เมล็ดพืชที่เกเรดาปลูกถูกเก็บไว้ในคลังพันธุกรรมขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งมีการรวบรวมและเก็บรักษาถั่ว, มันสำปะหลัง และพืชอาหารสัตว์เขตร้อน นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1970 โดยธนาคารยีน “ฟิวเจอร์ ซีดส์” แห่งนี้ตั้งอยู่ท่ามกลางไร่อ้อยใกล้กับเมืองกาลี ทางตะวันตกเฉียงใต้ของโคลอมเบีย ดำเนินการโดยกลุ่มพันธมิตรความหลากหลายทางชีวภาพนานาชาติ ของสภาที่ปรึกษาด้านการวิจัยทางการเกษตรระหว่างประเทศ (ซีจีไอเออาร์) และศูนย์เกษตรเขตร้อนนานาชาติ (ซิแอต)

นายโจ โทห์เม นักพันธุศาสตร์ผู้เป็นหัวหน้างานวิจัยของกลุ่มพันธมิตร เกี่ยวกับพืชผลเพื่อโภชนาการและสุขภาพ กล่าวว่า “ภัยคุกคามใหญ่ที่สุดที่มีต่อความมั่นคงด้านอาหารคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ธนาคารเมล็ดพันธุ์จะช่วยให้เราสามารถแก้ไขปัญหาและความกังวลต่าง ๆ ในระยะสั้นและระยะยาว เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ, ภาวะทุพโภชนาการ และภัยคุกคามในอนาคตได้”

ธนาคารยีน “ฟิวเจอร์ ซีดส์” ที่เมืองกาลี ประเทศโคลอมเบีย

แม้ทั่วโลกเคยปลูกพืชที่แตกต่างกันมากกว่า 6,000 ชนิด แต่ความหลากหลายของพืชผลประมาณ 75% กลับสูญเสียไปในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา นั่นหมายความว่า สินค้าอาหารกำลังอยู่ในความเสี่ยง หากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศหรือสงครามทำให้การเก็บเกี่ยวล้มเหลว

Alliance of Bioversity International and CIAT

ทว่าธนาคารเมล็ดพันธุ์มีความลับทางพันธุกรรมที่สามารถช่วยให้เกษตรกรปรับตัวกับอุณหภูมิที่สูงขึ้น และสภาพที่แห้งหรือเปียกกว่าเดิม ด้วยการปลูกพืชผลที่มีความต้านทาน มีคุณค่าทางโภชนาการ และให้ผลผลิตสูง เพื่อรับมือกับปัญหาความหิวโหยและภาวะทุพโภชนาการ

นักวิจัยเก็บตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ ภายในห้องปฏิบัติการของธนาคารยีน “ฟิวเจอร์ ซีดส์” ที่เมืองกาลี ประเทศโคลอมเบีย

ในห้องปฏิบัติการของธนาคารเมล็ดพันธุ์ ทีมนักวิจัยใช้กล้องจุลทรรศน์เพื่อเตรียมเมล็ดพันธุ์แต่ละชนิด สำหรับการจัดเก็บหรือการวิจัย ก่อนที่จะคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสม และทิ้งเมล็ดที่เสียหายไป อีกทั้งทางธนาคารยังให้ตัวอย่างเมล็ดพันธุ์แก่นักวิจัยและเกษตรกรแบบไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งธนาคารได้แจกจ่ายตัวอย่างเมล็ดพันธุ์มากกว่า 500,000 ตัวอย่าง ไปยัง 142 ประเทศทั่วโลกมาตั้งแต่ปี 2516 แล้ว

ขณะที่ นางนอร์มา มันริเก นักวิจัยของซิแอต กล่าวว่า ตลอดหลายทตวรรษที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ที่ใช้เมล็ดพืชจากธนาคารยีนได้พัฒนาเมล็ดพันธุ์ที่มีความต้านทาน และมีคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น ซึ่งมันมีความสำคัญต่อการสูญเสียความหลากหลายทางพันธุกรรมของโลก อันเกิดจากพืชผลที่มีความยืดหยุ่นน้อยต่อโรค, ชนิดพันธุ์รุกราน, แมลงศัตรูพืช, การสูญเสียถิ่นที่อยู่ และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

ทั้งนี้ อาคารของธนาคารยีน “ฟิวเจอร์ ซีดส์” แห่งใหม่จะเปิดดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบในเดือน ธ.ค.นี้ โดยบรรดานักวิทยาศาสตร์กำลังใช้ประโยชน์จากจีโนม ซึ่งเป็นการศึกษาสารพันธุกรรม และผสานสิ่งนี้เข้ากับเทคโนโลยีบิ๊กดาตา เพื่อพัฒนาพืชผลที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) จะช่วยเร่งกระบวนการวิเคราะห์พืชผล และทำให้เพาะพันธุ์พืชชนิดใหม่ที่สามารถรับมือกับสภาวการณ์ที่รุนแรงได้เร็วยิ่งขึ้นด้วย.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS