เสียงผู้คนบ่นกันในโลกออนไลน์ว่าน้ำมันขึ้นราคาอีกแล้ว ปรับขึ้นครั้งละ 40-50 สตางค์/ลิตร เดี๋ยวขึ้น เดี๋ยวขึ้น ขึ้นราคาต่อเนื่อง 3 ครั้ง แต่ลดราคาลงแค่ครั้งเดียว ไหนจะกระแสดราม่าในโลกโซเชียลว่าประเทศไทยมีแหล่งน้ำมันเยอะแยะ และขุดน้ำมันดิบขึ้นมาส่งขายออกไปต่างประเทศด้วย แต่ทำไมน้ำมันราคาแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน

วันนี้ทีมข่าว 1/4 Special Report จึงต้องคุยกับผู้เกี่ยวข้องโดยตรงอย่าง นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน หลังจากมีข่าวช่วงต้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ว่าจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ประกาศเชิญชวนให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจเขตพื้นที่บนบก หมายเลข L1/64 จำนวน 1 แปลง พื้นที่รวม 78.90 ตารางกิโลเมตร ในเขต จ.สุโขทัย กำแพงเพชร ในรูปแบบสัมปทาน นั้น

แหล่งน้ำมันใหญ่ “กำแพงเพชรสุโขทัยพิษณุโลก

นายสราวุธ กล่าวว่า การเปิดสัมปทานแหล่งน้ำมันบนบก ดังกล่าว เป็นโครงการต่อเนื่องจากเดิมที่หมดอายุสัมปทานไป คือสัมปทานเดิมอายุ 20 ปี แล้วบวกอีก 10 ปี เมื่อสิ้นสุดลงจึงเปิดสัมปทานใหม่ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวยังมีศักยภาพในการผลิตน้ำมันดิบ แม้จะมีปริมาณไม่มากก็ตาม ตรงนั้นถือว่าเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกับแหล่ง S1 (แหล่งสิริกิตติ์) ใกล้กับบ่อน้ำมันลานกระบือ จ.กำแพง เพชร ของ ปตท.สผ. เพราะเป็นพื้นที่คาบเกี่ยว 3 จังหวัด คือ กำแพงเพชร สุโขทัย และพิษณุโลก น่าจะเป็นแหล่งน้ำมันดิบบนบกขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศในเวลานี้

ส่วนแปลง L1/64 นั้น มีเอกชน 2 รายให้ความสนใจ คือ บริษัทซีเอ็นพีซีเอชเค (ไทยแลนด์) จำกัด และ บริษัท เอนเนอร์จี ไทย เทรดดิ้ง ฮับ ได้ยื่นคำขอสิทธิในแปลงสำรวจปิโตรเลียมแหล่งบนบกดังกล่าว คาดว่าสิ้นเดือน ก.ย.นี้ จะทราบผลว่าใครจะเป็นผู้ได้รับสัมปทาน เพื่อจะได้เดินหน้าต่อไป

โดยแปลง L1/64 จะมีกำลังผลิตวันละประมาณ 400 บาร์เรล/วัน น้อยกว่าที่ลานกระบือของ ปตท.สผ. ซึ่งมีกำลังการผลิตประมาณ 25,000 บาร์เรล/วัน ส่วนแหล่งอื่น ๆ ประมาณ 100-200-400-500 บาร์เรล/วัน โดยภาพรวมทั้งประเทศสามารถผลิตน้ำมันดิบจากบนบกและในทะเลได้ประมาณ 1 แสนบาร์เรล/วัน

ผลิตได้แค่ 10% อีก 90% ยังต้องนำเข้า!

