หลังจากการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 สื่อมวลชนอังกฤษและอีกหลายประเทศ ได้มีการเผยแพร่ภาพของใบมรณบัตรในพระองค์ ซึ่งระบุสาเหตุการสิ้นพระชนม์ไว้เพียงสั้น ๆ ว่าคือ ‘พระชราภาพ’ (Old Age) โดยไม่มีคำอธิบายเพิ่มเติม

คำนี้ ถ้าใช้กับชาวบ้านทั่วไป ก็เรียกง่าย ๆ ว่า ‘แก่ตาย’ 

เป็นคำที่ฟังแล้วเหมือน ๆ จะเข้าใจ แต่ก็ไม่ค่อยกระจ่างชัดเท่าไหร่ ว่าตกลงแล้วสาเหตุคืออะไรกันแน่

ทีนี้ ลองมาดูความหมายทางการแพทย์สักหน่อยว่า ‘แก่ตาย’ นั้นคืออะไร และมีสาเหตุใดที่จะมีการเลือกใช้คำนี้

ตามข้อมูลด้านสุขภาพของชาวอังกฤษและเวลส์ สาเหตุการเสียชีวิตในอันดับต้น ๆ ก็คือภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์, โรคหัวใจ, โรคหลอดเลือดสมอง, มะเร็ง และน้องใหม่มาแรงอย่างโรคโควิด-19 สาเหตุรองลงมา ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง, ไข้หวัดใหญ่และโรคปอดบวม

ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตเพราะ ‘แก่ตาย’ หรือ ‘ชราภาพ’ ก็อยู่ใน 10 อันดับแรกของการเสียชีวิตของคนอังกฤษ แต่น้อยกว่าโรคโควิด-19, โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคปอดบวม

ตามประวัติการแพทย์ในอังกฤษ สาเหตุการเสียชีวิตเพราะชราภาพนั้น เคยได้รับการบันทึกว่า เป็นสาเหตุอันดับ 1 ในยุคศตวรรษที่ 19 แต่ไม่ใช่ด้วยเหตุผลทางการแพทย์ หากเป็นเหตุผลทางกฎหมายและระเบียบการลงบันทึกในเอกสารมากกว่า

กล่าวโดยสรุปแล้ว ในยุคนั้น สาเหตุการเสียชีวิตเพราะความชราภาพ จะถูกนำมาใช้ก็ต่อเมื่อไม่สามารถหาสาเหตุการตายที่แท้จริงได้ หรือเป็นเพราะผู้ป่วยมีอาการแทรกซ้อนหลายอย่าง จนทำให้เสียชีวิตและอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถชันสูตรศพเพื่อหาสาเหตุได้

แต่เมื่อมาถึงยุคศตวรรษที่ 20 และ 21 ก็ไม่ค่อยมีการระบุสาเหตุการเสียชีวิตว่าเป็นเพราะความชราภาพแล้ว เนื่องจากไม่ใช่คำตอบที่ชัดเจนสำหรับครอบครัวผู้เสียชีวิต พูดง่าย ๆ ก็คือเป็นคำตอบที่ทำให้เกิดความ “คาใจ” แก่ผู้ที่ยังอยู่ข้างหลัง 

ข้อมูลจากการสำรวจประชากรอังกฤษพบว่า ครอบครัวของผู้ตายมักเรียกร้องข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุการเสียชีวิตของบุคคลในครอบครัว เพื่อจะได้นำมาประกอบการพิจารณาการดูแลรักษาสุขภาพของตัวเองด้วย นอกเหนือไปจากความต้องการคำตอบที่ให้ความรู้สึกว่าเป็นการปิดฉากชีวิตอย่างไร้ข้อสงสัย ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยให้คนที่ยังอยู่สามารถ “ทำใจ” ยอมรับความสูญเสียได้ง่ายขึ้น

ในทางการแพทย์แล้ว ความชราภาพและภาวะเปราะบาง (Frailty) เป็นเพียงคำอธิบายแบบคร่าว ๆ ของผู้ป่วยที่มีอาการหรือสัญญาณทางร่างกาย ที่บ่งชี้ว่าเกิดความเจ็บป่วย มีความเสื่อมสภาพ หรือล้มเหลวเกิดขึ้นกับการทำงานของระบบในร่างกาย หรืออวัยวะในร่างกาย โดยที่อาจจะยังไม่มีอาการบ่งบอกชัดเจนว่าเป็นเพราะโรคใด

พูดแบบไทย ๆ ตามประสาชาวบ้านก็คือ ‘สังขารเริ่มเสื่อม’ นั่นเอง

ในระหว่างที่มีคนที่อยากรู้อยากเห็น ต้องการให้เปิดเผยรายละเอียดการสิ้นพระชนม์ของควีนเอลิซาเบธที่ 2 มากไปกว่าแค่สาเหตุของ ‘พระชราภาพ’ ก็มีผู้ที่มองเห็นประเด็นอื่นที่น่าสนใจยิ่งกว่า

นั่นคือข้อเท็จจริงที่พระองค์ทรงมีพระชนม์ชีพยาวนานถึง 96 พรรษา โดยที่เราแทบจะไม่เคยได้ข่าวว่า พระองค์ทรงประชวรอย่างหนักเลยสักครั้ง เว้นแต่ในช่วงไม่กี่ชั่วโมงก่อนนาทีสวรรคต แสดงให้เห็นว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น ทรงดำรงพระชนม์ชีพอย่างถูกสุขอนามัยอย่างยิ่ง 

และนี่คือสิ่งที่น่าศึกษาค้นคว้ายิ่งกว่าสาเหตุการสิ้นพระชนม์ที่แท้จริงเสียอีก.

แหล่งข้อมูล : theconversation.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES, National Records of Scotland