ขึ้นชื่อว่าการไม่มีโรค ย่อมเป็นลาภอันประเสริฐ แต่หากจะห้ามการเจ็บป่วยได้นั้น ถึงแม้เราจะต้องการ แต่ก็เป็นเรื่องที่ยากยิ่งที่จะห้ามให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะอาการที่มาตามอายุที่เพิ่มขึ้น หรือไม่ว่าจะเป็นความอ้วน เจ็บปวด จนเกิดความเครียดต่างๆ
วันนี้ Healthy Clean จึงขอพามาพูดคุยกับ นพ.วิทยา วันเพ็ญ โรงงพยาบาลพระรามเก้า อธิบายว่า “ความเสื่อม ความปวด ความอ้วน ความเครียด เป็นจุดเริ่มต้นของสัญญาณเตือนอย่างหนึ่ง ที่หากได้รับการดูแลรักษาตั้งแต่เริ่มมีอาการ จะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยหนักได้ ดังนั้น การสังเกตอาการและดูแลจัดการเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหนักตามมาในอนาคต จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ที่ไม่ควรมองข้าม โดยกล่าวได้ดังนี้ คือ
-ความเสื่อม
ประเทศไทยเรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) หรือสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้จะมีความเสื่อมตามวัย หรือบางท่านอาจจะมีความเสื่อมเร็วกว่าคนทั่วไป ทั้งนี้ ปัญหาความเสื่อมมีมากมายหลากหลาย อาทิ สมองเสื่อม, ปัญหาการมองเห็น เช่น ต้อกระจก, ปัญหาการได้ยิน, ปัญหาการทำงานของตับ ไต, หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง มีความตีบตัน การทำงานของปอดลดลงจากถุงลมโป่งพอง, ต่อมลูกหมากโต, มดลูกหย่อน, ปัญหากระดูกเสื่อม เข่าเสื่อม กระดูกสันหลังเสื่อม, การเสื่อมสมรรถนะทางเพศ และความเสื่อมอื่น ๆ อีกมากมาย
การดูแลร่างกายเพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นและความแข็งแรงให้ร่างกายอย่างสม่ำเสมอ จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยลดความเสี่ยงของอาการ “เสื่อม” อันนำมาสู่จุดเริ่มต้นของการเกิดโรคต่างๆ
-ความปวด
ปัจจุบันมีอาการปวดอื่นๆ ในร่างกายที่เราสามารถพบได้บ่อย ไม่ว่าจะเป็น การปวดศีรษะ ไมเกรน การปวดท้องจากกระเพาะอาหารอักเสบ กรดไหลย้อน นิ่วในถุงน้ำดี การปวดตาจากการจ้องคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์นาน ๆ การปวดท้องประจำเดือน การปวดหลังจากการนั่งท่าเดิมนาน ๆ หรือในผู้สูงอายุ ที่มีปัญหาเข่าเสื่อม กระดูกสันหลังเสื่อม ก็จะมีความปวดที่เรื้อรัง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคนี้ ยุคดิจิทัลที่จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงาน มักจะพบปัญหาความปวดกล้ามเนื้อ คอ บ่า ไหล่ จากภาวะออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) มากขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด (Myofascial Pain Syndrome) เนื่องมาจากรูปแบบการทำงานที่ใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำๆ เป็นระยะเวลานานต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบและปวดเมื่อยตามอวัยวะต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งหากได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องในการออกกำลังกาย ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสมขณะทำงาน จะบรรเทาและลดอาการปวดได้พอสมควร
-ความอ้วน
จากข้อมูลในปี 2564 ที่ผ่านมา โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. (เครือข่ายคนไทยไร้พุง) ให้ข้อมูลว่า คนไทยเป็นโรคอ้วนลงพุงสูงถึง 20.8 ล้านราย และด้วยไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตในปัจจุบันที่มีการทำงานอยู่กับที่ และการรับประทานอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง ทำให้ขาดความสมดุลระหว่างการรับเข้าและการระบายออก เกิดไขมันสะสม ซึ่งนำไปสู่ปัญหาตามมาเช่น ปวดเข่า ปวดหลัง เหนื่อยง่าย เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันสูง และร้ายแรงที่สุดคือการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นภัยคุกคามชีวิตทั้งสิ้น
การออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อย 30-40 นาทีต่อวัน พักผ่อนให้เพียงพอ การปรับพฤติกรรมการควบคุมสิ่งกระตุ้น เพื่อส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ การจัดการความเครียด ผ่อนคลาย และทำจิตใจให้แจ่มใส เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้การลดหนักมีประสิทธิภาพมากขึ้น
-ความเครียด
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในยุคปัจจุบัน เราพบว่าในสังคมมีความเครียดสูงขึ้น ตั้งแต่เด็กและวัยรุ่น วัยทำงาน รวมไปถึงวัยสูงอายุ จากสภาพสังคมในปัจจุบัน โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ทำให้เรามีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ต้องอยู่ในสภาพที่แยกกันอยู่ ลดการมีปฏิสัมพันธ์ในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน ลดกิจกรรมสังสรรค์การเดินทางท่องเที่ยว และยังมีปัญหาสภาพเศรษฐกิจ สังคม การใช้ social media ที่ทำให้เกิดความเครียดได้มากขึ้น
โดยความเครียดนี้ สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งแบบเฉียบพลัน (acute stress) และแบบความเครียดเรื้อรัง (chronic stress) สามารถเกิดขึ้นได้ ทั้งจากปัจจัยภายนอกร่างกาย และจากปัจจัยภายในร่างกาย ซึ่งหากปล่อยให้เกิดความเครียดอยู่ในระดับที่สูงเกินไป (toxic stress) จะเป็นสาเหตุก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมาได้ทั้งสิ้น ดังนั้น เราจึงควรเรียนรู้ในการบริหารจัดการความเครียดให้ตรงจุด โดยการปฏิบัติตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ รับรู้ที่จะยอมรับความปรับเปลี่ยนที่ไม่สามารถควบคุมได้อย่างเข้าใจและผ่อนคลาย ใช้ชีวิตอย่างยืดหยุ่น จะช่วยให้เรารับมือ กับความเปลี่ยนแปลงที่ก่อให้เกิดความเครียดได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
“ปัญหาความเสื่อม ความปวด ความอ้วน ความเครียด ล้วนเป็นเรื่องใกล้ตัว หากใส่ใจสังเกตอาการตัวเองและคนรอบข้างใกล้ชิด และรีบจัดการปัญหาตั้งแต่เนิ่นๆ จะสามารถนำไปสู่ผลลัพธ์การมีสุขภาพที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจได้ และการรักษาโรคที่ดีที่สุด คือการป้องกันไม่ให้เกิดโรค หรือรีบจัดการเมื่อเริ่มมีอาการผิดปกติ เป็นแนวโน้มการดูแลสุขภาพสำหรับคนรุ่นใหม่ และแม้แต่กลุ่มที่เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ก็ยังมีการดูแลสุขภาพที่ดีขึ้น ด้วยการตรวจสุขภาพประจำปี และการไม่ปล่อยให้อาการลุกลามไปจนถึงจุดที่จะแก้ไขได้ยาก” นพ.วิทยา ทิ้งท้าย..
………………………………………….
คอลัมน์ : Healthy Clean
โดย “พรรณรวี พิศาภาคย์”