ซึ่งในครั้งนี้ มีรางวัลให้ลุ้นรวมมูลค่ากว่า 10 ล้านบาท!! โดยแฟน “เดลินิวส์” สามารถ ร่วมสนุกทายผลแข่งขันได้โดยผ่าน “คูปองจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์” และ “ทางโทรศัพท์มือถือ” ซึ่งรายละเอียดนั้นตรวจสอบได้ทางหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ และทาง “เดลินิวส์ออนไลน์” แพลตฟอร์มต่าง ๆ ขณะที่ฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้าย ซึ่งจัดที่กาตาร์ จะฟาดแข้ง 20 พ.ย.-18 ธ.ค.นี้…

รอชม-เชียร์…ฟิตร่างกายรอให้พร้อม…

แบ่งเวลา-จัดเวลาให้ดี…อย่าได้หักโหม

เตือนย้ำล่วงหน้า…“ระวังภัยอดนอน!!!”

ทั้งนี้ เกี่ยวกับ “ภัยอดนอน” นั้น…วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลที่เผยแพร่ไว้ใน เว็บไซต์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผ่านคำอธิบายของ รศ.ดร.ภก.จิรภรณ์ อังวิทยาธร ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งโดยสังเขปมีว่า… ปกติยุคปัจจุบันนี้ก็เป็น “สังคมของคนอดนอน” โดยประชากรผู้ใหญ่เกือบ 1 ใน 3 มีอัตราการนอนเฉลี่ยน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ต้องนอนน้อยเกิดจากภาวะเศรษฐกิจ ที่ทำให้ผู้คนยุคนี้ต้องเพิ่มชั่วโมงทำงานมากกว่าในอดีต จนบั่นทอนชั่วโมงพักผ่อน-ชั่วโมงการนอน อีกทั้งสาเหตุการอดนอนก็ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีก…

รศ.ดร.ภก.จิรภรณ์ ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า… การอดนอนส่วนใหญ่มักมีสาเหตุมาจากปัญหาต่าง ๆ ทั้งปัญหาสุขภาพกาย และปัญหาสุขภาพจิต เช่น… มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ, มีอาการซึมเศร้า, มีความเครียดหรือวิตกกังวลตลอดเวลา, เป็นโรคติดโซเชียล หรือต้องทำงานกะกลางคืน เป็นต้น ซึ่งถ้าหากอดนอนเป็นครั้งคราวก็อาจจะไม่มีอันตรายมากนัก แต่ถ้าต้อง “อดนอนเรื้อรัง” อดนอนเป็นเวลาต่อเนื่องติดต่อกันนาน ๆ อาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ ซึ่ง การอดนอนเรื้อรังยังส่งผลเสียต่อจิตใจและอารมณ์เพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่ต้องอดนอน โดยอาการที่พบได้บ่อยจะมีตั้งแต่… กลายเป็นคนที่หงุดหงิดฉุนเฉียวง่ายขึ้น, มีอาการหูแว่ว, มองเห็นภาพหลอน และกลายเป็นโรควิตกกังวล หรือเป็นโรคหวาดระแวง…

การอดนอนเป็นระยะเวลานาน ๆ ติดต่อกัน จะยิ่ง เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น อาจ หลับใน โดยไม่รู้ตัว ซึ่งถ้าระหว่างทำงานที่ต้องใช้เครื่องจักรกลต่าง ๆ จะอันตราย หรือขณะใช้รถใช้ถนนก็จะอันตรายทั้งกับตนเองและผู้อื่น

นอกจากนี้ อดนอนเรื้อรังยัง ส่งผลต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย อาทิ… ส่งผลเสียต่อระบบประสาทส่วนกลาง โดยทำให้ระบบประสาทส่วนกลางทำงานไม่สมบูรณ์ ทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ หรือทำงานบกพร่อง จนทำให้ความสามารถในการคิด การจำ การเรียนรู้ ความคิดสร้างสรรค์ การใช้เหตุผล และสมาธิ ลดลง, ส่งผลเสียต่อหัวใจและหลอดเลือด โดยจะ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด มากกว่าคนที่ได้นอนหลับเพียงพอ โดย อาจทำให้เกิดหัวใจวาย หัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น เกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคเบาหวาน เป็นต้น…

โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงอยู่แล้ว!!