ในขณะที่ทั้งประเทศมีความต้องการใช้น้ำมันดิบวันละ 1 ล้านบาร์เรล พูดง่าย ๆ ว่าเราผลิตน้ำมันดิบได้เอง 10% ส่วนอีก 90% ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ เพื่อกลั่นออกมาเป็นน้ำมันสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์   ต่าง ๆ เมื่อเป็นน้ำมันสำเร็จรูปออกจากโรงกลั่นแล้ว จะมีโครงสร้างภาษีอีกหลายประเภทเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ราคาน้ำมันแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับโครงสร้างทางภาษีของน้ำมันสำเร็จรูป

“น้ำมันดิบที่เราผลิตได้เองภายในประเทศวันละ 1 แสนบาร์เรล ไม่รวมกับบ่อน้ำมันฝาง จ.เชียงใหม่ ซึ่งตรงนั้นเป็นของกระทรวงกลาโหม เป็นน้ำมันของทหารซึ่งมีกฎหมายเฉพาะมาหลายสิบปีแล้ว ทางกรมเชื้อเพลิงฯไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง น้ำมันดิบตรงนั้นจึงไม่ได้เข้ามาอยู่ในระบบเรา เพราะทางการทหารจะผลิตเอง กลั่นเอง หรืออาจจะขายให้โรงกลั่น เพื่อนำกลับมาใช้เองเกี่ยวกับความมั่นคง ไว้ใช้ในกิจการของกองทัพ แต่กำลังการผลิตไม่มาก เท่าที่ทราบช่วงพีคสุดประมาณวันละ 900 บาร์เรล”

อาจมีน้ำมันดิบส่งออก-โรงกลั่นไม่อยากได้

เมื่อถามถึงกระแสดราม่าว่าประเทศไทยส่งออกน้ำมันดิบไปต่างประเทศด้วย นายสราวุธกล่าวว่าถ้ามีก็คงปริมาณไม่มากนัก อาจจะเป็นประเภทที่ไม่ได้คุณภาพ มาตรฐาน และปริมาณ ซึ่งทางโรงกลั่นน้ำมันเขาไม่อยากได้มากกว่า คือต้องบอกว่าตอนนี้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในบ้านเรามีแต่จะลดลงทุกปี เนื่องจากเรากินบุญเก่ามา 13-14 ปีแล้ว เนื่องจากไม่มีการเปิดสัมปทานสำรวจและผลิตเพิ่มเติมขึ้นมาเลย หลังจากมีการเปิดสัมปทานจริง ๆ เมื่อปี 50 หลังจากนั้นไม่มีเปิดสัมปทานอีกเลย ตนไม่เข้าใจว่าเป็นเพราะอะไร พอทำท่าจะเปิดสัมปทานก็มักจะมีการประท้วงกันในเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม หรืออะไรต่าง ๆ

แต่ตรรกะง่าย ๆ ของทุกประเทศ เขาจะดูก่อนว่าสิ่งที่เราต้องใช้ทุกวัน น้ำมันทุกหยดที่ต้องใช้ ถ้าเราสามารถผลิตได้เอง โดยไม่ต้องนำเข้า เราก็ต้องพยายามหาช่องทางในการผลิตเอง แม้จะมีปริมาณไม่มากก็ตาม ส่วนประเทศไทยยังมีศักยภาพในการผลิต แต่เจอประท้วง จึงต้องหยุดมา 13-14 ปี ไม่รู้ว่าอยู่กันมาได้อย่างไร

สมมุติเราขุดน้ำมันดิบขึ้นมาได้   1 หมื่นบาร์เรล/วัน คิดราคาถูกสุด ๆ บาร์เรลละ 60 ดอลลาร์ ดังนั้น 1 หมื่นบาร์เรล/วัน สามารถประหยัดเงินเพื่อนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศไปได้วันละ 20 ล้านบาท ถ้าเราผลิตเองจะได้ค่าภาคหลวงกลับมาทันที 10% คือ 2 ล้านบาท ได้ภาษีประเภทต่าง ๆ รวมแล้วได้เงินกลับเข้ารัฐประมาณ 6 ล้านบาท (จาก 20 ล้านบาท) ช่วยให้มีการจ้างงาน มีการสร้างอาชีพขึ้นในพื้นที่ ประเทศที่มีศักยภาพเขาทำแบบนี้กันทั้งนั้น จะขุดน้ำมันดิบได้ในปริมาณมากหรือน้อย บริษัทเอกชนเป็นผู้ลงทุน เป็นคนเสี่ยง รัฐไม่ได้เสี่ยง

ควรเปิดสัมปทานในพื้นที่ที่มีศักยภาพ

ยิ่งตอนนี้เทคโนโลยีก้าวหน้าไปไกลแล้ว รัฐจึงควรเปิดสัมปทาน เพราะยังมีพื้นที่ที่มีศักยภาพอีกหลายแปลงสามารถสำรวจได้ อาจเจออะไรดี ๆ เนื่องจากเทคโนโลยีปัจจุบันทันสมัยกว่าเมื่อปี 50 มากแล้ว ปัจจุบันแม้จะมีโควิด-19 แต่การผลิตและนำเข้าน้ำมันดิบไม่ได้ลดลง ตัวเลขยังอยู่ในระดับปกติ ส่วนการผลิตก๊าซธรรมชาติปีที่แล้วอาจลดลงเล็กน้อย แต่ปีนี้กลับผลิตไม่ทัน เนื่องจากคนต้องทำงานอยู่ที่บ้านกันมาก จึงใช้ไฟฟ้ามาก และก๊าซยังเป็นแหล่งเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของประเทศ

ยกตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา สมัยประธานาธิบดีบุช เขามองการณ์ไกลเรื่องสุขภาพ เรื่องพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมัน ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกผันผวนตลอด และต้องพึ่งพาแหล่งใหญ่คือตะวันออกกลาง อเมริกาจึงศึกษาวิจัย ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยกับแหล่งทรัพยากรที่มีในประเทศ หลังจากนั้นจึงมีผลงานสำคัญในระดับโลกออกมา 2 เรื่อง คือ 1.สเต็มเซลล์ 2.พลังงาน ซึ่งพัฒนามาเป็นเชลล์ ออยล์-แก๊ส (Shale oil & Gas) ถือเป็นการปฏิวัติวงการน้ำมันโลก ทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกร่วงลงมาแบบถล่มทลาย แต่สำหรับประเทศไทยทำในพื้นที่ที่มีศักยภาพก่อน ยังไม่ต้องไปไกลถึงขนาดเชลล์ ออยล์-แก๊ส

เมื่อถามเกี่ยวกับแหล่งน้ำมัน-ก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกล่าวว่า เราต้องรีบคุยกับประเทศกัมพูชา เนื่องจากโครงการลักษณะนี้ต้องใช้เวลานานมาก เช่นโครงการระหว่างไทย-มาเลเซีย เราใช้เวลาคุยกัน 21 ปี แต่ไทย-กัมพูชา ทุกอย่างมีพร้อมแล้ว เทคโนโลยีทันสมัยกว่าเมื่อก่อนมาก เก่ง ๆ เลยตนให้เวลา 10 ปี กว่าจะสำเร็จออกมาในเชิงพาณิชย์

เนื่องจากมีขั้นตอนต่าง ๆ มากมาย ต้องผ่านสภา ต้องลงสัตยาบันระหว่างประเทศ ต้องออกเป็นกฎหมายย่อย คือกลับไป   ที่สภาอีก กว่าจะประมูล นับเล่น ๆ ไปอีก 10 ปีข้างหน้า บทบาทและความสำคัญของน้ำมันอาจลดลงไปมากแล้ว ถ้าบ้านเราหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) กันมาก ๆ แต่ถึงอย่างไรก็ต้องรีบคุยกัน 2 ประเทศ เพราะทรัพยากรอยู่ใต้ทะเล ถ้าไม่รีบขุดขึ้นมาใช้ก็เปล่าประโยชน์.