ด้วยสถานการณ์วิกฤติประเทศ ทั้งโควิดรุก การเมืองเร้า ทำเอาหลายคนต้องกุมขมับในการหาทางออกให้กับประเทศ งานนี้ “ทีมข่าวการเมืองเดลินิวส์” ถือโอกาสถอดบทเรียนการสู้วิกฤตโควิด จาก “ว่าที่บิ๊กคลองหลอด” สิงห์ดำรุ่น 36 “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) ที่รอขยับขึ้นนั่งเก้าอี้ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในเร็ววันนี้ ในฐานะที่กระทรวงมหาดไทยเป็นหนึ่งในกลไกลหลักของการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับประชาชน
โดย “สุทธิพงษ์” ในฐานะอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เปิดฉากเล่าว่า ขณะนี้ผมยังบริหารงานในกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญมากที่สุดลำดับต้นๆ เพราะพันธกิจของเราคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดีขึ้น เป็นภารกิจในเชิงบวก ไม่ได้เข้าไปจับกุมหรือบังคับขู่เข็ญ แต่เข้าไปช่วยเชิงป้องกันและส่งเสริมการพัฒนาชุมชน โดยในช่วง 2 ปีเศษที่ผ่านมา เราได้ปลุกเร้าข้าราชการ พช. แม้ว่าจะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ข้าราชการ พช.ไม่หยุดทำงาน เพราะประชาชนมีความยากลำบาก เราต้องปรับตัวลงไปคลุกคลีกับประชาชนให้ได้ เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ในช่วงโควิด-19 ระบาดระลอกแรก ข้าราชการพช. ได้ลงพื้นที่เชิญชวนประชาชนน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการรณรงค์ปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่งคงทางอาหาร ภายใน 90 วัน โดย พช. ได้รับความร่วมมือภาคเอกชนและบริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชรายใหญ่ให้การสนับสนุนเมล็ดพันธุ์เป็นจำนวนมาก ซึ่งเราได้ให้ข้าราชการ พช. ต้องปลูกเป็นก่อน จากนั้นให้เชิญชวนผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และผู้นำระดับจังหวัด ร่วมกันปลูก เพื่อเป็นต้นแบบเกิดลัทธิเอาอย่างผู้นำ ซึ่งโครงการนี้ประสบความสำเร็จดีมาก มีประชาชนมากกว่า 12 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการ ทำให้เกิดการประหยัดเฉลี่ยครัวเรือนละ 50 บาทต่อวัน รวมวันละ 600 ล้านบาทต่อวัน หากคิดเป็น 1 ปี เท่ากับประหยัดได้ 2 แสนกว่าล้านบาท รวมทั้งประชาชนที่เข้าร่วมโครงการยังได้รับประทานพืชผักที่ปลอดภัยจากสารปนเปื้อนหรือสารเคมีอีกด้วย
เมื่อมาถึงการระบาดโควิด-19 ระลอกนี้ พช. ยังส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพร โดยเฉพาะฟ้าทะลายโจร กระชาย ขิง เป็นต้น เพื่อสร้างความมั่งคงด้านยา เพิ่มเติมเข้าไปด้วย ส่วนการส่งเสริมด้านอาชีพนั้น เราได้จ้างนักการตลาดรุ่นใหม่จากเยาวชนในพื้นที่ ที่ไม่มีงานทำ เพื่อช่วยผู้ประกอบการโอทอปในการขายของออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนสามารถทำการค้าขายตลาดออนไลน์ได้ด้วยตนเอง อย่างน้อยที่สุดก็แก้ไขปัญหาคนตกงานท่ามกลางสถานการณ์ในขณะนี้
นอกจากนี้ยังมีโครงการที่สำคัญ และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก คือ โครงการ “โคก หนอง นา” โดยพช.เอางบเงินกู้มาใช้ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ เราเชื่อมั่นว่าหากดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวจะผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ได้ และยังเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ เพราะทุกคนมีศักยภาพในการพัฒนาตนเอง ซึ่งเราฝึกอบรมประชาชนพัฒนาพื้นที่ตามหลักทฤษฎีใหม่สู่ “โคกหนองนา” ในการปรับพื้นที่ดินของตัวเองเป็นหนอง คลองไส้ไก่ และปั้นดินเป็นโคก เพื่อกักเก็บน้ำและทำการเกษตร โดยขณะนี้มีประชาชนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 3 หมื่นคน หลักของพช.