ไม่เท่านั้น…อดนอนเรื้อรังยัง ส่งผลเสียต่อระบบต่อมไร้ท่อ ซึ่งการอดนอนทำให้ร่างกายผลิตโกรทฮอร์โมน (growth hormone) น้อยลง ส่งผลต่อการเจริญเติบโต ความสูงของร่างกาย การเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ ส่งผลต่อการซ่อมแซมเซลล์และเนื้อเยื่อต่าง ๆ ความแข็งแรงของกระดูก อีกทั้งการที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนนี้น้อยลง ทำให้สมรรถภาพทางเพศลดลง ด้วย

จากที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” สะท้อนต่อข้อมูลเกี่ยวกับ “ผลเสียจากการอดนอนเรื้อรัง” มาข้างต้น นี่ก็เยอะแล้ว…แต่ยังไม่หมด!! การอดนอนเรื้อรังยัง ส่งผลเสียทำให้ระบบภูมิคุ้มกันต่ำลง ทำให้เจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น ส่งผลเสียทำให้ระบบทางเดินหายใจมีปัญหา เสี่ยงต่อการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เสี่ยงต่อไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ รวมถึงในรายที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคปอดเรื้อรังอยู่ก่อนแล้ว…การอดนอน การนอนไม่พอ อาจจะยิ่งทำให้อาการของโรคเดิมนั้นเลวร้ายมากยิ่งขึ้น อีกทั้งอดนอนเรื้อรังยัง ส่งผลเสียทำให้เสียสมดุลการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ซึ่งยิ่งเพิ่มความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ

ทั้งนี้ รศ.ดร.ภก.จิรภรณ์ อังวิทยาธร ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้ให้ข้อมูลคำแนะนำไว้ด้วยว่า… ควร กำหนดเวลาเข้านอน-ตื่นนอนให้เป็นเวลาเดียวกัน ทุกคืน-ทุกวัน, เลี่ยงอาหารมื้อหนักก่อนเข้านอน ประมาณ 2 ชั่วโมง, งดออกกำลังกายหนักก่อนเข้านอน อย่างน้อย 4-6 ชั่วโมง รวมถึงควรงดเข้าโซเชียลมีเดียเมื่อกำลังจะเข้านอน ส่วนผู้ที่เป็นโรคนอนไม่หลับ นอนหลับยาก กรณีนี้ก็ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยสาเหตุ เพื่อรับการบำบัดรักษา ซึ่งหากสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำ-ตามข้อปฏิบัติต่าง ๆ เหล่านี้ ก็น่าจะช่วยแก้ปัญหาการ “อดนอน” ได้ในระดับหนึ่ง…

และทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ขอทิ้งท้าย-ขอร่วมย้ำไว้ ณ ที่นี้ว่า…การ “อดนอนเรื้อรัง” นี่อาจจะ “ก่อเกิดภัยอันตรายได้หลากหลายและรุนแรงได้เกินคาดคิด!!” ภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งต่อกายและใจนั้นก็มีตั้งแต่เบาะ ๆ ไปจนถึง “เสี่ยงเสียชีวิต” ได้เลยทีเดียว!! ซึ่งกับสมรรถภาพทางเพศนั้น “อดนอนเรื้อรัง” ก็ส่งผล…อาจทำให้ “เซ็กซ์เสื่อม” ได้!!…

“รอดูบอลโลก” ก็ “ฟิตร่างกายรอให้ดี ๆ”

และแม้ร่างกายฟิตก็ “อย่าอดนอนมาก”

“ลุ้นรางวัลเดลินิวส์…นอนปกติก็ลุ้นได้”.