หลังจากได้มีการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้มาเป็นระยะเวลาพอสมควร โดยก่อนหน้านี้มีการตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานชุดต่าง ๆ ขึ้นมา เพื่อให้การถ่ายโอนภารกิจดำเนินไปด้วยความราบรื่น ซึ่งหลังจากมีการ “ถ่ายโอน” แล้ว…สิ่งที่จะต้องจับตาดูต่อไปก็คือ… ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น??”…

นี่ก็ถือเป็น “ความท้าทายระบบสุขภาพ”

ทั้งกับ “การบริหารระบบ-การจัดบริการ”

โดยเฉพาะ “คุณภาพบริการประชาชน!!”

ทั้งนี้ การ “ถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้องค์กรส่วนท้องถิ่นดูแล” ถือเป็น “เรื่องใหม่ในแวดวงสาธารณสุขและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ในเวลานี้ รวมถึงเป็นอีกความท้าทายที่สำคัญในเชิงวิชาการ ซึ่งมี “โจทย์ใหญ่” คือการผลิต “องค์ความรู้“ เพื่อสนับสนุน “การตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบาย” ในเรื่องนี้ โดยกับ “มุมสะท้อน” ในกรณีนี้ ทาง “สวรส.” หรือ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ก็ได้มีการออกมาให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้นำมาสะท้อนต่อ…

เกี่ยวกับกรณีนี้ ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการ สวรส. ได้ให้ข้อมูลไว้ หลักใหญ่ใจความมีว่า… เดือน ต.ค. 2565 นี้ รพ.สต. 3,264 แห่ง จะเริ่มโอนย้ายสังกัดออกจากกระทรวงสาธารณสุข ไปสังกัด-ไปขึ้นกับ อบจ. 49 แห่ง ซึ่งมีทั้งรูปแบบที่ รพ.สต. ทุกแห่งในจังหวัดย้ายไปขึ้นกับ อบจ. เช่น อบจ.สุพรรณบุรี และรูปแบบที่ รพ.สต. เฉพาะบางแห่งในจังหวัดไปขึ้นกับ อบจ. ซึ่งภายใต้กระบวนการถ่ายโอนนี้ก็ได้ “มีคำถาม??” เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง รูปแบบบริการ, มาตรฐานบริการ, กำลังคน, ค่าตอบแทน รวมถึงเรื่องของสวัสดิการ เป็นต้นและนอกจากนี้ ก็ยังมีความกังวลว่า…

นี่จะเกิด “ช่องว่างในระบบ” หรือไม่??

รอง ผอ.สวรส. ระบุไว้ต่อไปว่า… ไม่ใช่แค่ ประชาชนรู้สึกกังวล ภายหลังการถ่ายโอนภารกิจ แต่รวมถึง บุคลากรส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องก็กังวล ก็เกิดคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย ทาง สวรส. จึงได้พยายามทำวิจัยเพื่อค้นหาคำตอบให้ตั้งแต่ก่อนหน้านี้ เพื่อให้การถ่ายโอนเกิดปัญหาและอุปสรรคน้อยที่สุด โดยได้มีการมอบหมายให้ทีมวิจัยกว่า 10 ทีมทำวิจัยเพื่อหาแนวทางปฏิบัติหรือข้อเสนอเพื่อนำมาใช้แก้ไขปัญหาในช่วงเปลี่ยนผ่านดังกล่าว ซึ่งเกิดเป็นแนวทางต่าง ๆ อาทิ การจัดการบัญชีการเงินของ รพ.สต. ที่จะถ่ายโอน “ในช่วงสุญญากาศ” การโอนย้ายจากกระทรวงสาธารณสุขสู่องค์กรส่วนท้องถิ่น

