้ำมันจึงไม่มาก ราคาน้ำมันคงไม่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกถดถอย”


นี่คือ 2 ปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันต่อจากนี้ ส่วนปัญหาระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ถ้าสงครามไม่ขยายตัวไปมากกว่านี้ คงไม่มีผลอะไรแล้ว โดยเฉพาะ ปตท. ตอนที่รัสเซีย-ยูเครนมีปัญหากัน เราได้เตรียมน้ำมันสำรองไว้ 4 ล้านบาร์เรล เก็บไว้เฉยๆ 6 เดือน เผื่อเกิดวิกฤติขึ้นมา แต่เมื่อไม่มีสถานการณ์น่าเป็นห่วง เราจะค่อยๆระบายออกไป โดยน้ำมันในส่วนนี้ไม่ได้มีผลต่อต้นทุน

ตอนเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน มีข่าวว่ามีน้ำมันดิบจากรัสเซียในราคาถูกกว่าน้ำมันดิบจากแหล่งอื่นถึง 30 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งอาจมีจริงก็ได้นะ แต่เวลาซื้อน้ำมันต้องโอนเงินผ่านธนาคาร เราไปเช็กกับธนาคารเขาบอกว่าไม่การันตี ไม่รับประกันความเสี่ยงนะ! ในกรณีโอนเงินไปปลายทางแล้วถูกบล็อก คุณต้องมาเซ็นรับประกันความเสี่ยงเอง เนื่องจากรัสเซียถูกคว่ำบาตร

ส่วนต่างของราคา 30 ดอลลาร์/บาร์เรล อาจจะมี! แต่หลังจากถูกคว่ำบาตรผ่านไป 1-2 สัปดาห์ เมื่อรัสเซียเริ่มตั้งหลักได้เขาก็ไปคุยกับจีน-อินเดีย ต่อมาส่วนต่างลดลงเหลือ 8 ดอลลาร์ หลังสุดเหลือแค่ 4 ดอลลาร์ ดังนั้นจึงไม่คุ้มกับความเสี่ยง ในขณะที่ ปตท.มีออฟฟิศกระจายอยู่ทั่วโลก เราจึงรู้ว่าสถานการณ์น้ำมันดิบไม่ได้มีปัญหาอะไร และมีแหล่งใดบ้าง

อีกปัจจัยสำคัญคือโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทย โดยเฉพาะโรงกลั่นฯ ในเครือ ปตท.ไม่ได้ดีไซน์ไว้เพื่อรองรับน้ำมันดิบจากแหล่งใดแบบ 100% เพราะน้ำมันดิบจากแหล่งต่างๆ มีราคาไม่เท่ากัน มีคุณสมบัติและส่วนผสมต่างกัน น้ำมันดิบจากรัสเซียอาจมีของเสียจากกระบวนการกลั่นมากกว่าน้ำมันดิบจากตะวันออกกลาง แต่น้ำมันดิบจากตะวันออกกลาง จะมีสารตัวอื่นผสมมากกว่าก็ว่ากันไป

แต่ภาพรวมคือโรงกลั่นฯ ในเครือ ปตท. ถูกดีไซน์ไว้สำหรับน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางเป็นหลัก ส่วนน้ำมันดิบจากรัสเซียอาจรับได้แค่ 3% เท่านั้น

คือในภาวะปกติ มีคนติดต่อเข้ามาที่ ปตท.บ่อยๆ อ้างว่ามีน้ำมันดิบจากแหล่งโน้น แหล่งนี้ ราคาถูกกว่า 20 ดอลลาร์/บาร์เรล อ้างว่ามีน้ำมันดิบจาก “ปริ๊นซ์ ยูเออี” โควตาพิเศษบ้าง! แต่เอาเข้าจริงๆไม่มีหรอก พวกนี้เป็น 18 มงกุฎ ถ้าเราหลวมตัวไปคุยด้วย คนพวกนี้ไม่ได้ต้องการอะไรมากมาก ได้นิดๆหน่อยๆก็เอา เดี๋ยวขอค่าบริหารจัดการ ขอให้โอนไปให้หมื่นดอลลาร์ก่อน แล้วหายตัวไปเลย

ทำ “ธุรกิจเสริม” นอกเหนือจากพลังงาน-แย่งอาชีพรายย่อย?

