ทุกวันนี้…ปัญหาเรื่องของเบี้ยประกันรถยนต์ไฟฟ้า หรือรถอีวี กำลังกลายเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ไม่น้อย แม้บรรดาค่ายประกันภัยบางแห่งได้เข้ามาเล่นในตลาดนี้บ้างแล้วก็ตาม

ก็ต้องยอมรับว่า ในเมื่อตลาดยังไม่โต ยังน้อยอยู่ไม่แมส หรือไม่ใช่ตลาดใหญ่ เบี้ยประกันก็ต้องมีราคาแพง เป็นของธรรมดา เพราะหากคิดราคาเบา ๆ แบบต้องการเอาใจผู้บริโภค แต่ในเมื่อดีดนิ้วไปแล้ว กลับไม่คุ้มค่า

ดังนั้น!! ก็หันไปเล่นตลาดอื่น ที่ได้กำไรเห็น ๆ น่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า เพราะอย่าลืมว่า ที่ผ่านมา บริษัทประกันภัยอย่างน้อย 5-6 แห่ง เจ๊งกันระนาว ถึงขั้นต้องปิดกิจการกันทีเดียว เพราะเจอพิษโควิด เข้าไป ก็เหลือจะทานทน

ต่อให้…รัฐบาลเข้ามาอุ้มชูรถยนต์ไฟฟ้า ตั้งแต่ลดภาษีนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปสูงสุดที่ 40% จนถึงปีหน้า ลดอัตราภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2% และรถกระบะ เหลือ 0% สำหรับรายที่เข้าร่วมมาตรการ

รวมไปถึงการให้เงินอุดหนุนคันละประมาณ 70,000-150,000 บาทสำหรับรถยนต์และรถกระบะ ขณะที่รถจักรยานยนต์ ได้รับการอุดหนุนคันละ 18,000 บาท เพื่อกระตุ้นยอดขายก็ตาม

ตลาดรถยนต์อีวี หรือรถไฟฟ้าในเวลานี้ แม้คิดตามตัวเลขอาจเติบโตเป็นหลายเท่าตัว โดยในช่วง 7 เดือนของปี 65 พบว่ารถยนต์ไฟฟ้า มียอดจดทะเบียนใหม่สะสม 8,784 คัน เพิ่มขึ้นถึง 187.53%

แต่การเติบโตที่ว่า…เป็นเพราะฐานที่ใช้คำนวณค่อนข้างต่ำ จึงทำให้อัตราการเติบโตค่อนข้างสูง ด้วยเพราะตลาดที่แท้จริงยังมีปริมาณไม่มาก

ปัจจุบันรถอีวีในตลาดยังมีอยู่ประมาณ 20,000 คันเท่านั้น แบ่งเป็นรถเก๋งประมาณ 7,500 คัน และรถประเภทอื่น ๆ อาทิ รถจักรยานยนต์และรถโดยสารประมาณ 12,500 คัน

จึงไม่ต้องแปลกใจกันว่า ทำไม? เวลากำหนดค่าเบี้ยประกันถึงได้แพงหูฉี่เฉลี่ยตกคันละกว่า 40,000 บาทกันทีเดียว!!

อย่าลืมว่ารถยนต์ไฟฟ้า หัวใจหลักจะอยู่ที่แบตเตอรี่ที่มีราคาแพง ต้นทุนเฉลี่ยในการเปลี่ยนไม่ต่ำกว่า 5 แสนบาท จากทุนประกัน 8 แสนบาท

“อานนท์ วังวสุ” นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย อธิบายความให้เข้าใจว่า เพราะเป็นตลาดใหม่และยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง เลยทำให้บริษัทประภัยยังไม่เข้าไปรุกตลาด

ทั้งเรื่องของค่าเบี้ยประกัน ที่ราคาสูงกว่ารถยนต์ทั่วไปถึง 20-30% ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดและยี่ห้อ แพงสุดที่ คือ รถอีวียุโรป เช่น เทสลา ขณะที่อะไหล่บางตัวยังมีราคาแพง เมื่อมีการเคลมอาจไม่คุ้ม เพราะการประเมินค่าซ่อมเป็นมาตรฐานยังหาสถิติยาก

ดังนั้น!! จึงต้องใช้เวลา ด้วยเหตุนี้หลายคนที่ยังไม่สะเด็ดน้ำดี ทั้งในแง่ของราคา ในแง่ของการใช้ ก็อาจยังไม่ตัดสินใจเข้ามาในตลาดอีวีมากสักเท่าใดนัก

ส่วนการประกาศเซ็นสัญญาระหว่างค่ายรถยนต์กับกรมสรรพสามิต เพื่อเข้าร่วมโครงการก็ไม่หวือหวามากนัก โดยเวลานี้ มีเพียง 7 ค่าย คือ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด หรือเอ็มจี, บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ GWM

นอกจากนี้ยังมีค่ายโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย, บริษัท กรีน ฟิวเตอร์ จำกัด, บริษัท ไมน์ โมบิลิตี คอร์ปอเรชั่น จำกัด และอีก 2 บริษัทเป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ ได้แก่ บริษัท เดโก้ กรีน เอนเนอร์จี จำกัด (Deco Green) และบริษัท เอช เซม มอเตอร์ จำกัด

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ทุกอย่างลื่นปื๊ดไม่มีสะดุด สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือคปภ. จึงได้เทคแอคชั่น โดยตกลงกับบริษัทประกันภัย ที่รับประกันรถอีวี ให้คงราคาเบี้ยกันไปก่อน

ขณะเดียวกันได้กำหนดทางเลือกเฉพาะกรณีที่แบตเตอรี่เสียหายและต้องเปลี่ยนแบบยกชุดไว้ 3 กรณี คือ

1.ให้ความคุ้มครองไม่ต่ำกว่า 50% ของมูลค่าแบตฯ

2.กำหนดความรับผิดส่วนแรก โดยระบุไม่เกิน 15% ของมูลค่าแบตฯ

3. กำหนดให้ผู้เอาประกันภัยต้องร่วมรับผิดชอบความเสียหายร่วมไม่เกิน 15%

ทั้งนี้ให้ผู้เอาประกันเลือกข้อใดข้อหนึ่ง โดยบริษัทประกันจะลดค่าเบี้ยประกันให้ 10-25% เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เอาประกันภัย

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ แถมยังมีประเด็นที่ต่างจากประกันรถยนต์โดยทั่วไป ด้วยเหตุนี้…ในอนาคตจึงไม่ใช่เรื่องแปลก!! หากต้องมีการจัดทำกรมธรรม์เฉพาะสำหรับรถยนต์อีวี แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า ราคาที่รับได้จะอยู่ตรงจุดไหน?

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”