ผศ.ดร.จรวยพร ให้ข้อมูลเรื่องนี้ไว้อีกว่า… เรื่องการจัดการบัญชีการเงิน รพ.สต. ในช่วงสุญญากาศ หรือในขณะที่กำลังโอนย้ายนั้น ทีมวิจัย สวรส. พบปัญหา เช่น… การถ่ายโอน รพ.สต. ที่จะเกิดขึ้นหลัง 1 ต.ค. 2565 ขณะที่ รพ.สต. มีการปิดบัญชีการเงินแล้ว 30 ก.ย. 2565 ดังนั้น นี่จึงจำเป็นต้องมีวิธีปฏิบัติจากฝั่งกระทรวงสาธารณสุขในการจัดการบัญชีการเงินที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 1 ต.ค. ก่อนที่จะถ่ายโอนไปขึ้นกับ อบจ. ในวันที่ 2 ต.ค. 2565 และก็จำเป็นต้องมีวิธีปฏิบัติและการเตรียมใบเสร็จรับเงินและเอกสารการเงินอื่น ๆ จาก อบจ.ให้พร้อม เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านให้ได้ก่อนวันที่ 3 ต.ค. 2565

นอกจากนั้น ในด้าน การกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพของบุคลากรใน รพ.สต. ที่จะถ่ายโอน ซึ่งตามระเบียบว่าด้วยการมอบหมายให้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมปี 2539 และวิชาชีพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ยังไม่ได้มีการระบุชี้ชัดว่า…จะให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเป็นผู้กำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบุคลากร รพ.สต. เหมือนเดิมหรือไม่?? ซึ่งก่อนมีการโอนย้าย รพ.สต. ขณะสังกัดกระทรวงสาธารณสุข การกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพของบุคลากรใน รพ.สต. รับผิดชอบโดยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ดังนั้น เมื่อถ่ายโอน รพ.สต. ไปอยู่ในสังกัด อบจ. ก็ควรจะต้องมีการจัดทำคู่มือแนบท้ายตามไปด้วย เพื่อให้ไม่เกิด “ช่องว่างของระบบ” …นี่เป็นปัญหาที่พบ พร้อมข้อเสนอแนะที่ทางคณะนักวิจัยได้จัดทำเอาไว้เพื่อ “อุดช่องโหว่”

ส่วนเรื่อง “การจ่ายค่าตอบแทนพิเศษ” ของบุคลากร รพ.สต. ที่จะถ่ายโอนนั้น… แม้จะมีระเบียบออกมารองรับแล้ว แต่เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงมีการเสนอแนะว่า… ควรจะต้องมีการออกแนวทางปฏิบัติ และ ควรมีการซักซ้อมทำความเข้าใจ ด้วยการระบุอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน …นี่ก็อีกข้อเสนอแนะ

ก่อนการ “โอนย้าย รพ.สต.” จะเกิดขึ้น

และอีกส่วนที่ “ยิ่งสำคัญ” ที่ทาง ผศ.ดร.จรวยพร รอง ผอ.สวรส. ได้ระบุไว้ คือ… ทาง สวรส. ได้มีการมอบหมายให้นักวิจัยดำเนินการทำวิจัยในพื้นที่หลายจังหวัด เช่น สุพรรณบุรี, ปราจีนบุรี, ระยอง, ขอนแก่น เพื่อหาแนวทางการดำเนินงานในแต่ละด้าน รวมถึงเพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย “การจัดการในระยะเปลี่ยนผ่าน” โดยมีเป้าหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปปฏิบัติให้ “เป็นไปในทิศทางเดียวกัน” เพื่อที่จะ “ไม่เกิดสุญญากาศ” ระหว่างการถ่ายโอนภารกิจ ช่วยให้การปฏิบัตินั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกันและเพื่อ “ป้องกันความสับสนจนทำให้เกิดปัญหาการให้บริการกับประชาชน” …

คนไทยก็ “ต้องสนใจ-ต้องจับตา” กรณีนี้

กรณีที่ “รพ.สต. สังกัดองค์กรท้องถิ่น” …

หวังว่า “บริการประชาชนไร้ปัญหา??”.