อาจารย์วิทูล ทิพยเนตร คณบดีสถาบัน Gen.Ed และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความรู้พาเช็กความพร้อมก่อนเกษียณ ทั้งให้มุมมองการออกแบบความสุขชีวิตวัยเกษียณว่า เกษียณ ในคำนี้อาจต้องถามตัวเราเองว่ามองไว้อย่างไร มีนิยามอย่างไร

เกษียณ ก่อนหน้าอาจมีมุมมองในอีกรูปแบบหนึ่ง ด้วยเพราะสเต็ปของการใช้ชีวิตเป็นช่วงที่ประเทศกำลังเร่งพัฒนา ผลิตกำลังคนเข้าสู่การพัฒนาประเทศ การใช้ชีวิตจึงเป็นขั้นเป็นตอน มีมุมมองการใช้ชีวิตในลักษณะการเรียน ทำงาน และเกษียณ แต่ปัจจุบันเป็นยุคของการก้าวข้ามการใช้ชีวิตแบบเดิม ไปสู่การนำแต่ละขั้นตอนมาผสมผสานกัน

จะเห็นได้ว่า อาชีพที่คุ้นเคยหลาย ๆ อาชีพจากอดีต ในปัจจุบันหลายอาชีพได้หายไป มีอาชีพใหม่ ๆ เกิดขึ้นมามาก และในเทรนด์นี้ก็จะยังคงมีต่อไป และน่าจะมีอาชีพใหม่ ๆ หลังจากนี้เกิดขึ้นตามมาอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนหนึ่งนี้ ฉายภาพบอกเล่าการใช้ชีวิตแบบใหม่ของคนรุ่นใหม่

“ปัจจุบันจะสังเกตเห็นว่ามี กลุ่มฟรีแลนซ์ มากขึ้น และในกลุ่มนี้ไลฟ์สไตล์การทำงานจะไม่เหมือนกับกลุ่มคนทำงานที่เข้าสู่ระบบงานปกติ เกษียณ คำนี้ถ้าจะมองจากกลุ่มนี้อาจแตกต่างไป ทั้งนี้มองว่า กลุ่มที่ทำงานอิสระ กลุ่มที่มีการใช้ชีวิตแบบมัลติสเต็ป ไลฟ์ มีหลายขั้น อย่างเช่น ขั้นตอนการเรียนรู้ อาจไม่ใช่เฉพาะเป็นเรื่องการเรียนเพียงอย่างเดียว

อาจผสมกันระหว่างการค้นหาตัวตน สร้างทีม สร้างธุรกิจเพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จในระยะเวลาที่สั้นลง สำเร็จเร็วขึ้น นิยามการเกษียณแบบเดิมจึงอาจไม่ต้องรอถึงอายุ 60 ปีขึ้นไป และมองการเกษียณไม่ใช่แค่การหยุดทำงาน การเกษียณตนเองมีได้หลายรูปแบบเพิ่มขึ้น”

อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ อาจารย์วิทูล ขยายความเพิ่มอีกว่า อย่างเช่น การเกษียณที่ต้องทำงานตามระบบอาจมาถึงเร็วขึ้น ในมิติด้านการเงินสำเร็จเร็วขึ้น ไม่กังวลกับเรื่องรายรับที่จะเข้ามา ไม่อาศัยเงินเดือนแต่มีรายรับในรูปแบบอื่นมาแทน หรือ ในด้านสุขภาพ ถ้ามีความสำเร็จเร็วขึ้น ก็จะมีเวลาใช้ชีวิตนับแต่ช่วงที่สำเร็จ ไปถึงวัยที่สูงอายุขึ้นมากกว่าปกติ และมีเวลาอุทิศตนให้กับสังคม ฯลฯ

