“หลิน เปียว” เป็นชื่อของจอมพลนายหนึ่งแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์ในสงครามกลางเมืองจีน เมื่อการต่อสู้สิ้นสุด จอมพลหลิน เปียว เข้ามามีบทบาททางการเมืองมากขึ้น โดยร่วมดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2497 และรองนายกรัฐมนตรีคนที่หนึ่งของจีน ระหว่างปี 2507-2514 นอกจากนั้น จอมพลหลิน เปียว ดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหมของจีน ระหว่างปี 2502-2514 ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองของรัฐบาลปักกิ่ง

ยิ่งไปกว่านั้น ทหารระดับสูงนายนี้เคยได้รับการวางตัวจากประธานเหมา เจ๋อตง ให้เป็นทายาทการเมือง จากการดำรงตำแหน่งรองประธานพรรคคอมมิวนิสต์ “เพียงคนเดียว” หลังผ่านพ้นช่วงเวลาของการปฏิวัติวัฒนธรรม

จากซ้ายไปขวา : นายโจว เอินไหล ประธานเหมา เจ๋อตง และจอมพลหลิน เปียว

อย่างไรก็ตาม จอมพลหลิน เปียว ถึงแก่อสัญกรรมในเหตุเครื่องบินตก ที่มองโกเลีย เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2514 แต่กว่าทางการจีนจะยืนยันเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ เวลาล่วงเลยมานานเกือบ 1 ปี โดยมีการนิยามจอมพลหลิน เปียว “เป็นผู้ต่อต้านแนวทางการปฏิวัติ” และ “เป็นคนทรยศชาติ” จากความพยายามลอบสังหารประธานเหมา และยึดอำนาจ ทว่าแผนการเป็นที่ล่วงรู้เสียก่อน และทหารชั้นผู้ใหญ่นายนี้พยายามหลบหนีไปยังสหภาพโซเวียต ซึ่งตอนนั้นยังมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีนักกับจีน ทว่าเครื่องบินตก และจอมพลหลิน เปียว ถึงแก่อสัญกรรม

เรื่องราวดังกล่าวยังคงเป็นที่ถกเถียงจนถึงปัจจุบัน และเป็นที่เล่าขานกันในจีนว่า “เหตุการณ์หลิน เปียว” โดยหลังจากนั้น ประธานเหมามีคำสั่ง “ล้างบาง” ทหารระดับสูงของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน ( พีแอลเอ ) แทบทั้งหมด ผู้บัญชาการกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศของพีแอลเอ ถูกปลดออกจากตำแหน่ง พร้อมเจ้าหน้าที่ระดับสูงอีกจำนวนมาก และมีทหารจำนวนไม่น้อยต้องรับโทษประหารชีวิต ฐานร่วมอยู่ในเครือข่ายของจอมพลหลิน เปียว ซึ่งกลายเป็น “ผู้ร้ายทางการเมือง” พรรคคอมมิวนิสต์ยังคงประณามจอมพลหลิน เปียว และตราหน้าให้เป็น “ผู้สร้างความด่างพร้อย” ในประวัติศาสตร์จีน

Asianometry

พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังคงเก็บงำ “เรื่องราวทั้งหมด” เกี่ยวกับจอมพลหลิน เปียว แม้ยังคงมีผู้ตั้งคำถามว่า “การหายสาบสูญ” และการจากไปของทหารนายนี้ “เกิดขึ้นอย่างประจวบเหมาะไปหน่อยหรือไม่” กับการที่ นายเฮนรี คิสซิงเจอร์ รมว.การต่างประเทศสหรัฐ เยือนกรุงปักกิ่งก่อนเกิดเหตุไม่นาน และหลังจากนั้น นายโจว เอินไหล นายกรัฐมนตรีจีนในช่วงนั้น ทำการขับสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อีกชุดใหญ่ ในการประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 10 ตามด้วยการที่จีนเปิดประเทศมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามแนวทางของระบบ “สังคมนิยมตลาด”

ทว่าการขับสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งใหญ่ทั้งที่เป็นทหารและพลเรือน ยังคงสร้างแรงกระเพื่อมต่อทุกองคาพยพของสังคมจีนจนถึงปัจจุบัน ในปี 2565 การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 20 กำลังจะเกิดฉากที่มหาศาลาประชาชน ในกรุงปักกิ่ง ในวันที่ 16 ต.ค.นี้ จีนยังคงเผชิญกับความท้าทายและแรงเสียดทานมากมายจากทั้งภายในและภายนอก แต่เหนือสิ่งอื่นใด ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ยังคงกุมอำนาจได้อย่างเหนียวแน่น และมั่นคงที่สุดในฐานะเลขาธิการใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์

