ช่วงนี้เรามักจะได้ยินคำว่า “scenario” การเมืองไทย ภายหลังวันที่ 30 ก.ย.นี้ คำว่า “ซีนาริโอ” นี่หมายถึงภาพที่คาดว่าจะเกิดขึ้น วันที่ 30 ก.ย.นี้ เราก็รู้กันอยู่แล้วว่า เป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ หรือไม่ เนื่องจาก ดำรงตำแหน่งนี้มา 8 ปีแล้วตั้งแต่เดือน 21 ส.ค.57 ที่ให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ( สนช.) รับรองให้เป็นนายกฯ

ก็เถียงกันว่า จะต้องนับอายุนายกฯ เริ่มตั้งแต่ตอนไหน? ฝ่ายหนึ่งก็จะไปถามกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งจริงๆ ไม่ต้องไปถามหรอก เสียเวลา ศาลรัฐธรรมนูญตีความไปเลย ก่อนหน้านี้ก็มีคดีข้อขัดแย้งการตีความรัฐธรรมนูญ ก็เจอ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ตอบสะบัดๆ มาว่า “มีหน้าที่เขียน ไม่ได้มีหน้าที่ตีความ” ดังนั้นเอาที่ศาลรัฐธรรมนูญสบายใจ ไม่ต้องไปหาบันทึกการประชุมอะไรหรอก เสียเวลา ก็นับตั้งแต่วันที่บิ๊กตู่ใช้คำว่า “นายกรัฐมนตรี” ห้อยท้ายตำแหน่งก็ได้ ง่ายนิดเดียว

แต่ก็มีรายงานข่าวหลุดออกมาว่า กรธ. บอกให้ตีความโดยนับหนึ่งจากวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 มีผลบังคับใช้ ไอ้ส่วนบทเฉพาะกาลที่บอกว่า “ให้ ครม.ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้ ถือเป็น ครม.ตามรัฐธรรมนูญนี้ด้วย” เขาบอกว่า เป็นเพื่อให้การบริหารราชการเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เพราะกว่าจะมีฝ่ายบริหารชุดใหม่ได้ ต้องเลือกตั้ง เปิดสภาให้ได้ก่อน แล้วกว่าจะเลือกนายกฯ ได้เผลอๆ ก็นาน ถ้าไม่มี ครม. “อำนาจเต็ม” เกรงว่าอะไรๆ จะขาดช่วง

นายกฯ ย้ำจุดยืนรัฐบาลไม่มีนโยบาย แก้ ม.112-มติ ครม. จัดงบฯ 3,625 ล้าน  หนุนผลิต “ChulaCov19-ใบยา” - ThaiPublica

บางคนก็บอกว่า เพื่อความเป็นธรรม??? กฎหมายต้องไม่มีผลย้อนหลังในทางเป็นโทษ เพราะฉะนั้นควรจะต้องนับอายุของ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่วันที่ได้รับเลือกจากสองสภาเป็นนายกฯ พอมีคนถามว่า “แล้วกรณีนายสิระ เจนจาคะ อดีต ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เรียกว่าเป็นธรรมเหรอ? เขาก็บอกว่า นายสิระนั้นขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญแต่แรกอยู่แล้ว แต่เพิ่งมาตรวจเจอ ..ก็งงๆ เหมือนกันว่า แล้วแบบนั้น หัวหน้าพรรคกับนายทะเบียนพรรคที่อนุมัติให้นายสิระลงสมัคร ส.ส.หลักสี่ นี่ ไม่มีความผิดอะไรเลยหรือ? ..สำหรับการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ ก็อยากฝากบอกประชาชนไว้ว่า “อย่าเลือกพวกที่เคยมีข่าวมีคดีมา” มันเสียเวลา เกิดมีคดีอยู่..ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ศาลประทับรับฟ้องขึ้นมาก็ต้องพักการปฏิบัติหน้าที่ ถ้าเป็น ส.ส.เขต กลายเป็นประชาชนเขตนั้นเสียประโยชน์ ถ้าศาลสั่งพ้นจากตำแหน่งเสียเงินเลือกตั้งใหม่อีก

