แผนล่าสุดได้รับการตกลงกันหลังปากีสถานสิ้นสุดปีงบประมาณ 2564/2565 ซึ่งมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดราว 17,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 665,000 ล้านบาท) ซึ่งมากกว่าการขาดดุลเมื่อสิ้นปีงบประมาณก่อนหน้าถึง 6 เท่า อีกทั้งยังเป็นการส่งสัญญาณถึงความต่อเนื่องในทางที่ไม่ดีของวิกฤติดุลการชำระเงินของประเทศด้วย

เวลาล่วงเลยมานานกว่าหนึ่งเดือนแล้ว นับแต่ตั้งการประกาศแผนของไอเอ็มเอฟ อย่างไรก็ตาม ปากีสถานยังไม่ได้รับเงินเหล่านี้แต่อย่างใด เพิ่มแรงกดดันต่อการจัดการทุนสำรองที่กำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลผลักดันให้ค่าเงินรูปีปากีสถาน กลับสู่ระดับต่ำสุดตลอดกาลอีกครั้ง หลังจากที่ฟื้นตัวได้ในช่วงเดือนที่ผ่านมา

ในขณะที่การจัดหาเงินทุนจะเกิดขึ้นในที่สุด แม้จะมีดาบของ “การผิดนัดชำระหนี้” แขวนอยู่เหนือเศรษฐกิจของปากีสถานก็ตาม แต่รัฐบาลอิสลามาบัดยังคงยึดมั่นแนวทางการคลังที่ล้าสมัย อย่างวัฏจักรเงินช่วยเหลือของไอเอ็มเอฟ, เงินกู้ต่างประเทศ และการชำระหนี้บางส่วน ที่กลายเป็นวงจรอุบาทว์และมักจะนำกลับมาใช้อย่างซ้ำซาก

ขณะที่ ผู้ให้คำปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลปากีสถานชุดก่อนคนหนึ่ง กล่าวว่า ปากีสถานมองหาเงินกู้เพราะความล้มเหลวของตัวเอง และน่าเสียดายที่การมุ่งเน้นของรัฐบาลทั้งหมดอยู่ที่การทดแทนการนำเข้าสินค้า ทางการจำกัดการนำเข้า แทนที่จะเพิ่มการส่งออก และแทนที่จะเรียนรู้จากประเทศที่ใช้นโยบายนี้แล้วล้มเหลว เช่น อินเดีย อาร์เจนตินา, เม็กซิโก, ซิมบับเว และอีกมากมาย ซึ่งสิ่งของส่วนใหญ่ที่ปากีสถานนำเข้าไม่มีสิ่งทดแทน อาทิ เชื้อเพลิง, ถ่านหิน หรือแม้แต่ก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี)

เนื่องจากการจัดเก็บภาษีที่ไม่เพียงพอของปากีสถานมากกว่าครึ่งถูกใช้ไปกับการชำระดอกเบี้ยและเงินต้นตามกำหนด รัฐบาลชุดต่อมาจึงได้รับคู่มือการเยียวยาทางการเงินที่คล้ายคลึงกัน สิ่งเหล่านี้ดำเนินการตั้งแต่การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจและบริษัทจัดจำหน่าย ไปจนถึงการปรับปรุงในภาคส่วนพลังงานที่มีหนี้สินมากมายหมุนเวียนอยู่ โดยหลายคนยังกระตุ้นการกระจายอำนาจควบคู่กับการผลักดันอย่างแข็งขัน สำหรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว

ถึงกระนั้น เศรษฐกิจที่ยังคงต้องพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศอย่างมหาศาล จำเป็นต้องมีความมั่นคงเพื่อสร้างสภาพที่เอื้ออำนวย ซึ่งนอกเหนือจากความสัมพันธ์ที่น่าหนักใจ ระหว่างปากีสถานกับกองกำลังติดอาวุธหลายกลุ่ม การขาดแคลนเสถียรภาพทางการเมืองอย่างสมบูรณ์ ยังเป็นตัวผลักดันให้บรรดานักลงทุนออกห่างจากประเทศมากขึ้น

นายซัลมาน ชาห์ อดีต รมว.คลังปากีสถาน กล่าวว่า “สถาบันของเรา นักการเมืองของเรา ระบบราชการของเรา ล้วนแล้วแต่ “มองการณ์ใกล้” และไม่มีศักยภาพที่จะมุ่งเน้นไปที่นโยบายระยะยาว ทุกรัฐบาลต่างให้ความสำคัญกับวาระของตัวเอง และการดำรงตำแหน่งอยู่ในอำนาจ”.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES