คงจะเป็นคดีที่สะเทือนใจไปตลอดในหน้าประวัติศาสตร์ไทย จาก เหตุกราดยิงและบุกก่ออาชญากรรมที่ศูนย์เด็กเล็กที่ จ.หนองบัวลำภู ด้วยฝีมือของอดีตตำรวจ (ซึ่งเราจะเรียกว่า หมู่คลั่ง โดยไม่ต้องการเปิดเผยชื่อคนร้ายให้เกิดลัทธิเอาอย่าง หรือยกเป็นฮีโร่ของพวกขวางโลก อยากแก้แค้นสังคม) จนมีผู้เสียชีวิตเกือบ 40 คน ในที่สุดอดีตตำรวจรายนั้นก็ฆ่าตัวตายเองพร้อมทั้งยิงลูกเมียตัวเองเสียชีวิตด้วย เป็นการปิดฉากโศกนาฏกรรม
สิ่งที่ตามมาจากคดีนี้ ก็มีทั้งคนที่บอกว่า ควรจะต้องเอามาพูดถึงกันเยอะๆ เพื่อถอดบทเรียน บ้างก็ว่าไม่ควรพูดถึงกันมาก เพราะ
- ผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์จะสะเทือนใจมากขึ้น ยิ่งสมัยนี้ทุกอย่างมันเผยแพร่ผ่านโลกอินเทอร์เน็ตได้หมด ก็มีโอกาสรับรู้ข่าวสารได้มากขึ้น
- จะก่อให้เกิดการเลียนแบบ ทำนองว่า เมื่อคนๆ หนึ่งประสบความเจ็บปวดจากการถูกกระทำก็คุมแค้นโลก คุมแค้นสังคม และเห็นว่า การใช้ความรุนแรง จะทำให้สังคมจดจำเขา และเข้าใจความเจ็บปวดของเขา มีคนเปรียบเทียบว่าอารมณ์ประมาณตัว โจ๊กเกอร์ ในเรื่องแบทแมน แต่เป็นโจ๊กเกอร์เวอร์ชั่นวาคีน ฟินิกซ์ เล่น
คนที่บอกว่าควรจะต้องพูดถึง คือ การต้องถอดบทเรียนไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีก ก็ต้องมาแยกว่า ถอดบทเรียนประมาณไหน ประมาณเตรียมการไม่ให้ตัวเองตกเป็นเหยื่อ หรือถอดบทเรียนเพื่อสังเกตผู้มีแนวโน้มก่อความรุนแรง และสกัดไม่ให้ก่อเหตุอาชญากรรมได้อีก …ถ้าเรื่องเตรียมถอดบทเรียนไม่ให้ตัวเองเป็นเหยื่อ ก็ลองคิดดูว่า มีผู้มีศักยภาพจะมาสอนเด็กได้ไหมว่าถ้าเกิดไอ้คลั่งที่ไหนบุกเข้ามาในโรงเรียนอีก จะหาทางหนีทีไล่อย่างไร ..หรือบางโรงเรียนอาจใช้ วิธีตีกรอบความเป็นส่วนตัวของพื้นที่มากขึ้น ประเภทผู้ปกครองไม่สามารถเข้ามาข้างในโรงเรียนได้ รับส่งบุตรหลานได้แค่หน้าประตู..ถ้าจะดูในพื้นที่ห้องเรียนต้องมีเหตุจำเป็น ..และมีกล้องวงจรปิดในห้องเรียนด้วย ป้องกันไม่ให้เกิดกรณีครูพี่เลี้ยงทำทารุณกับเด็กอีก เหมือนที่เคยเกิดขึ้นเป็นข่าวกับโรงเรียนเอกชนเจ้าใหญ่ ซึ่งตอนนี้เรื่องเงียบไปแล้ว
การถอดบทเรียนเพื่อป้องกันการก่อเหตุ ..มันก็มีหลายบทเรียนเหลือเกินที่ “น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุความรุนแรง” หลายๆ เรื่องสะสมกันกลายเป็นฟางฟ่อนใหญ่ทำให้ลาหลังหัก ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าจะโทษเส้นไหนที่มันทำให้ลาหลังหัก เพราะแต่ละเส้นก็มีน้ำหนักที่มันใกล้เคียงกัน การเลี้ยงดู, ความรุนแรงในครอบครัว, การเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ชินชากับความรุนแรง, สภาพจิต, ยาเสพติด, ความเครียด มันเป็นสาเหตุของความรุนแรงได้หมด
แนวคิดเกี่ยวกับผู้ก่อความรุนแรง ถ้าแนวคิดอาชญากรรมเก่าๆ ก็มีความเชื่อว่า ความเป็นอาชญากรถ่ายทอดกันได้ทางพันธุกรรม คนมีแนวโน้มเป็นอาชญากรจะมีลักษณะร่างกายภายนอกอย่างหนึ่ง หรืออาชญากรเป็นพวกที่มีปัญหาทางจิต เกี่ยวกับการรับรู้ต่อความรุนแรง นึกถึงกรณี ฆ่าสาวหั่นศพแล้วใส่ถุงโยนทิ้ง ที่ได้เบาะแสจากแม่บ้านเมื่อเร็วๆ นี้ ก็คิดว่า “อาชญากรน่าจะเป็นพวกมีปัญหาทางจิตเรื่องไม่เข้าใจความรุนแรง” เพราะตอนให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ดูเหมือนพูดเรื่องปกติธรรมดา ไม่คิดว่าสิ่งที่ตัวทำเป็นพฤติกรรมสุดอำมหิต ..อาชญากรรมบางอย่างก็เกิดจากภาวะอาการป่วยจิตเภท เช่นที่เราเคยได้ยินข่าวหญิงสาวรายหนึ่งที่มีเสียงกระซิบข้างหูให้ฆ่าคนโน้นคนนี้ แล้วก่อเหตุแทงเด็กนักเรียนโรงเรียนดังย่านสีลม ผ่านไปหลายปีก็ก่อเหตุซ้ำ นี่ก็คือปัญหาป่วยจิตเภท จากสารในสมองผิดปกติ
แนวคิดที่ค่อนข้างพูดถึงกันมากที่สุด ว่าเป็นสาเหตุแท้จริงของอาชญากรรม คือ เรื่อง “การเลี้ยงดูและสิ่งแวดล้อม” เด็กที่เกิดในครอบครัวที่ขาดความอบอุ่น มีการใช้ความรุนแรงให้เห็นจนแทบจะเป็นเรื่องปกติ หรือตัวเด็กเองก็ถูกใช้ความรุนแรงทั้งทางภาษา ทางกาย และทางใจ ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ก็มีแนวโน้มสะสมความรุนแรงในใจ แสดงออกโดยการใช้ความรุนแรงกับสัตว์ กับคนอ่อนแอกว่า ชินชาต่อความรุนแรง และรู้สึกคุมแค้นต่อโลกที่ตัวเองถูกกระทำ
พฤติกรรมที่บิดเบี้ยวก็เริ่มแสดงออกตั้งแต่การโกหก การขโมย การเสพยาเสพติด ไปจนถึงการทำร้ายร่างกาย และประกอบกับเด็กที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ขาดความอบอุ่น ย่านที่อยู่ก็อาจมีสิ่งแวดล้อมแบบเดียวกันเช่นชุมชนแออัด หรือโตขึ้นก็ไปคบกับคนประเภท “ศีลเสมอกัน” มันเป็นตัวสะสมความรุนแรงในใจมากขึ้น และเมื่อถึงเวลาที่มันระเบิดออกมา ก็เป็นความรุนแรงตามรูปแบบการเลี้ยงดู, สังคมที่คนเหล่านี้ผ่าน เราคงเคยได้ทราบเรื่องฆาตกร ทั้งฆ่าศพเดียวหรือฆ่าต่อเนื่องหลายคน ที่มีภูมิหลังมาจากครอบครัวที่ใช้ความรุนแรง
