“เจอโควิด…ชีวิตผมเลยเปลี่ยน“ …เป็นเหตุผลที่ “หนุ่มหล่อหุ่นดี มีดีกรีปริญญาจุฬาฯ” รายนี้บอกกับเรา จากเส้นทางชีวิต “อาชีพเทรนเนอร์ฟิตเนส” พลิกผันมาเป็น “พ่อค้าบัวลอยไข่หวาน” ที่เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ชีวิตว่า… ไม่อายทำกิน…ชีวิตไม่สิ้น-ไม่อดตาย ที่วันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” มีเรื่องราวชีวิตหนุ่มคนนี้มานำเสนอ…เรื่องราวของ “เฟิร์ส-วัชพล ทองมูลดี”

“วัชพล” หรือ “เฟิร์ส” เจ้าของเรื่องราวนี้ เล่าว่าปัจจุบันเขาอายุ 29 ปี และเป็นเจ้าของร้านบัวลอยไข่หวาน ซึ่งขายประจำอยู่บริเวณหน้าวัดประตูสาร จ.สุพรรณบุรี โดยครอบครัวมีธุรกิจขายบัวลอยไข่หวานสูตรโบราณของอาม่าอยู่แล้ว ซึ่งเป็นสูตรบัวลอยประจำตระกูลที่ทำขายมานานมากกว่า 60 ปี ทั้งนี้ กับเส้นทางชีวิตของเขา เฟิร์สเล่าว่า เป็นลูกชายคนเดียวของครอบครัว หลังจากเรียนจบ ม.ต้น ที่สุพรรณบุรี ก็สอบติดที่เตรียมอุดมศึกษา นนทบุรี ทำให้ในช่วงเรียนชั้น ม.ปลาย เขาต้องห่างบ้านมาใช้ชีวิตด้วยตัวเองคนเดียว โดยคุณพ่อคุณแม่ก็อยากให้เขาได้ลองใช้ชีวิตด้วยตัวเองดู จากนั้นเมื่อเรียนจบ ม.6 เขาก็สอบเข้าศึกษาต่อได้ที่คณะครุศาสตร์ สาขาสุขศึกษาและพลศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนเรียนจบระดับปริญญาตรี

เฟิร์ส พ่อค้าบัวลอย บอกว่า หลังเรียนจบ ตอนนั้นครอบครัวคิดอยากให้รับราชการ แต่เขากลับเลือกไปทำงานเอกชน โดยยึดอาชีพเป็นเทรนเนอร์ ซึ่งรายได้จากการเป็นเทรนเนอร์ตอนนั้น เขาบอกว่ารายได้ดีเลยทีเดียว โดยมีรายได้ต่อเดือนตกแล้ว 30,000 บาท ทำให้เขายังไม่อยากกลับไปช่วยธุรกิจขายบัวลอยของทางบ้าน โดยเขาทำอาชีพเทรนเนอร์นี้ได้ประมาณ 2 ปี ก็มาเจอกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ฟิตเนสต่าง ๆ ต้องพากันปิดให้บริการหมด เขาก็เลยได้กลับบ้านสมใจคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งจังหวะที่กลับมาอยู่บ้านนั้น เขาก็ได้คุยกับคุณพ่อคุณแม่อย่างจริงจังว่า อนาคตตัวเขาจะไปทางไหนต่อ จะอยู่กรุงเทพฯ เพื่อทำตามความฝันต่อไหม หรือจะกลับบ้านแล้วมาสานต่อธุรกิจบัวลอย เนื่องจากคุณพ่อคุณแม่อายุเยอะแล้ว โดยเฉพาะอาม่าที่อยากให้เขากลับมามากที่สุด

ไม่ทราบเพราะอะไรอาม่าจึงอยากให้เรากลับมาช่วย อาจเพราะท่านเห็นเราช่วยทำบัวลอยมาตั้งแต่เด็กๆ อีกอย่างมองเห็นพ่อกับแม่อายุมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็เลยคิดว่าคงถึงเวลาที่จะกลับมาช่วยท่านได้แล้ว เพื่อแบ่งเบาภาระของท่าน เพราะตลอดเวลาท่านก็ลำบากทำงานหาเงินส่งเราให้เรียนจนจบ จนท่านทั้งสองคนไม่เคยได้พักได้เที่ยวกันเลย เราก็เลยอยากกลับมาให้ท่านทั้งสองได้เที่ยวได้พักผ่อนบ้าง ผมจึงตัดสินใจกลับบ้านมา

พ่อค้าบัวลอยเล่าให้ฟังถึงจุดที่ทำให้ตัดสินใจกลับมาบ้านจริงจัง ก่อนบอกอีกว่า จริง ๆ ตัวเขาก็คิดทบทวนอย่างหนัก เพราะส่วนตัวแล้วอยากทำงานในสิ่งที่ได้เรียนมา แต่พอสถานการณ์เปลี่ยนแปลง ก็ส่งผลทำให้ความฝันและความคิดเปลี่ยนไป ซึ่งเฟิร์สยอมรับว่าความจริงแล้วตอนทำงานอยู่กรุงเทพฯ เขาไม่เคยคิดว่าจะกลับมารับช่วงกิจการบัวลอยของทางบ้านเลย เพราะมุ่งเน้นไปทางสายงานที่เรียนมา อีกทั้งเป็นคนชอบเล่นกีฬาและออกกำลังกาย จึงได้เป็นนักกีฬาฟุตบอลของจุฬาฯ และตอนนั้นตัวของเขาก็มีความฝันที่อยากจะเป็นนักกีฬาทีมชาติ แต่มาประสบปัญหาบาดเจ็บที่เข่า ต้องพักรักษาตัวนานก็เลยขาดช่วง ความฝันจึงเปลี่ยนไป โดยเมื่อเป็นนักกีฬาไม่ได้ เขาก็เลยผันตัวไปเป็นคนดูแลและพัฒนานักกีฬาแทน

สำหรับ “ชีวิตพ่อค้าบัวลอย” นั้น เฟิร์สเล่าว่า เกิดจาก อาม่าบอกว่า อยากให้เขาลองทำตรงนี้ให้เต็มที่ เพื่อให้รู้ทุกอย่าง รู้ทุกกระบวนการสัก 2-3 ปี แล้วอาม่าก็เชื่อว่าตัวของเขาจะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงกับอาชีพนี้ ซึ่งสิ่งที่อาม่าสอนนี้ เขานำกลับมานั่งคิดทบทวน ทำให้รู้ว่า อาม่าอยากให้เขาเป็นคนที่ “รู้อะไรต้องรู้ลึกรู้จริง” ไม่ใช่รู้แค่ผิวเผิน และสอนเขาว่า “อย่าทำอะไรด้วยความเร่งรัดรีบร้อนเกินไป” เพราะจะล้มหรือพังไม่เป็นท่าได้ง่าย ๆ

ยอมรับว่าเคยดื้อรั้น ที่บ้านเตือนอะไรก็ไม่ฟัง เพราะอยากพิสูจน์ตัวเองว่าเราทำได้ แต่ลืมไปว่าทุกอย่างต้องคิดให้รอบคอบ ต้องมีประสบการณ์ และฟังผู้ใหญ่บ้าง ตอนนั้นผมจึงเอาเงินเก็บมาเปิดร้านอาหาร มีดนตรีฟังนั่งชิลชิล ตามสไตล์ความคิดของวัยรุ่น ที่สุดก็เจ๊ง มันเลยเป็นประสบการณ์ล้ำค่า ทำให้เราไม่อยากจะล้มแบบนั้นอีก แต่ตอนนั้นก็เปิดร้านพร้อมกับทำร้านบัวลอยคู่กันไปแล้วนะครับ เขาเล่าถึง “จุดพลิกชีวิต” ให้เราฟัง

“อาม่า” เจ้าของสูตรบัวลอยที่พลิกชีวิตเฟิร์ส

ส่วนการมาสานต่อกิจการบัวลอยไข่หวานนี้ เขาบอกว่า ก่อนหน้านั้นคุณพ่อคุณแม่เองก็รับมรดกการขายบัวลอยมาจาก อาม่า จนตกมาถึงเขา ที่ในวันนี้นับเป็นรุ่นที่ 3 แล้ว โดยกระบวนการและสูตรยังคงเหมือนเดิม แต่ที่มีเพิ่มขึ้นมาก็คือ การนำเครื่องมือและอุปกรณ์ รวมถึงเทคโนโลยีที่คนรุ่นใหม่ถนัด มาช่วยทำให้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องทำมือทุกขั้นตอนเหมือนสมัยอาม่า นอกจากนี้เขายังเพิ่มยอดขายโดยใช้ช่องทางสื่อโซเชียลเพื่อโปรโมตขนมบัวลอยของเขาด้วย

ก็ใช้สิทธิในฐานะที่เป็นศิษย์เก่า ก็เอาไปลงโปรโมตในเพจ cu marketplace จนมีคนเอาไปแชร์ต่อกัน ทำให้มีคนรู้จักเพิ่มขึ้น เป็น “จุดเปลี่ยน” ที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวกลายเป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงกว้าง

เขาบอกต่อไปว่า “จุดขาย” ของบัวลอยสูตรอาม่านั้น คนที่เคยกินจะบอกเหมือนกันถึงรสชาติที่เข้มข้น ซึ่งอาม่าจะทำสดใหม่เองทุก ๆ วัน กะทิก็จะคั้นสด ๆ และแป้งต้องทำสด ๆ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ยังคงขายมาได้นานกว่า 60 ปี โดยที่ลูกค้ายังแน่นร้านเหมือนเดิม เฟิร์สเล่าอีกว่า หลังจากที่กลับมาช่วยขายบัวลอย เขาก็พยายามประยุกต์ใช้สิ่งใหม่ ๆ ที่เขาถนัดมาผสานกับธุรกิจบัวลอยของทางบ้าน เช่น ช่องทางออนไลน์ ที่เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวทุกคน เพราะเข้าถึงได้ง่าย จนเป็นโอกาสให้เขาได้โปรโมตขายสินค้าของตัวเองโดยไม่ต้องลงทุน จนกลายมาเป็นโอกาสที่ร้านเล็ก ๆ แบบเขาจะเป็นที่รู้จักและขายสินค้าได้มากขึ้น เพราะถ้าเป็นในอดีต ต่อให้อร่อยแค่ไหนก็ได้แค่บอกกันปากต่อปาก โอกาสที่คนจะได้รู้จักทั่วประเทศในเวลารวดเร็วแบบนี้แทบเป็นไปไม่ได้เลย

กับคุณพ่อและคุณแม่วันรับปริญญาที่จุฬาฯ

เมื่อถามถึง “รายได้จากบัวลอย” เฟิร์สเล่าว่า ปกติลูกค้าบัวลอยไข่หวานเยอะมาตั้งแต่สมัยอาม่าขาย พอผ่านมายุคคุณพ่อคุณแม่รับช่วงต่อ ก็ยังขายได้เยอะเหมือนเดิม แต่ลูกค้าส่วนใหญ่จะรู้จักและกินกันมาตั้งแต่ยุคอาม่า ซึ่งจะรู้จักกันแบบปากต่อปาก และเป็นคนในสุพรรณบุรีเป็นหลัก โดยยอดขายวัน ๆ หนึ่งจะอยู่ที่ไม่เกิน 5,000 บาท แต่เมื่อมาถึงรุ่นเขา ที่ได้มีการใช้หลายช่องทางมาช่วย ปรากฏตอนนี้มียอดขายบางวันเป็นหลักหมื่นบาท

เราไม่ได้ขายแค่หน้าร้าน แต่ยังรับออกงานนอกสถานที่ด้วย พอมีคนรู้จักผ่านโซเชียลก็มีคนมาสั่งให้ไปออกร้านงานต่าง ๆ มากขึ้น ประกอบกับมีฟู้ดดิลิเวอรี่ในพื้นที่ ทำให้จากเคยขายได้เต็มที่วันละ 5,000 บาทหน้าร้าน ยอดขายก็เพิ่มขึ้นอีก เคยสูงถึงวันละ 20,000 บาทก็มี เพราะคนรู้จักมากขึ้น ก็ทำให้ขายได้มากขึ้น เขาบอกเรื่องนี้

ทั้งนี้ เฟิร์สยังบอกว่า ก่อนหน้าที่จะประสบความสำเร็จนั้น เคยถูกดูถูกมาสารพัด แต่ก็นำคำดูถูกมาเป็นแรงผลักดัน จนสามารถมาถึงวันนี้ได้ โดยเขาเล่าว่า หลังจากตัดสินใจมาขายบัวลอย คนในพื้นที่ก็มองว่าเรียนจบมาตั้งสูง ทำไมมาขายบัวลอย แต่เขาก็ไม่ได้รู้สึกอะไรกับคำพูดเหล่านั้น และเปลี่ยนเป็นแรงผลักดัน เพื่อแสดงให้คนเหล่านั้นเห็นว่า การขายบัวลอยไม่ใช่อาชีพที่ใครจะมาดูถูกได้ เพราะทำให้ได้จับเงินแสนเงินล้านได้เหมือนกัน และอยากพิสูจน์ให้คนเห็นว่า ขายบัวลอยก็รวยได้เช่นกัน

สมัยเป็นเทรนเนอร์ฟิตเนส

ตอนกลับมาขายใหม่ ๆ โดนสบประมาทเยอะว่าจบมหาวิทยาลัยดังมา ทำไมไม่ทำอย่างอื่นล่ะ มาขายของทำไม หรือบางคนก็ประชดว่า ลูกเขาไม่จบที่ดัง ๆ แต่ได้ทำงานดี ๆ กว่าเราก็มี แต่เราไม่โกรธแค้นอะไรนะ ไม่ต่อล้อต่อเถียง เพราะเราอยากให้รอดูดีกว่าว่าชีวิตผมจะเป็นยังไง ทุกอย่างต้องพิสูจน์ด้วยการกระทำ ผมบอกเลย ไม่อายที่ขายบัวลอย เพราะเป็นอาชีพของตระกูลที่ส่งเสียเราจนเรียนจบ และคิดว่าผมสามารถพัฒนาต่อยอดตรงนี้ได้ ถ้าเราตั้งใจหรือจริงจัง ในมุมมองผมคิดว่าถ้าอาชีพขายบัวลอยไม่ดีจริง อาม่าหรือพ่อแม่ผมคงไม่ทำมานานขนาดนี้ จนมีกินมีใช้ มีบ้าน มีรถ ส่งลูกเรียนจนจบมหาวิทยาลัย เฟิร์ส บอกเรื่องนี้ด้วยน้ำเสียงที่มุ่งมั่น พร้อมกับบอกว่า ถ้าย้อนกลับไปได้ ผมเรียนจบแล้วก็จะกลับมาทำตรงนี้เลย เพราะถ้าเริ่มเร็ว เราอาจจะได้ไปไกลกว่านี้ก็ได้ แต่ก็ไม่ได้เสียดายชีวิตช่วงที่ผ่านมา เพราะเป็นประสบการณ์ชีวิต เพราะอย่างน้อยก็ได้ลองอยู่ในองค์กรที่มีเจ้านาย เราเป็นลูกน้อง อะไรแบบนี้ 

ก่อนจบการสนทนากัน “พ่อค้าบัวลอยหนุ่มดีกรีปริญญาจุฬาฯ” ที่ชื่อ “เฟิร์ส-วัชพล ฝากถึงคนที่ตกงาน-คนที่ไม่มีงานทำ ผ่าน “ทีมวิถีชีวิต” มาว่า งานขายของไม่ใช่อาชีพน่าอาย สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ แถมเป็นนายตัวเอง อีกทั้งยังได้จับเงินทุกวันอีกด้วย ซึ่งไม่จำเป็นต้องเชื่อความคิดนี้ของเขา แต่ขอให้ “ตั้งใจจริงและลงมือทำเต็มที่” แล้วถึงวันหนึ่งทุก ๆ คนนั้นก็จะ…

“พบกับความสำเร็จได้”

จาก ‘เคยล้ม’ เปลี่ยนสู่ ‘ความภูมิใจ’

สำหรับ “ร้านบัวลอยไข่หวาน” ของ “เฟิร์ส-วัชพล” นั้น เปิดขายเกือบทุกวัน หยุดทุกวันจันทร์ โดยจะตั้งร้านขายตั้งแต่บ่าย  3 โมงไปจนถึงราว ๆ 2 ทุ่มครึ่ง โดยใช้เวลาขายเพียง 3-4 ชั่วโมงก็มักจะหมดแล้ว และต้องจองคิวกัน บวกกับคนขายเป็นหนุ่มหล่อหน้าตาดีหุ่นดี จึงมีคนนำไปแชร์ต่อ ๆ กัน จนกลายเป็นกระแสในโซเชียล อย่างไรก็ดี เฟิร์สมีความฝันของเขาว่า อยากทำให้ร้านเป็นร้านมาตรฐานถาวร เนื่องจากร้านรถเข็นเวลาฝนตกจะลำบาก และมีเวลาขายจำกัด ถ้ามีที่ตั้งร้านถาวรจะเปิดขายทั้งวันหรือตอนไหนก็ได้ แถมไม่ต้องขนย้ายอุปกรณ์ แต่ตอนนี้ยังไม่ได้ทำ ต้องค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ ทำทีละสเต็ป เพราะเขามีประสบการณ์จากการทำร้านอาหารแล้วล้มมาแล้ว… แต่ก่อนจะได้จับเงินก็ต้องรอสิ้นเดือน วันเงินเดือนออก แต่ตอนนี้ได้จับเงินทุกวันเลย (หัวเราะ) ตอนนี้ภูมิใจมาก เวลาที่มีเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ แวะเวียนมาเยี่ยมมาชิมมาพูดคุย และขอถ่ายรูป ซึ่งอนาคตที่คิดวางแผนไว้คือ อยากสร้างมาตรฐานให้ดี และอาจขยายธุรกิจเป็นแฟรนไชส์ ไม่ก็ขยายสาขาเพิ่ม.

เชาวลี ชุมขำ : รายงาน