พูดก็พูดเถอะ ..มันก็มีวงพนันขันต่อเล่นๆ กันว่า “บิ๊กตู่อยู่หรือไป” ตอนแรกน้ำหนักเฉลี่ยไปฝั่งอยู่มากกว่า เพราะฝั่งได้อยู่ เขาเชื่อว่า “โอกาสที่จะตีความเป็นคุณสูง” โดยเขาตั้งข้อสังเกตว่า “ก็ศาลรัฐธรรมนูญ บางคน คสช.ตั้งมาใช่หรือไม่? แล้วมีโอกาสตีความเป็นคุณกับ คสช.หรือไม่?” อันนี้ก็ไม่รู้ ต้องเดิมพันกันตรงคำวินิจฉัยของตุลาการรายบุคคลว่า มีการให้เหตุผลหนักแน่นมากน้อยแค่ไหน และเขาก็ย้อนไปตั้งข้อสังเกตตามที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (ไอ้ฉบับที่ร่างมาแล้วโดนตีตก จนกระทั่งต้องตั้ง กรธ.มาร่างใหม่นั่นแหละ) เคยพูดทำนองว่า…สาเหตุหนึ่งที่รัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ถูกตีตก  เพราะ “เขา” อยากอยู่ยาว..เขาไหนก็ไม่รู้เนาะ

ตอนนี้ฝั่งให้อยู่ต่อชักจะเป๋ๆ ไปแล้ว เพราะการทำหน้าที่รักษาการนายกฯ ของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ คือดู “เอาซีน” มาก จากที่เดิมมีแต่เสียงเย้ยไยไพว่า นั่งก็หลับเดินก็ล้ม วันนี้เราได้เห็น “นิวป้อม” ที่กระฉับกระเฉง แบบมีกองเชียร์เรียกนายกฯ ป้อม ให้เขินเล่นๆ ลงพื้นที่ถี่ๆ ติดกัน ตรวจดูสถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งกำลังเป็นปัญหาหนักของประเทศในขณะนี้ …เรียกว่า “แค่แต่งตัวก็พร้อมนั่งนายกฯ แทนน้องตู่ได้” ก็ไม่แน่ว่า เผลอๆ อาจมีกลไกอะไรให้ต้องเปลี่ยน “ผู้ดำรงอำนาจ” ไปจนถึง “ขั้วอำนาจ” เพราะข่าวลือเรื่อง “2 ป.ใหม่” ที่จะผนึก ป.ป้อม ย้ายขั้ว ลอยแพ “ป.ประยุทธ์ กับ ป.ป๊อก” ก็หนาหู … ซึ่งว่ากันว่า ถ้า “คุยกันได้” จะมีบิ๊กดีลให้บางคนได้กลับประเทศ ..ซึ่งก่อนหน้านี้เขาดูมีความมั่นอกมั่นใจเหลือเกินว่า จะได้ “กลับมาเลี้ยงหลาน” แน่

การเปลี่ยนผู้ดำรงอำนาจ เอาเร็วคือต้องเอาบิ๊กตู่ออก 30 ก.ย.นี้ แล้วเอาบิ๊กป้อมขึ้นเป็นนายกฯ คนนอก ผ่านการโหวตโดยสองสภา ซึ่งบิ๊กป้อมเองก็น่าจะมีอิทธิพลในหมู่ ส.ว. อยู่ไม่น้อยพอกัน และยังมีบารมีในหมู่ ส.ส.มากกว่าบิ๊กตู่ …ซึ่งถ้าตามข่าวดีๆ ในช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจแต่ละครั้ง ก็ได้พี่ป้อมนี่แหละที่คุยกับ ส.ส.ให้ช่วยสนับสนุนน้องตู่ หรือไม่ก็พอจะอภิปรายไม่ไว้วางใจ (อย่างอภิปราย ปี 64) ก็มีกระแสข่าวบิ๊กตู่ต้องเคลียร์ใจ ส.ส. (ร่วมกับบิ๊กป๊อกอีกคน) ว่าจะเข้าหา เข้าถึงได้ง่ายขึ้น … ก็พูดง่ายๆ ว่า “2 ป.เดิม” ไม่มีบารมีกับ ส.ส.มากเท่า ป.ป้อม

เปลี่ยนนายกฯ หลัง 30 ก.ย. (กรณีหากบิ๊กตู่ถูกตีความว่าอยู่ครบวาระแล้ว) ไปก่อน แล้วเลือกตั้งเที่ยวหน้าใครจะมาเป็นนายกฯ ขึ้นอยู่กับตอนดีลกัน..ซึ่งไม่แน่ว่า อาจต้องรอดูจนถึงผลเลือกตั้งออก แล้วมาคุยกันอีกรอบ

ตอนนี้ก็เลยลุ้นกันยิ่งกว่าแทงบอล แบบว่าออกหัวออกก้อยได้ทั้งสิ้น ในเกมอำนาจ ถึงจุดหนึ่งความเป็นพี่น้องเขาก็มองข้ามไปแล้ว และใครจะรู้ว่า ป.ป้อม ที่เป็นตัวแปรสำคัญในสมการการเมืองครั้งนี้ อาจมี “เลือดข้นกว่าน้ำ” ที่เลือก “2 ป.ใหม่” แทน “2 ป.เก่า” ก็ได้ ..ยิ่งอยากเล่นการเมือง กระแสของ 3 ป. ก็ไม่ใช่ว่าจะดีอะไรเลยตอนนี้ จาก “ชัชชาติฟีเวอร์” ทำให้คนรู้สึกอยากเปลี่ยนแปลง ได้คนรุ่นใหม่มีเสน่ห์เข้ามาทำงาน และจะเทคะแนนให้คนบุคลิกคล้ายๆ แบบนั้น (เหมือนตอนพรรคอนาคตใหม่ขึ้นหม้อ เพราะภาพลักษณ์ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค) มันหมดยุคนักการเมืองเก่า ข้าราชการแก่ ขอเอาประสบการณ์ชั่วชีวิตมาเล่นการเมือง เขาต้องการ “คนรุ่นใหม่” ที่วิ่งตามโลกทัน

กรณีของบิ๊กป้อม จะทำอย่างไรที่จะสร้างภาพลักษณ์ความเป็นคนรุ่นใหม่? ถ้าเอาโดยตัวตนนั้น ขอบอกว่า ยากส์… แต่ถ้าสามารถแสดงบารมีประสานสิบทิศ จับขั้วที่ประชาชนเห็นแล้ว “ว้าว” ได้ ก็ดึงคะแนนนิยมได้ แล้วจะพาพรรค พปชร. ไปได้ต่อ ..แต่ก็อย่างว่านั่นแหละ คือถ้าจะให้ประคองน้องตู่ น้องป๊อก ไปด้วย มันก็ไม่พ้นถูกมองเป็น “ขั้ว คสช.” เดิม ในขณะที่คะแนนของขั้วตรงข้าม คสช. กำลังชิงความได้เปรียบกันรัวๆ ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล แค่ชูคนรุ่นใหม่ ชูนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน ประกาศนโยบายด้านเศรษฐกิจแก้หนี้ ..ที่สำคัญคือ “ทำลายมรดกของ คสช.” โดยการพยายามทำอย่างไรก็ได้ ในการยกเลิกรัฐธรรมนูญนี้ แล้วยกร่างใหม่โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ก็ซื้อใจคนได้มาก

พรรคอื่นขยับนโยบายกันมากแล้ว น่าแปลกใจตรงที่พรรค พปชร. ดูจะยังไม่ขยับเรื่องนโยบายใหม่ๆ ในการหาเสียงเลย แม้บิ๊กป้อมพยายามลงพื้นที่เพิ่ม แต่ไม่ได้ประกาศนโยบายอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน หรือนโยบายอะไรใหม่ๆ ทั้งที่เอาจริงก็ต้องพยายามจะกลับมาจัดตั้งรัฐบาลอีกสักครั้งไม่ใช่รึ? ความนิ่งผิดปกติมันก็คือการทำให้ตีความได้ว่ากำลัง “รอดีล” อะไรบางอย่างอยู่หรือไม่? …การเมือง อย่างไรมันก็มีสองขั้ว ฝ่ายไหนที่กำลังเพลี่ยงพล้ำก็ต้องคิดหนักเรื่องแผนสู้ …พรรคเล็กเขายังมีแผนจะรวมตัวกันเพื่อสู้ศึกเลือกตั้ง อย่างเช่นชาติพัฒนากล้า ..พรรคใหญ่ก็ต้องมี

ส่วนที่ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และหัวหน้าพรรค พปชร. ออกมาพูดทำนองว่า ..ถ้าผลการตัดสินวันที่ 30 ก.ย. ไม่ถูกใจใคร ระวังจะไม่ได้เลือกตั้ง.. มันเป็นเรื่องที่ต้องระวังคำพูดมาก เพราะอย่าลืมว่า ปัจจุบันนี้เราอยู่ในภาวะ “โลกล้อมประเทศ” การจะทำรัฐประหารอีกสักครั้ง ก็ให้ดูกรณีของเมียนมา ว่า โดนแบนไปแค่ไหน กระทบเศรษฐกิจและสังคมอย่างไร ..ข่าวรัฐประหารถูกย้ำขึ้นอีกว่า “น่าจะมีการเตรียมการ” หลังจาก ครม.เพิ่งอนุมัติใช้งบลับ 1,300 ล้านบาท เพื่องบประมาณด้านบุคลากรไปเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ..ทำให้ถูกตีความไปเยอะพอสมควรว่า งบด้านบุคลากรมันน่าจะเป็นงบประจำที่ตั้งอยู่ในกระทรวงแล้ว จะมาเอางบกลางไปทำอะไรอีก?

ย้อนกลับไปที่หัวข้อ 30 ก.ย. ออกรูปไหนก็เป็นจุดเปลี่ยนการเมืองไทย .. ตรงที่ถ้าออกลูก เป็นคุณกับบิ๊กตู่ ประเภทตีความให้เริ่มนับอายุปี 60 หรือ 62 คราวนี้ฝ่ายค้านจะใช้กระแสเรื่องความไม่เป็นธรรมขององค์กรอิสระขึ้นมาโจมตี เรียกร้องให้เปลี่ยนขั้วการเมือง จนถึงจุดหนึ่ง หลังเลือกตั้ง อาจสวิงเสียง ส.ส.ไปรวมกันได้ถึง 376 เสียง จะเป็นเสียงพรรคเพียวๆ หรือเสียงงูเห่าร่วมด้วยก็เถอะ แต่ปิดสวิตช์นายกฯ คสช.ให้ได้ก่อน

ถ้าออกลูกไม่เป็นคุณกับบิ๊กตู่ ..บิ๊กป้อมก็ไม่ควรรักษาการไปเรื่อยๆ ให้เป็นที่ครหา ถ้าห่วงเอเปค ก็เปิดประชุมสมัยวิสามัญ ให้สองสภา เลือกนายกฯ ให้ได้ก่อนเดือน พ.ย.ที่จะจัดเอเปค ซึ่งเอเปคเที่ยวนี้ก็คงไม่แกรนด์อะไรมากมาย ..ฝ่ายค้านอย่าเอาไปตีกินว่า รัฐบาลไม่มีน้ำยา แต่ความขัดแย้งในภูมิภาคทำให้การจัดการมันยากขึ้น บางประเทศก็เลือกจะส่งตัวแทนมา อย่างสหรัฐอเมริกาก็ค่อนข้างชัดว่าเป็นนางกมลา แฮริส รองประธานาธิบดี

ส่วนหลังเอเปคจะยุบสภาหรือไม่ ก็ต้องดูกระแสพรรค พปชร. (ถ้าบิ๊กป้อมยังอยากใช้พรรคนี้จัดตั้งรัฐบาล) กระแสดีก็รีบยุบเพื่อให้ ส.ส.ย้ายพรรคได้ภายใน 30 วันก่อนเลือกตั้ง แต่ไม่มีรัฐบาลไหนที่ยุบสภาในช่วงที่กระแสตัวเองย่ำแย่ เพราะเสี่ยงจะกลับมาไม่ได้สูง เว้นแต่ “ผู้มีอำนาจ” บางคนหาทางลงไว้แล้ว

ความเงียบของ พปชร. ขณะที่ปี่กลองเลือกตั้งดัง อาจซ่อนอะไรไว้เยอะ ต้องติดตาม

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”