เปิดชีวิต “ครูมลรักษ์” พ่อพระนักกีฬาเรือพายเมืองไทย อุปการะเลี้ยงดูเด็กกว่า 200 คน สานฝันสู่นักกีฬาทีมชาติจนมีอาชีพมั่นคงสำเร็จแล้วกว่า 150 คน “ครูมลรักษ์” หรือ นายมลรักษ์ ฆังมณี วัย 59 ปี เป็นข้าราชการครูโรงเรียนปากพนัง อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ทั้งชีวิตทุ่มเท เสียสละ แรงกาย แรงใจ และทุนทรัพย์เพื่อเด็ก เยาวชน ได้เป็นนักกีฬาเรือพายมาตลอดระยะเวลากว่า 25 ปี จนได้รับการยอมรับและกล่าวขานในวงการกีฬาเรือพายเมืองไทย
“ค่ายครูมลรักษ์” ชมรมเรือพายนครศรีธรรมราช ตั้งอยู่ที่ อ.ปากพนังจ.นครศรีธรรมราช บนเนื้อที่กว่า 4ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินส่วนตัวของครูมลรักษ์ เป็นสถานที่ฝึกอบรม ฝึกซ้อมทีมนักกีฬาเรือพายทุกประเภทที่จะเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาเรือพายตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับนานาชาติชิงแชมป์เอเชียและโอลิมปิก โดยจะแบ่งเป็นส่วนโรงเรือนเก็บเรือพายทุกประเภท โรงยิมฯ เรือนนอนนักกีฬา โรงครัว และมีสถานที่นั่งเล่นพักผ่อนหย่อนใจครบวงจร ส่วนสถานที่ฝึกซ้อมนั้นจะเป็นบริเวณท่าเรือวัดรามประดิษฐ์ริมฝั่งแม่น้ำปากพนัง
“ครูมลรักษ์” กล่าวว่า ตนได้รับการบรรจุเป็นครูประชาบาลเมื่อปี 2529 และย้ายมาเป็นครูโรงเรียนปากพนัง ซึ่งเป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาประจำอำเภอปากพนังเมื่อปี พ.ศ.2546 และได้จัดตั้งชมรมเรือพายจังหวัดนครศรีธรรมราชขึ้นในปีเดียวกัน เนื่องจากอำเภอปากพนังและหลายอำเภอตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปากพนังเหมาะสมในการสนับสนุนส่งเสริมกีฬาเรือพายทั้งเรือท้องถิ่นและเรือสากล ซึ่งมีการจัดแข่งขันเกือบตลอดทั้งปีในระดับพื้นที่ ระดับจังหวัด ระดับภาค ระดับประเทศ จนถึงระดับนานาชาติและโอลิมปิก
เริ่มแรกตนวางแผนโดยเปิดรับนักเรียนทั่วไปที่สนใจกีฬาเรือพายมาอุปการะเลี้ยงดู อายุตั้งแต่ 9-18 ปี ที่มีฐานะยากจนด้อยโอกาสทางการศึกษา มีปัญหาครอบครัว นิสัยเกเรมั่วสุมยาเสพติดและอบายมุขสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียอนาคตนำมาอบรมสั่งสอนส่งเสียให้เล่าเรียนและฝึกซ้อมกีฬาเรือพายจนสามารถพัฒนาตัวเองมีระเบียบวินัยทำงานหรือกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับผู้อื่นได้ เป็นนักกีฬาที่มีสุขภาพร่างกายและจิตใจสมบูรณ์ มีจิตสาธารณะพร้อมช่วยเหลือสังคม
“ตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา ได้อุปการะเลี้ยงดูเด็กมาแล้วกว่า 200 คน สร้างนักกีฬาและสร้างคนคุณภาพให้กับสังคมไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะนักกีฬาลูกศิษย์ค่ายครูมลรักษ์ส่วนใหญ่จะสอบเข้ารับราชการเป็นตำรวจ ทหาร ทั้งชั้นสัญญาบัตรและชั้นประทวนได้กว่า 150 คน ปัจจุบันยังมีเด็กๆ ที่อยู่ในค่ายและเป็นนักกีฬาเรือพายร่วมกินอยู่หลับนอนและฝึกซ้อมในค่ายอีกกว่า 40 คน มีค่าใช้จ่ายเดือนละกว่า 1.2 แสนบาท ซึ่งเงินบางส่วนก็ได้รับการสนันสนุนจากบรรดาศิษย์เก่า ผู้ปกครองที่พอจะมีกำลัง และชาวบ้านที่สนับสนุนข้าวปลาอาหารมาช่วย”
ครูมลรักษ์ กล่าวอีกว่า ตนเลี้ยงปลาไว้หน้าโรงเรือนนอนและจะนำลูกศิษย์มาดูฝูงปลาก่อนจะอบรบสั่งสอนลูกศิษย์ทุกคนว่า “ให้ทำตัวเหมือนปลาที่ดูนิ่งสงบ ไม่โหวกเหวกโววาย ไม่ทำลาย ทำร้ายใคร แต่เมื่อถึงช่วงที่จะต้องแสดงพลังหรือหลบหนีภัยก็จะสามารถแหวกว่ายได้อย่างปราดเปรียวว่องไว” โดยเบื้องหลังความสำเร็จของนักกีฬาเรือพายในค่ายครูมลรักษ์ที่มีชื่อเสียงได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านความยากลำบากมานับไม่ถ้วนและทุกอย่างเกิดขึ้นได้เพราะความทุ่มเทเสียสละ อดทน
โดยเฉพาะตัวนักกีฬาจะต้องมีระเบียบวินัย ฝึกฝน ฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อายุไม่ถึง 10 ขวบ เพื่อให้ร่างกายเจริญเติบโต แข็งแรง หากไม่เริ่มต้นตั้งแต่เด็กๆ สภาพและขนาดร่างกาย รวมทั้งพละกำลังจะไม่สามรถต่อกรสู้กับฝรั่งต่างชาติได้เลย ความสำเร็จที่ได้มาของเด็กๆ ทุกคน คือการสร้างชื่อเสียงให้กับพ่อแม่วงศ์ตระกูลและประเทศชาติ ที่สำคัญทุกคนมีหน้าที่การงานที่ดีและมั่นคง โดยลูกศิษย์ของครูมลรักษ์มีการสืบทอดดูแลกันต่อเนื่องแบบ “พี่ดูแลช่วยเหลือน้อง” ซึ่งรุ่นพี่ๆ ที่ประสบความสำเร็จก็จะมาคอยดูแลน้องๆ รุ่นต่อๆ ไป
“ซึ่งน่าภาคภูมิใจมากๆ ที่เด็กทุกคนประสบความสำเร็จในการเป็นนักกีฬาเรือพายและอาชีพหน้าที่การงาน แม้ตนจะอายุมากแล้วจะเกษียณอายุราชการในปี 2566 แต่จะทุ่มเทแรงกาย แรงใจ เพื่อพัฒนาส่งเสริมเด็กและเยาวชนที่รักกีฬาเรือพายจนกว่าจะทำไม่ไหว และไม่เป็นห่วงเพราะมีการวางแนวทางรวมทั้งผู้สืบทอดต่อยอดต่อจากตนในอนาคตไว้เรียบร้อยแล้ว”
สำหรับความภาคภูมิใจของ “ครูมลรักษ์” ตลอด 25 ปี นักกีฬาในค่ายสามารถคว้าแชมป์ในแต่ละระดับอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยล่าสุดได้ 2 เหรียญเงิน ในการแข่งขันกีฬาเรือพายซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่ประเทศเวียดนาม จนในวงการกีฬาเรือพายเมืองไทยระบุว่า “กีฬาเรือพายเมืองไทยค่ายครูมลรักษ์ไร้เทียมทาน” และตอนนี้นักกีฬาอีก 2 คน ก็ได้รับการคัดเลือกให้เข้าเก็บตัวฝึกซ้อมเพื่อเข้าร่วมแข่งขันกีฬาเรือพาย “เรือมังกร” ชิงแชมป์โลกที่ประเทศฮ่องกงในเร็วๆ นี้
คอลัมน์ : นิยายชีวิต โดย : อสงไขย
เรื่องและภาพโดย : ไพฑูรย์ อินทศิลา จ.นครศรีธรรมราช
แนะนำเรื่องราวชีวิตดั่งนิยาย หรือสอบถามได้ที่ [email protected]
[[คลิก]] อ่านเรื่องราว “นิยายชีวิต” เพิ่มเติมได้ที่นี่..