ตลอดช่วงเดือน ก.. เกือบทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐเอกชน ส่วนใหญ่จะมีความเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็น การปรับเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่การงาน ทดแทนผู้เกษียณอายุราชการ หรือ การโยกย้ายเลื่อนขั้นตำแหน่งสูงขึ้น ภาพรวม ๆ ผู้ที่จะมีคุณสมบัติได้เลื่อนขั้นภายในองค์กรตัวเอง ก็จะไม่ค่อยแตกต่างกันเท่าไรนัก ใครจะได้ขึ้น ตำแหน่งระดับสูง ๆ ยิ่งต้องครบเครื่อง ทั้งความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ และอาวุโสในองค์กรนั้น ๆ ฯลฯ

บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) หรือมักเรียกสั้น ๆ ติดปากว่า วิทยุการบินฯ ถือเป็นอีกหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคม มีหน้าที่ให้บริการการเดินอากาศของประเทศ เป็นหน่วยงานที่ไม่ค้ากำไรเพราะทำงานด้านความมั่นคงปลอดภัยในการบริการการเดินอากาศ รายได้หลัก ๆ มาจากค่าบริการที่เรียกเก็บจากสายการบิน

ปัจจุบันวิทยุการบินฯ เพิ่งจะมี CEO ใหม่ คนที่ 10 มาได้ 5 เดือนเศษ คือ ดร.ณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ มานั่งเก้าอี้ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (รับตำแหน่ง 1 เม.ย. 65) โดยผ่านมติเห็นชอบผลการสรรหามาจากที่ ประชุมคณะกรรมการบริษัท บวท. ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 65 แต่ช่วงเดือน ก.ค. 65 ที่ผ่านมา เริ่มมีความเคลื่อนไหวทำท่าจะวุ่น ๆ เมื่อ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จัดประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2565 มีวาระสำคัญที่หารือคือ เรื่อง รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะสมาชิก กับนโยบายรับ “บุคคลภายนอก” เข้ามาทำหน้าที่บริหารระดับสูง

ถัดมาเดือน ส.ค. ยังคงมีความเคลื่อนไหวต่อเนื่อง รอบนี้ เฟซบุ๊กของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจวิทยุการบินฯ ขยับเชิญชวนสมาชิกแสดงพลัง คัดค้านการสรรหาบุคคลภายนอก เข้าดำรงตำแหน่ง “รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่” พร้อมยังได้ย้ำถึงเหตุผล ความจำเป็น ข้อกฎหมาย ธรรมาภิบาล การรักษาผลประโยชน์องค์กร

ชนวนเหตุปมร้อนจึงหนีไม่พ้นเรื่อง การเปิดรับบุคคลภายนอก มาสรรหาเป็น “รอง กก.ผอ.ใหญ่” เพื่อทดแทนคนเก่ามีทั้งเกษียณอายุและลาออก รวม 5 ตำแหน่ง จึงถือเป็นครั้งประวัติศาสตร์ที่เปิดรับ บุคคลภายนอก มาแข่งขัน เดิมทีแนวปฏิบัติจะเป็น บุคลากรภายใน บวท. ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนี้ทั้งสิ้น

ต้นเดือน ก.ย. จู่ ๆ ทางบอร์ดฯ ออกประกาศผ่านทางเว็บไซต์ของวิทยุการบินฯ รับสมัครบุคคลภายในและภายนอก เพื่อรับการคัดเลือก/สรรหาเข้าดำรงตำแหน่ง “รอง กก.ผอ.ใหญ่ บวท.” โดยมีอายุไม่เกิน 58 ปี คุณสมบัติ อาทิ เป็นหรือเคยเป็นผู้บริหารภาคเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีรายได้รวมไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาทต่อปี โดยดำรงตำแหน่งถัดจากผู้บริหารสูงสุดไม่ต่ำกว่า 3 ลำดับขององค์กร เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี ฯลฯ

สำหรับ บุคคลภายใน ของ บวท. ที่สมัครดำรงตำแหน่ง รอง กก.ผอ.ใหญ่ บวท. ตอนแรกมี 7 คนถอนตัวไป 1 ได้เข้าสัมภาษณ์ไปแล้ววันที่ 8 ก.ย. ขณะที่ บุคคลภายนอก คณะกรรมการสรรหาฯ ประกาศรายชื่อผู้มีคุณสมบัติผ่านสัมภาษณ์ 4 คนไปวันที่ 22 ก.ย. และนัดสัมภาษณ์วันจันทร์ที่ 26 ก.ย.นี้ แม้ทาง สหภาพแรงงานฯ บวท. จะพยายามคัดค้าน พร้อมทำหนังสือทักท้วง ขอเข้าพบทั้งประธานบอร์ดและซีอีโอก็ไม่ค่อยได้รับความสนใจ ย้ำแต่ว่ามีอำนาจสรรหาบุคคลภายนอก บ้างก็ปลอบประโลม ’ไม่เป็นไรหรอก รองฯคนนอก ถึงมาก็ให้ทำสัญญาจ้างอยู่แค่ 4 ปี เดี๋ยวก็ไปแล้ว“

สุดท้ายเริ่มมีกระแสว่า จะมีการพยายามแก้ไขรายละเอียดบางข้อจากประกาศเดิม หาก บุคคลภายนอก ที่ผ่านการสรรหามีคุณสมบัติดีเด่นเป็นพิเศษ อาจจะได้บรรจุเป็น พนักงานของ บวท. ได้อีก ทั้งที่ตั้งแต่ช่วงเกิดวิกฤติโควิดฯ บวท. มีนโยบาย ไม่รับ “พนักงานใหม่” มาได้สักพักใหญ่แล้ว

ตำแหน่งรอง กก.ผอ.ใหญ่ ระดับเงินเดือนถ้าเต็มเพดานจะสูงถึง 3.2 แสนบาท ยังไม่รวมค่าตำแหน่งอีก 2.8 หมื่นบาท หลายคนกว่าจะปฏิบัติหน้าที่ ขึ้นมาตำแหน่งระดับอาวุโสของ บวท. ต่างก็มีประสบ การณ์โชกโชน ทั้งทุ่มเททำงาน หรือล่าสุดช่วง 2-3 ปี ต่างก็ร่วมกันต่อสู้ฝ่าวิกฤติโควิดฯจนผ่านพ้นมาได้ แต่ก็ใช่ว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

ในเมื่อปีนี้กำลังจะมี “คนนอก” โผล่มาคว้าตำแหน่ง รอง กก.ผอ.ใหญ่ ปมร้อน ๆ คงไม่จบง่าย เหมือนถูกมองข้ามหัวไม่พอ ยังเจอตัดเส้นทางความก้าวหน้าอาชีพ ของบุคลากรในองค์กร และที่ทุกคนเริ่มหวั่นใจมากคือ การลากพวกพ้องเครือข่ายเข้ามาหวังต่อท่ออำนาจกัน สุดท้ายก็จะกลายเป็นปัญหาเกิดขึ้นกับ “บวท.” ในอนาคตแน่นอน!!.

——————
เชิงผา