จากที่กล่าวจะเห็นถึงสเต็ปการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป การเกษียณอายุของคนรุ่นใหม่จะเร็วขึ้น ทั้งในเรื่องการทำงานตามระบบ สภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งส่วนนี้ถ้าสำเร็จเร็ว จะไม่กังวลกับเรื่องของตนเอง แต่สามารถโฟกัสเรื่องที่ทำเพื่อคนอื่น เพื่อสังคมได้มากขึ้น ขณะที่คุณภาพชีวิตอาจไม่ต้องยึดติดกับโรคภัยไข้เจ็บ ทั้งนี้หากกาย ใจดี สุขภาพ สิ่งต่าง ๆ รอบตัวจะดีขึ้นตามมาด้วย

“ในกลุ่มก่อนเกษียณ โดยทั่วไปการเตรียมความพร้อมอาจต้องโฟกัสว่า ถ้าอายุหกสิบปีมาถึงจะเกษียณเรื่องใดบ้าง โดยเฉพาะเรื่องการเงิน สุขภาพ ต้องวางแผนให้พร้อม ในเรื่องการเงิน ควรต้องวางแผนเตรียมความพร้อมไว้แต่เนิ่น ๆ อย่างน้อยหลังเกษียณไปแล้ว ต้องอยู่ได้ด้วยสภาพคล่องด้วยตัวเราเอง อาจไม่ต้องมากมาย แต่มีพอใช้จ่ายดำรงชีพ มีส่วนหนึ่งไว้ใช้จ่ายสำรองยามฉุกเฉิน ฯลฯ จัดแบ่งไว้เป็นส่วน ๆ ส่วนจะมากน้อยแค่ไหนอย่างไร ขึ้นอยู่กับแนวทางของแต่ละบุคคล”

อาจารย์วิทูล ให้มุมมองเตรียมความพร้อมเพิ่มอีกว่า ในเรื่องของ สุขภาพ หากไม่ได้เตรียมพร้อมไว้ล่วงหน้า การเตรียมความพร้อมด้านจิตใจเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อสุขภาพจิตดี สุขภาพกายจะดีขึ้นตามมา ฯลฯ ซึ่งส่วนหนึ่งนี้เป็นพื้นฐาน เริ่มได้จากการปรับ Mindset เตรียมพร้อมให้กับตนเองเบื้องต้น

จากนั้นเมื่อก้าวข้าม เข้าสู่วัยเกษียณ แน่นอนว่าจะพบกับความเปลี่ยนแปลง มองว่าในทุกการเปลี่ยนย่อมมีใจหวิวไปบ้าง แต่อย่างไรแล้ว อยากให้เชื่อมั่นว่าทุกการเปลี่ยนแปลงย่อมมีสิ่งดี ๆ เกิดขึ้น ใช้ชีวิตให้มีคุณภาพ และสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง โดยถ้าโฟกัสไปสองส่วนนี้ได้ จะเกิดเป็นความสมดุล มีความสุขกับชีวิตวัยเกษียณ

“เมื่อเราอยู่กับความเป็นตัวเองมานาน เป็นไปได้ที่จะไม่เห็นศักยภาพ เห็นสิ่งที่เป็นข้อดี จุดเด่นของตัวเรา สิ่งที่จะเป็นภาพสะท้อนได้ดีคือผู้คนในบริบทนั้น ๆ จะช่วยบอกเล่า ทั้งนี้ทุกช่วงอายุจะมีชุดประสบการณ์ที่แตกต่างกัน ถ้าสิ่งนั้นเป็นความสามารถที่โดดเด่นจะเป็นจุดแข็งที่จะส่งต่อให้กับคนรอบข้าง หรือถ่ายทอดให้กับคนรุ่นหลังได้เรียนรู้ ฯลฯ เป็นกระบวนการที่ค้นหาตนเองได้อย่างง่าย ๆ ทั้งเป็นแนวทางสร้างคุณค่าให้สังคม แชร์คุณค่า สร้างความภูมิใจร่วมกันไปในสังคม ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งวิธีสร้างสุขหลังเกษียณได้”