บางคนไม่มีประวัติความรุนแรง แต่เกิดความอึดอัดคับข้องใจอะไรบางอย่าง ทำให้เกิดเป็นความเครียดสะสม จนถึงจุดหนึ่งก็ระเบิดออกด้วยความรุนแรง ..นี่เป็นแนวคิดที่ออกจะเป็นมนุษย์นิยมที่ว่า คนเรามีความเป็นคนดีในกมลสันดานตามระบบการขัดเกลาทางสังคม แต่ปัจจัยภายนอกที่มากระทบทำให้บางครั้งก็ขาดสติทำออกไปโดยจงใจหรือไม่ก็ตามแต่ เพียงแค่ว่าขณะนั้นรู้ตัวว่าไม่มีทางออก หรือต้องการตอบโต้แบบตาต่อตาฟันต่อฟัน อย่างหนังไทยเก่าเรื่อง “303 กลัว กล้า อาฆาต” เราได้เห็น ฆาตกรที่ก่อเหตุไล่ยิงคนในโรงเรียนเพราะถูกพวกรุ่นพี่กลั่นแกล้งโดยอ้างว่าเป็นระบบโซตัส ซึ่งก็น่าเป็นห่วงว่า สถาบันอุดมศึกษาหรืออาชีวะที่ยังบ้าโซตัส วันหนึ่งรุ่นพี่จะเจอรุ่นน้องใช้ความรุนแรงสวนเอาได้
“ความคับข้องใจ” ที่เปลี่ยนมนุษย์ให้เป็นปิศาจ หลักๆ คือ “ความรู้สึกไม่ได้รับความยุติธรรม” เพราะความที่อีกฝ่ายหน้าที่การงานสูงกว่า ฐานะทางสังคมสูงกว่า หรืออะไรก็ตาม ทำให้คนๆ หนึ่งเกิดความรู้สึกตัวเองด้อยค่า จนต้องลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อให้รู้ว่า “กูไม่ใช่เหยื่อของมึงอีกต่อไป” แล้วต้องประกาศให้โลกรู้ด้วยว่า เขาไม่ยอมให้ถูกกลั่นแกล้ง ไม่ยอมถูกอำนาจใดๆ มากดทับ ลองย้อนไปดูกรณีจ่าคลั่งที่โคราช แล้ววิเคราะห์ดูว่า “มันใช่แบบนี้หรือไม่”
ย้อนกลับไปที่เหตุเกิดที่หนองบัวลำภู เราไม่สามารถจะเข้าใจได้เลยว่า “มันเกิดจากอะไร” เพราะ “คนตายไม่อาจเจรจาความ” เสียแล้ว ก็ได้แต่วิเคราะห์กันไปตามสมมติฐานของแต่ละคน บ้างก็ว่า ฝ่ายตำรวจกับฝ่ายครูพูดถึงคนก่อเหตุไม่เหมือนกัน ฝ่ายตำรวจมองในเชิงร้ายๆ มีปัญหายุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดจนต้องถูกออกราชการ (ซึ่งผู้ก่อเหตุเตรียมขึ้นศาลวันรุ่งขึ้นหลังก่อเหตุ จากกรณีพบยาบ้า 1 เม็ด ในบ้าน และถูกไล่ออกจากราชการ) แต่ฝ่ายครูบอกว่า ปกติก็เป็นคนยิ้มแย้มแจ่มใส สุภาพเรียบร้อย ดูจะรักลูกมาก
ถ้าไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม คิดว่าถูกกลั่นแกล้ง ทำไมเหยื่อต้องเป็นเด็กๆ? มีรายงานข่าวว่า ลูกของผู้ก่อเหตุไม่ได้มาโรงเรียนสักพักแล้ว เพราะอายที่ถูกเพื่อนล้อเรื่องพ่อติดยา …เมื่อประกอบกับความเครียดเรื่องตกงานก่อนหน้านี้ และกำลังจะขึ้นศาล ทำให้ผู้ก่อเหตุจงใจล้างแค้นเด็กๆ คนอื่นที่ทำให้ลูกไม่อยากไปเรียน.. บางคนอาจสงสัยเด็กอนุบาลล้อเลียนกันได้ด้วยหรือ บางทีอาจเป็นว่าช่วงเปิดเทอม เด็กโตกว่าก็ล้อ หรือไม่ก็ครู ผู้ปกครองเด็กอื่นไปพูด แล้วไปพูดต่อกับลูกของผู้ก่อเหตุ และเซ้นส์ของเด็กก็รู้สึกว่า เรื่องของพ่อเป็นเรื่องน่าอับอาย