นายอรรถพล บอกว่า ตรงนี้อยากให้มองไปที่นโยบายของรัฐบาล เนื่องจากรัฐบาลพูดบ่อยๆ เรื่อง New S-Curve หรือกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคตที่เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น เอไอ อีวี (รถยนต์ไฟฟ้า) โลจิสติกส์ เทคโนโลยีไบโอ และเมดิคอลฮับ ซึ่งรัฐบาลลงทุนทำเองไม่ได้อยู่แล้ว แต่ภาคเอกชนต้องทำ เอกชนรายอื่นก็สามารถทำได้ ไม่จำเป็นต้อง ปตท.

แต่ ปตท.มีความพร้อม เราจึงนำ New S-Curve มาวางเป็นกรอบว่าจะทำอะไรได้บ้าง แล้วปรับวิสัยทัศน์ให้เข้ากับสิ่งที่จะทำ ด้วยการมองไปที่ “ธุรกิจเสริม” สามารถทำอะไรได้บ้างนอกเหนือจากธุรกิจพลังงาน เนื่องจากในอนาคตพลังงานไม่ได้มีแค่น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน แล้วนะ! แต่ ปตท.ก็พร้อมที่จะรับมือกับพลังงานในอนาคตด้วย

ส่วนธุรกิจเสริม เรามองไปที่เมดิคอลฮับ เรากำลังทำโรงงานผลิตยาสามัญ โดยการจับมือกับองค์เภสัชกรรมเพื่อสร้างโรงงานผลิตยา โดย ปตท.เข้าไปช่วยบริหารจัดการ ช่วยสร้างโรงงาน ช่วยบริหารเรื่องเวลา พูดให้เข้าใจง่ายๆ เอาหัวเชื้อมาผลิตเป็นยาเม็ด เน้นเฉพาะในส่วนที่ต้อง “นำเข้า” เพื่อลดการนำเข้ายา เพื่อให้คนไทยเข้าถึงยาได้ในราคาที่เหมาะสม

ต่อไปคือเรื่องเครื่องมือแพทย์ อุปกรณ์การแพทย์ ประเทศไทยต้องการเป็นเมดิคอลฮับ เรามีแพทย์เก่งๆมากมาย แต่เมื่อไปดูเบื้องหลังแล้วยังโหวงเหวง เพราะเครื่องมือแพทย์ อุปกรณ์การแพทย์ ยังต้องนำเข้าเป็นส่วนใหญ่ ตรงนี้สามารถทำได้ เนื่องจาก ปตท.มีธุรกิจปิโตรเคมี (พลาสติก) อยู่แล้ว จึงเป็นธุรกิจที่ต่อเนื่องกันได้

นี่เพิ่งเปิดโรงงานผลิตแผ่นกรองเชื้อในหน้ากากอนามัย หลังจากเจอโควิด-19 จึงรู้ว่าโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยในประเทศไทยผลิตแผ่นกรองที่อยู่ชั้นในไม่ได้ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ปตท.จึงใช้เวลาศึกษาวิจัย 1 ปี จึงเปิดโรงงานผลิตแผ่นกรองเชื้อในหน้ากากอนามัยได้แล้ว เป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากปิโตรเคมี ต่อไปนี้ไม่ต้องนำเข้าแผ่นกรองเชื้อจากต่างประเทศ

ส่วนเรื่อง “อีวี” เราสนับสนุนนโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมให้คนไทยหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า ด้วยการขยายจุดบริการเติมไฟฟ้า ทั้งในปั๊มน้ำมันและนอกปั๊มน้ำมันให้มากขึ้น คาดว่าภายในปีนี้จะมีประมาณ 500 จุด ตั้งอยู่ในตำแหน่งและระยะห่างที่เหมาะสม เพื่อให้การเดินทางเชื่อมกันได้ทุกจังหวัดทั่วประเทศ แต่ไม่ถึงขั้นไปตั้งอยู่บนดอย (หัวเราะ)


มาถึงธุรกิจร้านกาแฟ (อเมซอน) ยืนยันว่าไม่ได้ไปแย่งธุรกิจ หรือแย่งตลาดใคร แต่เป็นการขยายตลาด ทำให้มูลค่าสูงขึ้น กลายเป็นเค้กก้อนโตขึ้น เพราะสุดท้ายแล้วขึ้นอยู่กับ Position ของแต่ละแบรนด์และร้านค้าต่างๆ ในการดึงลูกค้า

ก่อนที่ ปตท.จะเข้ามาทำร้านกาแฟ คนไทยบริโภคกาแฟแค่ 1.1 กิโลกรัม/คน/ปี ขณะที่คนลาว 1.7-1.8 กิโลกรัม คนกัมพูชากว่า 2 กิโลกรัม และคนญี่ปุ่น 4 กิโลกรัม แต่ปัจจุบันปริมาณการบริโภคกาแฟของคนไทยสูงขึ้น เค้กก้อนใหญ่ขึ้น แล้วเราเข้าไปส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกกาแฟ พร้อมรับซื้อในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม

แต่ภาพรวมธุรกิจร้านกาแฟ คือ การหอบหิ้วองคาพยพซึ่งเป็น “เอสเอ็มอี” ของคนไทยก้าวไปด้วยกันกับ ปตท. เพราะเราให้แฟรนไชส์ถึง 80% กระจายทั่วประเทศ เป็นการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาเป็นเจ้าของกิจการได้ง่ายขึ้น เนื่องจากเป็นร้านของ ปตท.แค่ 20% เหมือนกับปั๊มน้ำมัน ปตท.ทั่วประเทศเป็นของดีลเลอร์ 80%

“มีคนขอเปิดร้านกาแฟปีละ 4,000 ร้าน แต่ให้ได้แค่ 400 ร้าน โดย 100 ร้านอยู่ในปั๊มน้ำมัน ส่วนอีก 300 ร้านอยู่นอกปั๊มน้ำมัน สรุปมีคนรัก ปตท. 400 ร้าน แต่อีก 3,600 ร้านไม่รักเรา (หัวเราะ) เหมือนกับปั๊มน้ำมัน มีคนขอเปิดปั๊มน้ำมัน 1,500 แห่ง แต่ให้ได้แค่ 100 แห่ง ดังนั้น 1,400 แห่ง เขาจึงไม่รักเรา (หัวเราะ) แต่ต้องพูดให้เข้าใจว่าเราต้องการสแกนให้ดีในหลายๆปัจจัย โดยเฉพาะเรื่องทำเลคือโจทย์ใหญ่ ถ้าปล่อยให้เปิดแล้วมีปัญหาก็ไม่ปล่อย จึงต้องสแกนกันอย่างดี เพื่อให้ธุรกิจเดินไปได้อย่างยั่งยืน ไม่เจ๊ง! หรือถ้าเปิดแล้วไปเบียดรายเดิม ทำให้รายเดิมเจ๊ง! ก็ไม่สมควร”

มุมมองต่อแหล่งพลังงานใหม่ๆ พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา

เรื่องนี้สื่อมวลชนต้องช่วยกันครับ โดยส่วนตัวอยากให้โครงการในพื้นที่ทับซ้อนเกิด! เพื่อเป็นแหล่งพลังงานสำคัญในอนาคต อย่าไปนึกถึงกรณีเขาพระวิหาร อย่ามองเรื่องพรมแดนในทะเล แต่ควรคุยกับกัมพูชาเพื่อขุดเอาพลังงานที่อยู่ใต้ทะเลขึ้นมาใช้ก่อน เพราะเรามีตัวอย่างการพัฒนาแหล่งพลังงานร่วมกันระหว่าง ไทย-มาเลเซีย (แหล่ง JDA) มาหลายปีแล้ว ไม่มีปัญหาอะไรเลย เพราะได้ผลประโยชน์ร่วมกัน

“ต้องบอกแบบนี้ว่าก๊าซธรรมชาติที่ขุดได้ในอ่าวไทย มีคุณภาพกว่าก๊าซฯ ที่เราซื้อจากประเทศเมียนมา โดยก๊าซฯ จากเมียนมาซื้อเข้ามาเผาเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าได้อย่างเดียว แต่ก๊าซฯ ในอ่าวไทยนำมาเข้าโรงแยกก๊าซฯ เป็นปิโตรเคมี พัฒนาเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องมากมาย แต่ปัญหาคือก๊าซฯ ในอ่าวไทย ขุดได้ในปริมาณน้อยลงไปเรื่อยๆ สุดท้ายต้องพึ่งพาการนำเข้า ดังนั้นแหล่งก๊าซฯ ในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา จึงเป็นความมั่งคงทางพลังงานในอนาคต ถ้าคุยกันแล้วได้ข้อสรุป วันนี้ ยังต้องใช้เวลาในขั้นตอนต่างๆ กว่าจะนำก๊าซฯ ขึ้นมาใช้ได้ คงไม่ต่ำกว่า 7 ปี และถ้าแบ่งปันผลประโยชน์กัน 50 : 50 ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์มาก ทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน” ซีอีโอ ปตท. กล่าว.