ส่วนการเตรียมความพร้อมของ กลุ่มคนรุ่นใหม่ การเตรียมความพร้อมของกลุ่มนี้ในเรื่องของเกษียณ จากที่กล่าวอาจนิยามคำว่าเกษียณได้ยาก หรืออาจยังไม่มองหรือวางแผนการเกษียณ เพราะยังเป็นเรื่องไกลตัว จุดมุ่งหมาย เป้าหมายในชีวิตอาจยังเป็นภาพ
ทับซ้อนกัน ในกลุ่มนี้จึงอาจต้องเริ่มต้นด้วยคำถาม

“สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเพื่อเตรียมความพร้อมเกษียณ คงไม่ต่างจากกลุ่มแรก ต้องมีความเข้าใจกับสิ่งที่เป็นอยู่อย่างเช่น ยังทำงานตามระบบปกติหรือไม่ หรือในเรื่องการเงิน คุณภาพชีวิตเตรียมออกแบบวางแผนไว้หรือยัง หรือถ้าจะเกษียณจะอยู่ที่จุดไหน ซึ่งบางคนยังคงทุ่มเท หักโหมทำงานแบบหามรุ่งหามคํ่าเพื่อให้ไปสู่เป้าหมายความสำเร็จ ฯลฯ จากที่กล่าวการเตรียมพร้อมเกษียณในกลุ่มนี้ จึงเป็นการเริ่มต้นด้วยคำถาม ก่อนที่จะวางเป้าหมาย”

การเกษียณจากกลุ่มนี้จึงอาจเกิดขึ้นไม่พร้อมกัน จะเกษียณไปทีละเรื่อง อย่างเช่น เกษียณจากการทำงานปกติก่อนแล้วไปทำงานของตนเอง หรือเกษียณเปลี่ยนมาสร้างรายรับด้วยตนเอง สร้างธุรกิจรายได้เพิ่มขึ้นด้วยตนเอง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นไลฟ์สไตล์ใหม่ของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน

คณบดีสถาบัน Gen.Ed อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ อาจารย์วิทูล ให้มุมมองทิ้งท้ายเพิ่มอีกว่า การเกษียณของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในอนาคตจะไม่เกษียณทีเดียวพร้อมกันในทุกเรื่อง แต่จะเริ่มวางแผนการเกษียณ ปลดล็อกไปทีละเรื่อง ที่สำคัญเกษียณในมุมคนรุ่นใหม่อาจจะไม่ได้หมายถึง หยุดการทำงานและออกไปใช้ชีวิต

แต่จะเป็นการหยุดระบบการบริหารจัดการของเขาเองในรูปแบบเดิม เพื่อไปค้นหาแนวทางการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ และก็อาจเกษียณจากการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ไปสู่การใช้ชีวิตในอนาคตต่อไป การเกษียณจึงไม่ใช่การหยุดแต่เป็นการเริ่มต้นใหม่

ในคำตอบของการออกแบบการเกษียณรูปแบบใหม่ จึงอาจต้องใช้ความหลากหลายพอสมควร แต่ภายใต้ความหลากหลายเหล่านี้ อยากเสนอแนวทางที่เป็นประโยชน์ให้กับทุกคนด้วย โดยเฉพาะเมื่อมีความสำเร็จเร็วขึ้น มีเวลาใช้ชีวิตหลังเกษียณเร็วขึ้น ถ้าสามารถมองหาแนวทางการสร้างคุณค่าให้กับผู้อื่น ให้กับสังคมได้ ก็จะก่อเกิดผลดีรอบด้าน ส่งผลต่อองค์รวม ทั้งนี้อาจไม่เห็นผลในระยะสั้น แต่ในระยะยาว ในทุกช่วงของการเกษียณแต่ละเจเนเรชั่นก็จะได้รับแต่สิ่งดี ๆ

มีความพร้อม มีสุขกับชีวิตหลังวัยเกษียณ.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