คือ ผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะต้องผ่านการอบรมเพื่อเป็นต้นแบบ และทำพื้นที่โคก หนอง นา ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ให้กับคนอื่นๆ ต่อไป ซึ่งคนในชุมชนรู้สึกพอใจใครงการนี้มาก กับการเป็นมนุษย์โคกหนองนา หรือนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ ทั้งนี้เรายังต่อยอดคืนคนดีสู่สังคมในโครงการ “โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง” โดยร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์ เราได้รับคนที่มีประวัติอาชญากรรมเข้าอบรมในโครงการนี้ เพื่อเปิดกว้างให้กับทุกคน ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก
ส่วนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง พช.ได้นำหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ในโครงการนี้แทน นับว่าเป็นบุญของคนไทย ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระปณิธานที่แน่วแน่นสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวทางพระปฏิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 และทรงพระราชทานภาพฝีพระหัตถ์ให้กับพสกนิกรชาวไทยอยู่เนื่องๆ และพระราชทานโครงการ “โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง” ผ่านกรมราชทัณฑ์ เพื่อผู้ที่ใกล้พ้นโทษได้ศึกษาเรียนรู้ฝึกปฏิบัติหลังพ้นจากเรือนจำ
ทั้งนี้ พช. ยังได้ดำเนินการโครงการเรื่องโอทอปกลุ่มผ้า โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระราชทานแบบผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัฒวรี ให้คนไทย ผ่าน พช. ที่ทำร่วมกับสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ซึ่งงานโอทอปซิตี้ 2020 ท่านทรงเสด็จพระราชดำเนินเปิดงานและพระราชทานลายแบบผ้านี้ด้วย ซึ่งเป็นการทำลายกำแพงอุปสรรคแบบผ้าลายเก่าๆ แสดงให้เห็นว่าลายผ้าแบบใหม่สามารถเปลี่ยนแปลงจากลายเก่าๆ ได้ หรือสร้างลายใหม่ๆ อีก เป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับผ้าไทยอย่างยิ่ง เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ชาวบ้าน และเครือข่ายผ้าไทย แบบผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัฒวรี เปรียบเหมือนน้ำฝนหล่นจากฟ้าตกลงมากลางทะเลทราย ปลุกวงการผ้าไทยให้คึกคักอีกรอบ ตลอดจน พช. ได้เชิญชวนทุกคนสมัครใจสวมผ้าไทยมากกว่า 1 วัน และเสนอเป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เชิญชวนคนไทยทุกคนสวมใส่มากว่าสัปดาห์ละ 2 วัน เพื่อสร้างให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจฐานราก สร้างความต้องการซื้อผ้าไทย และสนับสนุนการใช้ไหมของประเทศ ผ่านกรมหม่อนไหม
@ภาคภูมิใจในโครงการไหนมากที่สุดที่คิดว่าเป็นเกียรติยศแห่งชีวิตที่เวลาไปไหนมาไหนคนมักจะพูดถึง
อยู่ที่ไหนก็พยายามทำงานเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งที่คนเขาบอกว่าดี บางคนก็บอกว่าไม่ดี เมื่อเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดไหน เราก็พยายามทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ “ทุกที่เมื่อไปรับราชการมักภูมิใจเสมอว่า จะต้องไม่ลืมกำพืดตัวเองว่าเรา คือลูกชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน ผมเรียนด้วยเงินคนอื่นมาทั้งนั้น เพราะที่บ้านยากจน ไม่มีเงินส่งเรียนมหาวิทยาลัย ตอนเรียนมัธยมก็สอบชิงทุนมาเรื่อยจนถึงมหาวิทยาลัย พอจบมาก็สอบเป็นปลัดอำเภอ อยู่ที่ไหนผมก็ภูมิใจทั้งนั้น”.