ตลอดปีที่ผ่านมา มีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำหลายมณฑล โดยมากกว่าครึ่งของบุคคลซึ่งได้รับการแต่งตั้ง แสดงจุดยืนทางการเมืองอย่างชัดเจน ว่าสนับสนุนสี ขณะเดียวกัน บรรดานักการเมืองระดับสูงตามเมืองใหญ่ของประเทศ ซึ่งอยู่ใน “เครือข่ายการอุปถัมภ์” ของผู้นำจีน ล้วนได้รับการรับรองให้ดำรงตำแหน่งต่อไป ซึ่งอาจเป็นการส่งสัญญาณล่วงหน้าอย่างมีนัยด้วยว่า กลุ่มคนเหล่านี้อาจได้ที่นั่งในคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ชุดใหม่ ซึ่งจะเป็นชุดที่ 20

นอกจากนี้ ผู้นำจีนยังเปลี่ยนตัวบุคคลดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญ หนึ่งในนั้นคือ การแต่งตั้งนายหวัง เสี่ยวหง อดีตผู้บัญชาการตำรวจกรุงปักกิ่ง ให้ดำรงตำแหน่ง รมว.ความปลอดภัยสาธารณะ เมื่อกลางเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา นับเป็นอดีตตำรวจชั้นผู้ใหญ่คนแรกในรอบ 2 ทศวรรษ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว เป็นสัญญาณอีกเช่นกันว่า สีมีแผนกระชับอำนาจตำรวจให้ขึ้นตรงกับตัวเองมากขึ้น

นายป๋อ ซีไหล รับฟังคำพิพากษาของศาลประชาชนระดับกลาง ที่เมืองจี่หนาน ในมณฑลซานตง ทางตะวันออกของจีน ตัดสินโทษจำคุกตลอดชีวิต

เป็นที่ทราบกันดีว่า “ปรปักษ์และคู่แข่งทางการเมือง” ของสีและพันธมิตร คือกลุ่มซึ่งเติบโตมาจากปีกเยาวชนของพรรคคอมมิวนิสต์ และเป็นเครือข่ายของอดีตประธานาธิบดีหู จิ่นเทา อย่างไรก็ตาม ในช่วงการดำรงตำแหน่งสองสมัยแรกของสี การดำเนินการเพื่อลดทอนอำนาจของนักการเมืองสายนี้เกิดขึ้นอย่างแนบเนียน ล่าสุดคือกรณีของ นายเฉิน ฉวนกั๋ว ที่มีคำสั่งย้ายจากเลขาธิการพรรคประจำเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ให้ไปทำหน้าที่รองผู้อำนวยการธนาคารพัฒนาชนบท เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา แปลความได้ว่า จะไม่มีชื่อของเฉินในโปลิตบูโรชุดที่ 20

euronews

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2555 หลายฝ่ายทั้งในและนอกจีนตกตะลึงกับการร่วงลงจากอำนาจของ นายป๋อ ซีไหล ต่อมาในปี 2560 คือกรณีของ นายซุน เจิ้งไฉ ทั้งสองคนเป็นอดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำเทศบาลนครฉงชิ่ง เคยได้รับการคาดหมายจากหลายฝ่ายว่า “มีศักยภาพมากพอ” ที่จะขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดทางการเมือง โดยเฉพาะ ซุน ที่ว่ากันว่าคือ “ทายาทการเมือง” ของสี แต่ท้ายที่สุด ทั้งคู่เข้าสู่เรือนจำ รับโทษจำคุกตลอดชีวิตฐานคอร์รัปชั่น

จนถึงตอนนี้ การกระชับอำนาจภายในพรรคคอมมิวนิสต์น่าจะเรียบร้อยและสถานการณ์ภายในน่าจะสงบมากพอ จนเป็นที่น่าไว้วางใจของสี ให้สามารถเยือนต่างประเทศได้เป็นครั้งแรกตั้งแต่ยุคโควิด-19 นั่นคือ การไปประชุมที่อุซเบกิสถาน เมื่อเดือนที่แล้ว อย่างไรก็ดี หลายครั้งสถานการณ์ที่ดูเหมือนเงียบสงบย่อมมีคลื่นใต้น้ำ และสีอาจไม่มีเวลาให้สบายใจได้นานนัก.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES