ทุกพรรคการเมืองเริ่มเดินหน้าจัดกระบวนทัพเตรียมตัวเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งกันแล้ว วันนี้ ทีมการเมืองเดลินิวส์” จึงต้องมาสนทนากับ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่ตอนนี้เนื้อหอมที่สุด มาบอกถึงการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สนามเลือกตั้งอีก 6 เดือนข้างหน้านับจากนี้จะเดินหน้าอย่างไรในการปูทางสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างสมศักดิ์ศรี

โดย “อนุทิน” เปิดฉากกล่าว่า ภท.พร้อมมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว ตั้งแต่รัฐบาลนี้ผ่าน 3 ปีมาได้ เตรียมความพร้อมไว้อย่างเต็มที่แล้ว เพราะอุบัติเหตุทางการเมืองสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และพอทราบว่าหลังเอเปค เราต้องมีความตื่นตัวอยู่ตลอด ไม่มีใครใน ภท.คิดว่ารัฐบาลนี้จะอยู่ไปจนถึงวันครบวาระ เพราะด้วยเหตุผลทางการเมือง และด้วยอะไรต่างๆ การสมัครสมาชิกพรรคต้องเป็นไปตามกฎหมายที่กำหนดไว้ ไม่ว่าจะยุบสภาหรือครบวาระ ดังนั้น ต้องเตรียมการไว้หมดหรือถ้าครบวาระจริงๆ จะได้มีความพร้อมโดยที่ไม่มีผลกระทบอะไร

เพราะ ภท.กำหนดนโยบายที่ปฏิบัติได้และบรรลุผลสำเร็จได้รวดเร็ว หากจำได้ก่อนการเลือกตั้งปี 2562 นโยบายของ ภท.จะต้องทำได้เร็ว และทำได้เลย เพราะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศ ที่ต้องปรับจากระบอบทหารมาเป็นระบอบรัฐสภาเต็มใบ ยังไม่สามารถคิดอะไรยาวๆ ได้ เพราะยังมีกรอบอื่นๆ ครอบอยู่มาก เช่น ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี บทกำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่กำหนดบทบาทของอำนาจฝ่ายการเมืองค่อนข้างมีข้อจำกัด เราจึงเน้นแก้ไขปัญหาปากท้องแบบเฉพาะหน้า ให้เขาได้ลืมตาอ้าปาก มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องไปอาศัยการออกกฎหมายใหม่ แต่ใช้นโยบายผลักดันขับเคลื่อนการทำงานของกระทรวง ทบวง กรมที่เราดูแลอยู่

@ การทำงานช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาล ภท.โดดเด่นจน “เพื่อนไม่คบ” หรือไม่

เพื่อนไม่ได้ไม่คบ เพื่อนยังคบอยู่ แต่ เพื่อนเตะเจาะยาง  สิ่งที่เขาเตะคือ “เป้าหลอก” แต่ “เป้าจริง” ยังเดินได้ นโยบาย ภท.ทุกเรื่องถึงแม้มีอุปสรรค เช่น กัญชาออกกฎหมายอะไรก็ตาม แต่ตรงนั้นเป็นเรื่องของกฎหมาย แต่ในการให้ประชาชนได้แสวงหาประโยชน์จากการปลูกกัญชา ทำผลิตภัณฑ์จากกัญชาซึ่งไม่เป็นยาเสพติดอีกต่อไป เพราะกรรมการ ป.ป.ส. มีมติถอดกัญชาออกจากยาเสพติด มีประกาศออกมาชัดเจน การที่ประชาชนจะใช้ประโยชน์จากพืชกัญชา กัญชง ทางการแพทย์ ทางสุขภาพ การผลิตสินค้าคุณภาพทั้งหลาย เราใช้กฎหมายกระทรวงสาธารณสุขกำกับอยู่

ส่วนการไปออกร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ… เพื่อลดความกังวล ลดความตื่นตระหนกของสังคม แต่เมื่อมีพรรคการเมืองที่เขาคว่ำกฎหมายฉบับนี้ ในวาระที่ 2 ทั้งๆที่ในวาระแรกเขาเห็นด้วยหมดแล้ว และยังมีคนของเขาอยู่ที่กรรมาธิการ เรื่องที่เขาเป็นห่วงเป็นใยต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เสนอโดยตัวแทนพรรคของเขาหมด แต่ก็ไม่เป็นไร เรานำความห่วงใยของเขามาใส่ไว้ในกฎหมาย จากที่ร่างไว้ 45 มาตรา งอกมาเป็น 95 มาตรา เป็นการอธิบายว่า มีความเข้มข้น รอบคอบ มีการป้องกันข้อสงสัยหรือความห่วงใยของสาธารณชนได้

@ วันเกิด “ครูใหญ่เนวิน ชิดชอบ” 4 ต.ค.65 ประกาศจะหนุนให้เป็นนายกฯ และมี ส.ส. 120 คน

