ทั้งนี้ ประชากรวัยแรงงานหลังยุคโควิด-19 มีแนวโน้มเป็น “กิ๊ก เวิร์กเกอร์ (Gig worker)” เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด โดยเลือกทำงานแบบไม่ผูกมัดกับการเป็นลูกจ้างถาวรในองค์กร ซึ่งเป็นผลจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งคนรุ่นใหม่สนใจเลือกแบบนี้เพราะ “ตรงอุปนิสัย” คนยุคนี้ที่ “ชอบอิสระ”…

แต่แรงงานรูปแบบใหม่นี้จะดีหรือไม่??

ในมุมมานุษยวิทยาก็มีบทวิเคราะห์ไว้

ทั้งนี้ กรณี “Gig economy – Gig worker” ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อในวันนี้นั้น มาจากบทความชื่อ “คนรุ่นใหม่กับงานชั่วคราว และมานุษยวิทยา” โดย ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ นักมานุษยวิทยา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ที่ได้เผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์ของหน่วยงานดังกล่าว โดย ดร.นฤพนธ์ สะท้อนเรื่องนี้ไว้ว่า… การขยายตัวและเติบโตเพิ่มขึ้นของแรงงานแบบ “Gig worker” ในสังคมไทยนั้น มีปัจจัยสำคัญจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล ประกอบกับแรงงานรุ่นใหม่ ๆ มีนิสัยชอบการใช้ชีวิตอย่างเป็นอิสระ และเลือกรับจ้างทำงานตามที่ตนเองพึงพอใจ ส่งผลให้ระบบการทำงานชั่วคราวเติบโตอย่างรวดเร็ว…

นอกจากนั้น ทาง ดร.นฤพนธ์ ก็ยังได้เผยข้อมูลเพิ่มเติมไว้ว่า… ผลสำรวจปี 2019 ที่จัดทำโดย MetLife Services and Solutions ซึ่งได้เก็บข้อมูลจากชาวอเมริกัน พบว่า…มีชาวอเมริกันราว 30 ล้านคน ตัดสินใจทำงานอิสระและยอมรับการมีรายได้จากงานชั่วคราวที่ทำ รวมทั้งยังมีข้อมูลว่า…แบบสำรวจพบผู้ที่เคยมีอาชีพประจำแต่หันมารับจ้างทำงานชั่วคราวเพิ่มขึ้นอีกราว 15 ล้านคน และก็พบว่า…ผู้ที่ทำงานประจำอีกราว 49% วางแผนเอาไว้ว่า…ภายในเวลา 5 ปีข้างหน้าจะลาออกจากงานประจำ เพื่อหันมาทำงานรับจ้างแบบอิสระ หรือจะผันตัวเองเป็น “Gig worker” ในอนาคต …เป็นข้อมูลที่บทความดังกล่าวนี้ได้ฉายภาพไว้

และจากผลสำรวจจากแหล่งข้อมูลเดียวกันนี้ ที่ ดร.นฤพนธ์ หยิบยกนำมาอ้างถึง ยังได้พบข้อมูลอีกว่า… “Gig worker” ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่จบการศึกษาปริญญาตรีขึ้นไป และมักเป็นผู้ที่ยังไม่ได้แต่งงาน โดยงานชั่วคราวที่มีผู้ทำมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.งานที่เกี่ยวกับการศึกษา 2.งานไอที 3.งานช่างและการก่อสร้าง 4.งานด้านสุขภาพ และ 5.งานฝีมือและงานประกอบชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยได้ให้ “เหตุผล” ที่เลือกทำงานชั่วคราวระยะสั้นว่า… ต้องการมีอิสระ ไม่อยากอยู่ใต้คำสั่ง รวมถึงเกิดความรู้สึกว่า… งานประจำเต็มไปด้วยกฎระเบียบข้อห้ามมากมาย จึงต้องการหนี จึงเลือกเป็นแรงงานชั่วคราวระยะสั้น

นี่เป็น “ทัศนคติของคนทำงานรุ่นใหม่”

