หากเปรียบโลกนี้คือละครโรงใหญ่ ละครโรงเล็กการเมืองไทยกำลังเดินมาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ

เนื้อเรื่องกำลังไหลเข้าสู่ “จุดไคลแมกซ์” ที่มีความสลับซับซ้อนเข้มข้นลับ-ลวง-พราง

ตามท้องเรื่องการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดล่าสุดที่ทำเนียบรัฐบาล เป็นที่น่าสังเกต พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ​มีสีหน้ายิ้มแย้ม ไม่เคร่งเครียด เหมือนช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาเนื่องด้วยสภาความมั่นคงแห่งชาติ​ (สมช.) รายงานสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มราษฎรที่ประกอบด้วยกำลังหลักจากนักเรียน – นักศึกษา

เริ่มแผ่ว อยู่ในช่วงขาลงต่อเนื่อง!!

สมช.รายงานว่า ภาพรวมทั่วประเทศ การชุมนุมแบบดาวกระจาย มีมวลชนเข้าร่วมไม่เกิน 5​0,000 คน​

สถานการณ์หลังจากนี้ตัวเลขคนเข้าร่วมชุมนุมกับม็อบราษฎรมีแนวโน้ม ลดลงอย่างต่อเนื่อง!!

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเปิดใจในงานสัมมนา ที่โรงแรมแกรนด์ ฮอลล์ ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 11 พ.ย. ยืนยันไม่ห่วงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี แต่ทุกวันนี้ยอมรับ ห่วงประเทศชาติ เนื่องจากหากผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรงท้ายที่สุดย่อมกระทบไปถึงความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติ เกิดปัญหาการค้า การลงทุน 

“ถ้ามีปัญหากันอยู่ทุกวัน เขาจะมาไหม นี่คือสิ่งที่เป็นห่วง ผมไม่ได้ห่วงที่ตัวผมเรื่องตำแหน่งอะไรทั้งสิ้นแต่ผมห่วงฐานะประเทศไทยจะไปอยู่ตรงไหน และถ้าเขาไม่มา ย้ายฐานผลิตไปที่อื่นกันหมดจะทำอย่างไร” พล.อ.ประยุทธ์ ย้ำ

“บิ๊กตู่” พยายามสื่อสารไปถึงมวลชนทุกกลุ่ม หลักคิดของทุกฝ่ายตอนนี้คือภายใต้ระบอบประชาธิปไตยแม้ทุกคนเห็นต่างทางความคิดได้ แต่ทุกฝ่ายต้องอดทนไม่ใช้กำลังทำร้ายกัน ขณะที่รัฐบาลมีจุดยืน ไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรงทุกรูปแบบ

เอาเป็นว่ามองข้ามชอตไปเลย หลังจากนี้ต้องจับตาม็อบนักเรียน – นักศึกษา กำลังอยู่ในช่วง “ขาลง”  ตามที่ฝ่ายความมั่นคงคาดการณ์หรือไม่

ดัชนีชี้วัดตัวสำคัญให้จับตาไปที่ การนัดระดมพลของ กลุ่มนักเรียนระดับมัธยมศึกษาที่ใช้ชื่อว่า “กลุ่มนักเรียนเลว” มีกำหนดแสดงพลัง 2 ช่วงสำคัญ

“ช่วงแรก” วันเสาร์ที่ 14 พ.ย. นัดเดินขบวนจากหน้ากระทรวงศึกษาธิการไปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

“ช่วงสอง” วันเสาร์ที่  22 พ.ย. เดินขบวนครั้งใหญ่ ยกระดับชุมนุมขยับเป้าจากเดิมไล่ รมว.ศึกษาธิการ

เปลี่ยนไปไล่นายกรัฐมนตรีในฐานะที่เลือกนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เป็น รมว.ศึกษาธิการ

คู่ขนานกันให้จับตาปัจจัยเสริม ที่เปรียบเสมือนการราดน้ำมันเข้ากองไฟ เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่เป็น 1 ใน 3 ข้อเรียกร้องของกลุ่มราษฎรที่สมาชิกรัฐสภาประกอบด้วย ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และ ส.ว.บางส่วน เข้าชื่อใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วงเล็บ 2 ประกอบ ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อที่ 31

เสนอญัตติให้ที่ประชุมรัฐสภา มีมติส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ สามารถทำได้หรือไม่

หากท้ายที่สุดการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องสะดุด หยุดลง เท่ากับเป็นการสุมฟืนเข้ากองไฟเพิ่มแรงกดดันนอกสภาโดยอัตโนมัติ

ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ ม็อบราษฎรได้แนวร่วมเพิ่มจากกลุ่มคนที่ไม่พอใจ กติการัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เป็นทุนเดิม

ส่งผลให้การชุมนุมมีความเข้มข้นมากขึ้น !!

หน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยกำลังเดินมาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ นับจากนาทีนี้ต้องตามติดชนิดไม่กะพริบตา