คำตัดสินของคณะลูกขุนของศาลในรัฐฟลอริดา ที่มีต่อ นายนิโคลัส ครูซ มือปืนผู้ก่อเหตุกราดยิงเสียชีวิต 17 ศพ ที่โรงเรียนมัธยมศึกษามาจอร์รี สโตนแมน ดักลาส เมื่อปี 2561 ให้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต ไม่ใช่โทษประหารชีวิตนั้น ก่อให้เกิดความไม่พอใจทางอารมณ์อย่างมาก จากญาติพี่น้องของเหยื่อซึ่งมารวมตัวกันในศาล เพื่อรอฟังคำพิพากษา

ABC News

ครอบครัวและญาติของผู้เสียชีวิตรู้สึกตกใจกับคำตัดสินดังกล่าว และมองว่ามันไม่ยุติธรรมในการให้ครูซรับโทษแค่จำคุกตลอดชีวิต จนบางคนถึงกับตั้งคำถามต่อการมีอยู่ของโทษประหารชีวิตด้วย ขณะที่ นางไอวี ชามิส หนึ่งในครูของโรงเรียนที่เกิดเหตุ ซึ่งร่วมให้การในฐานะพยาน กล่าวว่า เธอรู้สึกเสียใจอย่างมาก และหมดศรัทธาในระบบยุติธรรมแล้วหลังจากนี้


อนึ่ง ลูกขุน 3 คน จากคณะลูกขุนทั้งหมด 12 คน ลงมติไว้ชีวิตมือปืนหลังจากการพิจารณาคดี ซึ่งภายใต้กฎหมายของรัฐฟลอริดา การตัดสินโทษประหารชีวิตจำเป็นต้องมีมติอย่างเป็นเอกฉันท์เท่านั้น หากมีลูกขุนที่ไม่เห็นด้วยแม้แต่คนเดียว จำเลยจะถูกตัดสินโทษจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่มีสิทธิทำทัณฑ์บน

ทีมทนายของนายนิโคลัส ครูซ สนทนากัน หลังคณะลูกขุนพิพากษา ให้ลูกความรับโทษจำคุกตลอดชีวิต


นายเบนจามิน โทมัส หัวหน้าคณะลูกขุน กล่าวว่า เขาไม่ได้โหวตให้ตัดสินโทษจำคุกตลอดชีวิต และรู้สึกไม่พอใจกับ “กระบวนการตัดสิน” ที่เกิดขึ้น เนื่องจากมีลูกขุนคนหนึ่งเชื่อว่าครูซมีอาการป่วยทางจิต และเขาไม่ควรได้รับโทษประหารชีวิตเพราะเหตุผลนั้น เช่นเดียวกับลูกขุนอีก 2 คนที่โหวตไม่เห็นด้วยกับการตัดสินโทษประหารชีวิต


ทั้งนี้ทั้งนั้น คณะลูกขุน ซึ่งประกอบด้วยชาย 7 คน และหญิง 5 คน พบว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้เหตุการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น ซึ่งมันเป็นตัวรับประกันการตัดสินโทษประหารชีวิต และในระหว่างการพิจารณาคดีนาน 3 เดือน อัยการพยายามโน้มน้าวคณะลูกขุนว่า ปัจจัยเหล่านั้นมีอยู่ในคดีอย่างชัดเจน


อย่างไรก็ตาม ลูกขุน 3 คนไม่เห็นด้วยกับการตัดสินโทษประหารชีวิต เพราะเหตุบรรเทาโทษที่ฝ่ายจำเลยโต้แย้งมาโดยตลอด ซึ่งลูกขุนทั้งสามคนสรุปว่า สิ่งเหล่านี้มีน้ำหนักมากกว่าปัจจัยร้ายแรงต่าง ๆ ที่อัยการเสนอมา


เหตุบรรเทาโทษที่โดดเด่นที่สุด และเป็นสิ่งทนายฝ่ายจำเลยได้สำรวจอย่างละเอียดในระหว่างการพิจารณาคดี คือ การที่มารดาของมือปืนดื่มสุราและสูบบุหรี่อย่างหนักในระหว่างที่เธอตั้งครรภ์ ซึ่งทำให้ครูซอยู่ในกลุ่มอาการทารกในครรภ์ได้รับแอลกอฮอล์ (เอฟเอเอสดี) ซึ่งส่งผลให้เขามีพฤติกรรมที่รุนแรง


นางเมลิซา แม็คนีลล์ หัวหน้าทนายฝ่ายจำเลย กล่าวต่อศาลว่า “เขารับเคราะห์ร้ายตั้งแต่ที่เขาอยู่ในครรภ์ และในสังคมที่เจริญแล้ว เราควรฆ่าคนที่ไม่สมบูรณ์, มีอาการป่วยทางจิต และมีความผิดปกติทางสมองหรือไม่?”


ทว่าแซตซ์กล่าวโต้แย้งเกี่ยวกับเรื่องนี้ในช่วงท้ายของการพิจารณาคดี เนื่องจากมันกลายเป็นจุดสนใจ โดยเขากล่าวว่า “ไม่ว่ามารดาของเขาจะสูบบุหรี่หรือไม่ก็ตาม มันไม่ได้เปลี่ยน “เขา” ให้กลายเป็นฆาตกรสังหารหมู่” แต่ท้ายที่สุด หลังจากการกลั่นกรองหลักฐานที่บาดใจ และการไตร่ตรองนาน 7 ชั่วโมง คณะลูกขุนไม่สามารถบรรลุการตัดสินที่เป็นเอกฉันท์เกี่ยวกับโทษประหารชีวิตได้


“นั่นคือวิธีการทำงานของระบบคณะลูกขุน ลูกขุนบางคนแค่รู้สึกว่ามันเป็นคำตัดสินที่เหมาะสม” โทมัส กล่าว “มันเป็นการตัดสินใจทางศีลธรรม และทุกคนมีสิทธิต่อความคิดเห็นของพวกเขา”.


เลนซ์ซูม