ซึ่งรวมถึง “พรรคประชาธิปัตย์” ที่เร่งจัดสรรพกำลังสู้ศึกสำคัญครั้งนี้เช่นกัน “ทีมการเมืองเดลินิวส์” จึงมาสนทนากับหนึ่งในแม่ทัพคนสำคัญอย่าง “นิพนธ์ บุญญามณี” รองหัวหน้าพรรค และผู้อำนวยการการเลือกตั้ง ปชป. ถึงความเตรียมพร้อมการจัดทัพและการวางเป้าหมายสำหรับการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งที่จะถึงนี้ โดยมีคู่แข่งมากขึ้นกว่าเดิม

ผอ.การเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เปิดฉากกล่าวว่า ปชป.เตรียมพร้อมมาระยะเวลาหนึ่งแล้วด้วยการจัดวางตัวผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. โดยคราวนี้มีเขตเลือกตั้งมากขึ้นเป็น 400 เขต และมี ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ 100 คน รวมเป็น 500 คน โดยในส่วนของส.ส.เขต เรามีพื้นที่เป้าหมาย 100 เขต ซึ่งได้ตัวผู้สมัครครบแล้ว ทั้งนี้ เราตั้งเป้าในการเลือกตั้งรอบนี้ว่าขั้นต่ำน่าจะได้ ส.ส.ทั้งระบบเขตและบัญชีรายชื่อรวมกัน 70-80 ที่นั่ง โดยฐานหลักอย่างภาคใต้ คราวที่แล้วเราได้ ส.ส. 22 ที่นั่ง จากทั้งหมด 50 ที่นั่ง แต่คราวนี้จำนวน ส.ส.ในภาคใต้ทั้งหมดมี 58 ที่นั่ง เราคิดว่าต้องทำให้ได้ 40 ที่นั่ง ส่วนภาคกลางตั้งเป้าว่าจะทำให้ได้ 18-20 ที่นั่ง จากเดิมที่ได้ 9 ที่นั่ง

ขณะที่ กรุงเทพมหานคร เราเอาผลการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) มาเทียบดูแล้วคิดว่าน่าจะได้ ส.ส. 7-8 ที่นั่ง จากจำนวนทั้งหมด 33 ที่นั่ง ส่วนภาคเหนือ เดิมเราได้ ส.ส. 1 คน แต่จากการที่บรรดาอดีต ส.ส.ของเรายังทำงานการเมืองในพื้นที่มาตลอด และมีรัฐมนตรีของพรรคฯร่วมลงพื้นที่ จึงมั่นใจว่าครั้งนี้จะได้ ส.ส.ภาคเหนือมากกว่า 1 ที่นั่งอย่างแน่นอน ส่วนภาคอีสานมั่นใจว่า จะได้ ส.ส.เพิ่มเช่นกัน การตั้งเป้าภาพรวมเช่นนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายประกันรายได้เกษตรกร ที่ทำให้เกษตรกรได้รับการดูแลด้วยเงินส่วนต่างของราคาสินค้าเกษตร จึงมั่นใจว่านโยบายนี้จะทำให้เกษตรกรเข้าใจ ปชป.มากขึ้น

ในการเลือกตั้งรอบหน้าถือเป็นสงครามครั้งใหม่ที่เป็นการแข่งขันกันนำเสนอการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน พรรคประชาธิปัตย์ จึงกำลังพิจารณาขยายการประกันรายได้ไปยังกลุ่มอาชีพอื่นๆ เช่น กลุ่มแรงงาน โดยเราต้องดูภาระงบประมาณประกอบกันในการทำนโยบาย ขณะเดียวกันเราก็คิดวางแผนเรื่องการดำเนินโครงการเมกะโปรเจคท์ในการพัฒนาประเทศและต้องเชื่อมโยงการค้าระหว่างประเทศ

@ อะไรที่ทำให้มั่นใจในการตั้งเป้าหมายนี้ ทั้งที่ ปชป.มีเลือดเก่าไหลออกมาก ซึ่งหลายคนจะมาสู้กับเลือดใหม่ของพรรคฯ

ที่เรามั่นใจอย่างนั้น เพราะเราผ่านวิกฤติมาหลายครั้ง ทั้งเหตุการณ์ “กลุ่ม 10 มกรา” เมื่อปี 2530 ซึ่งความขัดแย้งใน ปชป.ครั้งนั้นรุนแรงมาก เพราะเป็นการนำคนออกไปเกือบครึ่งพรรค แต่ในที่สุดเราก็ฟื้นกลับมาได้ และยังมีเหตุการณ์ที่ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ลาออกจากพรรค รวมถึงกรณีที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ออกจากพรรคฯไป ล้วนเป็นเหตุการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ที่เราไม่อยากให้เกิด แต่เราก็กอบกู้มาได้ สำหรับครั้งนี้เราก็มั่นใจ เพราะฐานที่มั่นไม่ได้ไปตามคนที่ออกจากพรรคฯ เพียงแต่ขอให้เรามีเวลาทำความเข้าใจกับประชาชน และบุคลากรของพรรคที่ยังยืนหยัดอยู่เป็นผู้ที่สะสมประสบการณ์ทางการเมืองมาอย่างยาวนาน อีกทั้งเราเปิดให้คนรุ่นใหม่เข้ามาซึ่งหลายคนพร้อมเก็บเกี่ยวประสบการณ์ เมื่อถึงวันหนึ่ง พวกเขาต้องเป็นผู้นำพาพรรคในวันข้างหน้า นี่คือความเป็นสถาบันทางการเมืองที่เป็นจุดแข็งของเรา เราไม่ได้เป็นพรรคที่ฝากความหวังไว้กับใครคนใดคนหนึ่ง และบุคลากรของเรามีคุณภาพ เมื่อเราได้มาทำหน้าที่เป็นรัฐบาล ก็สามารถดูแลทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านการเมือง สิ่งเหล่านี้มีอยู่ครบใน ปชป.