อย่างไรก็ตาม บทเรียนแรกที่ต้องถอดจากเหตุการณ์นี้คือ การระบาดของยาเสพติด ซึ่งเฟื่องมาก ยาบ้าราคาถูก จับรายใหญ่ได้บ่อย รายเล็กรายน้อยจับได้เรื่อยๆ ยาพวกนี้มีผลต่อจิตประสาท ซึ่งเรากำลังมีนโยบายที่น่าจะเรียกว่า soft power ตามสมัยนิยมก็ได้ ว่า “ให้ถือว่าผู้เสพคือผู้ป่วย แล้วเอาเข้าระบบรักษา” คือ ลดการตีตราผู้เสพว่าเป็นคนเลว เป็นอาชญากร ทำให้เขากล้าที่จะเดินเข้าโรงพยาบาลเพื่อไปบำบัด และไม่หวนกลับไปหามันอีก แต่ถ้ายังมีการแปะป้าย “ขี้ยา” กับผู้ที่ยอมเข้าระบบรักษาแล้ว มันก็ทำให้เขาเกิดความคุมแค้น ขุ่นข้องหมองใจ และจะกลับไปเสพอีก หรือทำร้ายคนที่รังเกียจเขา
ที่สำคัญถ้าผู้เสพให้ความร่วมมือ ก็อาจสาวไปถึงผู้ค้าที่สาวไปเรื่อยๆ ถึงรายใหญ่ได้ เพียงแต่สังคมเองจะต้องเปลี่ยนความคิดเห็นที่มีต่อผู้เสพ (ที่ตั้งใจจะกลับตัว) เสียใหม่ มีการให้กำลังใจมากกว่าแปะป้ายขี้ยา และจะดึงคนเข้าระบบบำบัดได้มาก ..อย่ากลัวผู้เสพจนต้องตีตรา เชื่อหรือไม่ว่าใน “วงการคนดีๆ” หลายวงการก็มีผู้เสพยาอยู่นั่นแหละ เพียงแต่เขารู้วิธีเสพ ระดับความพอดีที่จะไม่ทำให้ตัวเองทรุดโทรมหรือมีปัญหาทางสมอง
เรื่องยาเสพติดระบาด ก็ขอให้เป็นกึ๋นของรัฐบาลว่าจะทำอะไรได้แค่ไหน ทำใหยา, ผู้เสพ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญได้หรือไม่ แต่เรื่องที่หนองบัวลำภู ไม่ใช่แค่โทษยาเสพติด มันต้องพูดไปถึงเรื่องการรับคนเข้าระบบตำรวจ จะให้ตรวจฉี่ตำรวจทุกเดือนมันไม่ได้ช่วยอะไร เขาหาเทคนิคซิกแซกเอาฉี่คนอื่นมาก็ยังได้ แต่ก่อนรับใครเข้ามาทำงานตำรวจ ต้องมีการทดสอบทางจิตวิทยาให้ชัวร์ ว่า “เป็นผู้มีแนวโน้มจะใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาหรือไม่ ?” หรือ “เป็นพวกอยากเป็นคนในเครื่องแบบเพราะอยากมีอำนาจ อยากพกปืนหรือไม่ ?” คนเล่นยา ไม่ได้ใช้ความรุนแรงทุกคน แต่คนที่มีสภาพจิตพร้อมใช้ความรุนแรงมีความเสี่ยงกว่า
ถ้าเรื่องมันเกิดจากการที่ผู้ก่อเหตุถูกกลั่นแกล้งในการทำงานตำรวจ ก็ต้องมีเรื่องการ “คานอำนาจ” เวลามีการตรวจสอบตำรวจไม่ให้ดไล่ออกจากราชการ
บทเรียนที่ต้องทบทวนมีเต็มไปหมด เสียดายที่ “คนตายไม่อาจเจรจาความ” เราเลยไม่รู้ว่าฟางเส้นไหนคือเส้นสุดท้าย.
………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”