เวลาที่เราอยู่ในช่วงการอวยพรใคร แสดงความยินดีกับใครก็ต้องพูดแต่สิ่งมงคล สิ่งที่ดี ความเจริญก้าวหน้าของบุคคลที่เราอวยพร เวลาเขาตอบสนองคืนมาก็จะพูดว่า พรที่ให้มาขอให้ตอบสนองไปยังผู้อวยพร กรณีของผมท่านก็บอกว่า “ท่านอนุทินเป็นนายกฯ” นี่ก็เป็นเรื่องปกติ จะบอกว่าวันนี้อนุทินเป็นรองนายกฯ แล้ว จะขออวยพรให้เป็นรัฐมนตรีช่วยต่อไปในการเลือกตั้งครั้งหน้าคงไม่ใช่ที่ ผมได้ฟังแล้วก็ชื่นใจที่ได้ยิน แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะตั้งอยู่ในความประมาท เรื่องของงาน เรื่องของหน้าที่ ในเรื่องการทำงานให้ถึงเป้าหมายที่ต้องการให้เป็น เราก็ต้องเอางานเข้าแลกเท่านั้นเอง

@ การเลือกตั้งครั้งหน้าหัวหน้าพรรค ภท. ต้องเป็นแคนดิเดตนายกฯ ใช่หรือไม่

ภท.มีความชัดเจนถึงแม้ไม่ได้อยู่ในธรรมนูญของพรรค ใครก็ตามที่เป็นหัวหน้าพรรค คนนั้นสมควรถูกเสนอให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ เป็นการแสดงให้เห็นตั้งแต่บริบทแรกว่าคนจะเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ต้องมีสภาวะผู้นำสูง หมายความว่าเขาต้องเป็นที่ยอมรับในองค์กรที่เขามา ถึงแม้ว่าจะให้เสนอ 3 ราย แต่ ภท.จะเสนอรายเดียวและจะเสนอรายเดียวตลอดไป “ถ้ามีเกิน 1 คน ตกลงว่าใครกันแน่ที่เป็นผู้นำ ยิ่งเป็นหัวหน้าพรรค แล้วไปยอมให้คนที่ไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรคมาเป็นผู้นำ แล้วคุณจะเป็นหัวหน้าพรรคได้อย่างไร แสดงว่าคุณเป็นแค่ “หุ่นเชิด” แค่นั้นหรือ แล้วคุณจะเอาหน้ามองลูกพรรค มองประชาชนได้อย่างไร ในเมื่อคุณเป็นหัวหน้าพรรค นี่คือหลักการบริหารปกติ ซึ่งคนๆ นั้นก็ต้องแสดงศักยภาพให้เห็นว่าตัวเองมีศักยภาพมากพอที่จะเป็นผู้นำ โดยที่คนอื่นไม่มีทางแทนได้”

@ ภท.ถูกมองว่าเป็นตัวแปร ไปอยู่ข้างไหนข้างนั้นจะได้เป็นรัฐบาล ณ วันนี้ความสัมพันธ์กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคุณทักษิณ ชินวัตร เป็นอย่างไรบ้าง

ผมไม่สามารถทราบได้ว่า ความสัมพันธ์ของคนอื่นเป็นอย่างไร ภท.เราไม่เคยมองว่าเราเป็น “ตัวแปร” ไม่เคยมองว่าใครขาด ภท.แล้วจะจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ เราก็ทำหน้าที่ของเราเต็มที่ โดยหวังว่าผลงานของเราจะทำให้ประชาชนให้โอกาสเราเข้ามามีบทบาทที่สูงกว่าเดิม และไม่ว่าเราจะอยู่ในบทบาทไหน เราจะไม่เอาเรื่องความขัดแย้ง ความแตกแยก การด้อยค่าคนในวงการเดียวกัน การด้อยค่าคนที่อยู่นอกพรรค หรือแม้กระทั้งการด้อยค่าคนที่อยู่ตรงข้าม มาเป็นทิศทางในการทำงาน เราเข้ามาเพื่อที่จะทำงาน ถ้าเป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้งก็จะทำงานเต็มที่เพื่อประชาชน ถ้าเป็นรัฐบาลไม่ได้ ต้องเป็นฝ่ายค้าน ก็จะเป็นฝ่ายค้านที่มุ่งเน้นการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล แต่ไม่ได้ไปสร้างสถานการณ์ หรือประดิษฐ์ประดอยคำต่างๆ เพื่อทำให้เกิดความสับสนวุ่นวาย

เราต้องให้เกียรติคนที่เป็นผู้บริหารประเทศ สิ่งที่เขาทำถูก ก็พร้อมสนับสนุน สิ่งที่ทำไม่ถูกต้อง ก็ให้คำแนะนำ สิ่งที่เขาทำแล้วทุจริตก็ต้องพร้อมออกมาตรวจสอบดำเนินการให้เขาได้รับผลการกระทำตามกฎหมาย เราถึงพูดตลอดว่า เราเป็น “มืออาชีพ” ทำงานตามบทบาท ภาระหน้าที่ ไม่เอาความรู้สึกส่วนตัว ไม่เอาความโกรธแค้นส่วนตัวมาหาทางทำลายคนในแวดวงเดียวกัน พรรคการเมืองคือ ตัวแทนของประชาชน หากพรรคการเมืองทะเลาะกัน แตกแยกกัน ขัดแย้งกัน ตีกัน ทำลายกัน ก็หมายความว่าเราเอาประชาชนของประเทศมารบกัน ซึ่งผมว่าเป็นสิ่งที่น่าสมเพชมาก ถ้าคนที่เป็นนักการเมืองจะทำเช่นนั้น.