ถ้าเราเชื่อมั่นในพรรคและทุกคนสามัคคีช่วยกัน ก็จะสามารถเดินไปข้างหน้าด้วยกัน ยกตัวอย่างการเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อปี 2535 ที่นายชวน หลีกภัย นำ ปชป.ลงสนามเลือกตั้ง ได้ ส.ส. 46 คน ต่อมาในการเลือกตั้งครั้งที่ 2 ในปีเดียวกัน เรา ได้ ส.ส. 79 คน ทำให้เราได้เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล และนายชวนได้เป็นนายกรัฐมนตรี นี่จึงเป็นสิ่งที่บอกว่า ปชป.เคยล้มแล้วและลุกขึ้นได้ โดยเราต้องรีบทบทวนข้อผิดพลาดของตัวเอง อย่าไปเดินซ้ำ

@ การเสนอชื่อผู้ชิงตำแหน่งนายกฯ ปชป.จะส่งชื่อใครอีกหรือไม่นอกจากชื่อของหัวหน้าพรรคฯ

โดยหลักต้องเสนอชื่อหัวหน้าพรรค คือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และเรามีอดีตหัวหน้าพรรค 3 คน ที่ยังช่วยงานเราอยู่ ทั้ง นายชวน นายบัญญัติ บรรทัดฐาน และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส่วนจะมีชื่อคนอื่นด้วยหรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่คณะกรรมการบริหารพรรคต้องตัดสินใจ

ที่จริง นายจุรินทร์ เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ทางการเมืองมาอย่างยาวนาน เป็น ส.ส.11 สมัย เป็นรัฐมนตรีมาแล้วหลายกระทรวง ตอนนี้ได้เป็นรองนายกฯ ด้วย เคยเป็นประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ประธานวิปฝ่ายค้าน และขณะนี้นายจุรินทร์บริหารงานกระทรวงพาณิชย์มา 3 ปีกว่า ทำได้ดีหลายเรื่อง ดังนั้นด้วยประสบการณ์ต่างๆ เชื่อมั่นได้ว่านายจุรินทร์สามารถบริหารประเทศ แม้ไม่ได้จบด้านเศรษฐศาสตร์ คนมาเป็นนายกฯในเวลานี้ไม่จำเป็นต้องเป็นคนเก่งเรื่องเศรษฐกิจ แต่ขอให้เข้าใจในเรื่องเศรษฐกิจและบริหารงานได้ เข้าใจบริบทของประเทศ

@ ตอนนี้ต้องยอมรับว่าแม้พรรคประชาธิปัตย์มีความพร้อม แต่ถูกมองว่ามีกระแสเบามาก

เรายอมรับและต้องเร่งสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนให้ได้ว่า ถ้าเลือก ปชป.แล้ว เราจะพาประเทศเดินไปในทางไหน จะก้าวข้ามกับดักทางรายได้และข้ามวิกฤติความขัดแย้งระหว่างประเทศได้อย่างไร โดยในการทำนโยบายของ ปชป.ไม่ได้คิดแค่หวังให้ได้คะแนนเสียง แต่ต้องวางรากฐาน สร้างอนาคตของประเทศด้วย และเราต้องทำในสิ่งที่ถูกต้อง แม้ไม่ช่วยสร้างกระแสให้พรรค ทั้งนี้ก็มีการบ้านที่เราต้องปรับตัวด้วยการทำงานหนักมากขึ้น เข้าถึงประชาชนให้ได้ทุกกลุ่ม เพื่อให้พรรคมีกระแสมากขึ้น

@ เวลานี้ถูกมองว่าพรรคประชาธิปัตย์กำลังโดนหลายพรรครุมกินโต๊ะด้วยการรุมเจาะฐานเสียงในภาคใต้และกรุงเทพฯ

การเลือกตั้งทุกสมัยไม่เคยมีครั้งใดที่ไม่มีการแข่งขัน กรณีภาคใต้นั้นก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีหลายพรรคพยายามบุกเข้ามา ขณะเดียวกันคนภาคใต้ได้สอนบทเรียนให้กับพรรคต่างๆมาเยอะเช่นกัน เราจึงคิดว่าจากประสบการณ์เหล่านี้ได้สร้างความมั่นใจให้กับเรา การเมืองจะมาอ่านเฉพาะครั้งคราวไม่ได้ แต่ต้องย้อนดูประวัติศาสตร์ว่าเป็นอย่างไร.