แชร์ลูกโซ่” เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด จากพฤติกรรม “หางแถว” เปรียบเหมือน “แมงเม่า” มีแต่ชะตาขาด (ทุน) ขณะที่ “ตัวการ” หรือ “แม่ทีม” อู้ฟู่ มีชีวิตสุขสบายจากทรัพย์สินที่ได้จากการหลอกลวง

เพื่อตัดวงจรอาชญากรรมไม่ว่าแชร์ที่แพร่ระบาดอยู่ทุกยุคสมัย หรืออาชญากรรมอื่น มาตรการทางทรัพย์สินอย่างการ “ยึดทรัพย์” จึงเป็น “ดาบคมกริบ” ที่ไม่ว่ากอบโกยไว้มากแค่ไหน สุดท้ายอาจครอบครองได้เพียงชั่วคราว เพราะหลังรับโทษก็ไม่ได้ออกมา “ล้มบนฟูก” อย่างที่หวัง เพราะถูกยึดทรัพย์

การเคลื่อนไหวของผู้เสียหายคดี แชร์ดัง Forex-3D นำโดย น.ส.วราไพรินทร์ ธนวริสพร หรืออาย นักแสดงสาว ที่ติดตามคืบหน้าการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์และการขอคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย จาก สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สะท้อนมุมน่าสนใจเมื่อยังมีผู้เสียหายจำนวนไม่น้อย “ตกหล่น” ความเข้าใจสิทธิในการยื่นคำร้องคุ้มครองของผู้เสียหาย เพื่อโอกาสขอเฉลี่ยทรัพย์คืน

ข้อมูลจาก ปปง. พบว่าตามระเบียบคณะกรรมการธุรกรรมว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2559 เมื่อคณะกรรมการธุรกรรม (บอร์ด ปปง.) มีมติให้ยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำผิดไว้ชั่วคราว ระหว่างนี้ ปปง. จะดำเนินมาตรการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายโดยกำหนดให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องพร้อมหลักฐาน รายละเอียดความเสียหายและจำนวนความเสียหาย ซึ่งต้องดำเนินการภายใน 30 วัน นับแต่วันประกาศ

หลักการสำคัญผู้มีสิทธิยื่นคำร้องต้องเป็นผู้เสียหายจากการกระทำความผิดมูลฐาน และมีหลักฐานมาแสดง เช่น สำเนาการแจ้งความ สำเนาคำสั่งหรือคำพิพากษา หรือหลักฐานอื่นใดที่แสดงว่าเป็นผู้ได้รับความเสียหาย เมื่อเข้าระบบแล้วจะเป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย เพื่อรอเฉลี่ยคืนจากทรัพย์สินที่ยึดได้จากการกระทำความผิดคดีดังกล่าว

“ทีมข่าวอาชญากรรม” มีโอกาสสอบถามความสำคัญและการใช้มาตรการทางทรัพย์สินช่วงนี้ โดยเฉพาะคดีฉ้อโกง และคดียาเสพติด ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีรัตน์ เลขานุการ รมว.ยุติธรรม มองว่า การยึดและอายัดทรัพย์เป็นวิธีปฏิบัติและเป็นมาตรการสำคัญเพื่อหยุดยั้งความเสียหายของทรัพย์สินที่ได้ไปจากกระทำผิด ทั้งในคดียาเสพติดและคดีฉ้อโกงต่างๆ เพราะกว่าศาลจะตัดสินต้องใช้ระยะเวลายาวนาน กฎหมายจึงให้อำนาจเฉพาะกับเจ้าหน้าที่ทั้งในชั้นสืบสวนและชั้นสอบสวน เพื่อยึดและอายัดไว้ตรวจสอบก่อนป้องกันการซุกซ่อนโยกย้ายถ่ายเท ถือเป็นการปกป้องทรัพย์สินที่ถูกประทุษร้ายหรือถูกหลอกไป

ที่สำคัญการยึดและอายัดจะทำให้ผู้เสียหายได้รับการเยียวยา เพราะทรัพย์สินที่ได้จะผ่านกระบวนการตรวจสอบ เมื่อปรากฏพยานหลักฐานว่าได้ไปจากการกระทำความผิด หรือเกี่ยวเนื่องกับการกระทำผิด ทรัพย์สินเหล่านี้โดยเฉพาะในคดีแชร์ลูกโซ่ หรือการฉ้อโกง จะถูกนำมาเฉลี่ยคืนแก่ผู้เสียหายตามอัตราส่วน ถือว่าเป็นการช่วยบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการหลอกลวงให้กับผู้เสียหายได้

“การยึดทรัพย์ตัดวงจรมีกระบวนการหนึ่งที่สำคัญคือ การตรวจสอบเส้นทางการเงิน นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงพยานหลักฐาน หรือความเชื่อมโยงระหว่างบุคคล หรือการหลอกให้โอนเงิน หรือการยักย้ายถ่ายเทโอนไปยังบัญชีต่างๆ ยังทำให้เห็นว่าสามารถนำเส้นทางการเงินเหล่านี้มาพิสูจน์ต่อศาล เพื่อเป็นพยานหลักฐานที่แน่นหนาขึ้น นอกจากพฤติกรรมในการกระทำผิด”

ปัจจุบันความเข้มข้นมาตรการทางทรัพย์สิน เป็นเครื่องมือ “ดับฝัน” ที่น่าจับตา กับอนาคตเส้นทาง (ไร้) กลีบกุหลาบของบรรดาคนโกงที่เสี่ยงกอบโกยไป ก็ไม่ได้เสวยสุข…ถาวร.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]