“ที่สำรวจพบ” ในกลุ่มวัยแรงงานอเมริกัน

“แม้เป็นกลุ่มตัวอย่างคนอเมริกัน แต่น่าจะอธิบายมุมมองคนรุ่นใหม่ในการมีชีวิตทางสังคมได้ไม่มากก็น้อย ที่ต่างจากรุ่นพ่อแม่ โดยคนรุ่นใหม่จะให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตที่สนุกสนาน ไม่ยึดติดระเบียบแบบแผน ต้องการแสวงหาสิ่งใหม่ และชอบการเปลี่ยนแปลง จึงทำให้การทำงานลักษณะนี้เป็นที่นิยม” …เป็นคำอธิบายเพิ่มเติมเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม ทางนักมานุษยวิทยาท่านเดิมได้ระบุไว้ว่า… แม้คนรุ่นใหม่ ๆ ต้องการที่จะก้าวไปสู่การเป็นแรงงานรูปแบบนี้ แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะสามารถทำได้ หรือสามารถประสบความสำเร็จได้ เพราะการจะเป็น “Gig worker” ได้นั้น จะต้องมี “คุณสมบัติสำคัญ” เช่นกัน อย่างเช่น… ต้องมีทักษะ ความสามารถ ความถนัด ในงานที่ทำในระดับที่ดีมาก เพื่อสร้างผลงานให้นายจ้างประทับใจ จนได้รับข้อเสนอให้ทำงานต่อเนื่อง นอกจากนั้นยัง ต้องรู้จักแหล่งงานว่าอยู่ที่ใด-รู้วิธีเข้าถึงแหล่งงาน เป็นต้น

นี่คือ “โจทย์” แรงงานแบบ “Gig worker”

ที่ “ต้องถึง-ต้องรู้” เพื่อ “รายได้สม่ำเสมอ”

ทั้งนี้ ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ นักมานุษยวิทยา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ยังสะท้อนถึงพัฒนาการแรงงานในเรื่องนี้ไว้ว่า… รูปแบบการทำงานชั่วคราวเป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ที่ทำให้เกิดการสร้างช่องทางและเครื่องมือสำหรับการทำงานที่ต่างไปจากระบบแบบเดิม จนกลายเป็นปรากฏการณ์ที่นายจ้างแสวงหาคนทำงานที่มีความสามารถมารับทำงานในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปให้ได้มากขึ้นด้วย โดย “ประโยชน์นายจ้าง” ที่ได้รับจาก “Gig worker”  คือ “ต้นทุนธุรกิจลดลง” เช่น เงินเดือนประจำ รวมถึงการ “เลือกคนทำงานได้โดยไม่มีข้อผูกมัด”

ขณะที่ “ประโยชน์ Gig worker” นั้น ที่จะได้รับจากการทำงานรูปแบบนี้ คือ “อำนาจต่อรองค่าจ้าง” ตามความพอใจ โดยไม่ต้องยึดตามกฎหมายค่าจ้างแรงงาน ซึ่งการเพิ่มขึ้นแบบรวดเร็วของแรงงานรูปแบบนี้สะท้อนว่า “แนวคิดงานที่มั่นคงค่อย ๆ เสื่อมพลังลงไป” ในสังคม อย่างไรก็ตาม แรงงานกลุ่มนี้ก็ต้อง “แบกรับความเสี่ยง” ในเรื่อง “รายได้ที่ไม่สม่ำเสมอ” หากไม่มีการจ้างงาน และนอกจากนี้ก็ยังต้องเจอ “คู่แข่งจำนวนมาก” ในตลาดแรงงานแบบนี้ด้วย อีกทั้งแม้จะเป็นระบบใหม่แต่ก็มีการ “ถูกเอารัดเอาเปรียบในระบบงานชั่วคราว …นี่เป็นบทวิเคราะห์โดยนักมานุษยวิทยา กรณี “ปรากฏการณ์ Gig worker”

ทำงานไม่ประจำนี่ “คนรุ่นใหม่นิยม”

เป็นพัฒนาการสำคัญ “สังคมยุคใหม่

แต่…“รายได้มั่นคง…ยังคงสุ่มเสี่ยง!!”.