ทั้งนี้ เสียงสะท้อนจากประชาชนเกี่ยวกับปัญหาขอทานนั้นก็มีมานาน… และกับตอนนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อน “มุมวิเคราะห์” จากทาง “คนทำงานภาคสนามเกี่ยวกับกลุ่มคนไร้บ้าน-กลุ่มคนเร่ร่อน ที่ก็ได้ฉายภาพ “วังวนปัญหาขอทาน” พร้อมกับมี “ข้อเสนอแนะ” เอาไว้…

“ปัญหาขอทานในไทย” นี่ “ไปกันใหญ่”

ขยายวงไปถึงไหน?-เช่นไร?…มาดูกัน…

ทั้งนี้ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทาง อัจฉรา สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน ได้สะท้อนผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” เอาไว้ว่า… กล่าวถึง “อาชีพขอทาน” นั้น ปัจจุบัน “กลายเป็นธุรกิจขายความน่าสงสารอย่างชัดเจน”  ซึ่งทางมูลนิธิอิสรชนก็ไม่ได้ทำประเด็นปัญหาขอทานโดยตรง เพราะไม่เห็นด้วยกับการขอทานอยู่แล้ว แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถแยกปัญหานี้ออกได้ เนื่องจากขอทานนั้น…ก็มีส่วนหนึ่ง-ก็มีบ้างที่เป็น “คนเร่ร่อน-คนไร้บ้าน” ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ทางมูลนิธิฯ โฟกัสในการให้ความช่วยเหลือ ดังนั้น ก็จึงต้องมีการรวมเรื่องของ “คนขอทาน” เข้าเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจ โดยเฉพาะเกี่ยวกับการ “จัดระเบียบ”

อย่างไรก็ตาม ทาง อัจฉรา ได้สะท้อนกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ต่อไปว่า… มีสิ่งที่อยากสื่อสารสู่สังคมมาก ๆ เพื่อจะให้สังคมเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับ “คนเร่ร่อน” และ “คนขอทาน” โดยที่ “ต้องแยกให้ออกจากกัน” ระหว่างคนเร่ร่อนกับขอทาน โดยคนเร่ร่อน หรือคนไร้บ้านนั้นก็คือกลุ่มหนึ่ง ส่วนขอทานก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งจากการทำงานด้านนี้มานาน…ส่วนใหญ่แล้วคนเร่ร่อนมักจะไม่มานั่งขอทาน ต่างจากขอทานที่จะมีที่พักเป็นหลักแหล่ง และเมื่อถึงเวลาทำงานก็จะออกมาขอทาน

เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน ยังระบุอีกว่า… ใน “มุมความสงสาร” นั้น “ขอทานจะได้รับประโยชน์มากกว่าคนเร่ร่อน” ซึ่งสังคมไทยเป็นสังคมที่ใจดี เห็นอะไรที่น่าสงสารก็จะเอาเงินให้ตลอด ซึ่งส่วนตัวแล้วเคยแลกเปลี่ยนทรรศนะเรื่องนี้กับเพื่อน ๆ ต่างชาติ โดยเกือบทั้งหมดเห็นเหมือนกันว่า… ขอทานคืออาชีพที่ขายความสงสาร” เพื่อให้คนที่พบเห็นอยากช่วยเหลือหรือทำบุญด้วย ซึ่งเป็นคนละเรื่องกันกับการแบ่งปันหรือแชริ่ง และประเด็นนี้มูลนิธิฯ ก็พยายามสื่อสารกับสังคมมาตลอดว่า… “คนไทยควรจะต้องเปลี่ยนมุมมองการทำบุญใหม่” โดย “ควรหันมาเน้นการทำบุญแบบแบ่งปันสร้างโอกาส” มากกว่า

“อยากให้คนไทยเปลี่ยนมุมมองการทำบุญ ด้วยการหันมาทำบุญแบบแบ่งปัน เช่น ช่วยเหลือให้คนนั้นพัฒนาตัวเอง ได้มีโอกาสพัฒนาชีวิต จนเปลี่ยนแปลงชีวิตไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งไม่ใช่การทำบุญแบบให้เงินขอทาน ที่ยิ่งให้ก็จะยิ่งมีขอทานเพิ่มขึ้น เพราะขอทานกลายเป็นอาชีพ เป็นอีกธุรกิจหนึ่งไปแล้ว!!” …

“ขอทาน” จากอาชีพ…ยุคนี้ “เป็นธุรกิจ”

และทางเลขาธิการมูลนิธิอิสรชนยังระบุว่า… กฎเหล็กของอิสรชนคือจะไม่ให้เงินกับทุกเคส ไม่ว่าจะกรณีใดก็ตาม ซึ่ง ปกติแล้วคนเร่ร่อนจะไม่ขอทาน จะมีศัพท์ที่ใช้เรียกการขอเงินว่า “ชนตังค์” อาทิ ขอเงินซื้อข้าว โดยจะเดินขอไปเรื่อย ๆ แต่จะไม่นั่งปักหลัก ซึ่งต่างจาก “ขอทานข้ามชาติ” ที่เกิดกระแสเมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่นอกจากตัวเองจะขายความสงสารแล้ว ยัง “นำเด็กเล็ก ๆ มาช่วยขอทาน”  ซึ่งถือเป็น “ธุรกิจขายความสงสารเต็มรูปแบบ” แถม “เข้าข่ายค้ามนุษย์” ด้วย

“ตอนที่เราเคยเข้าไปช่วยทำเรื่องนี้ พอเจ้าหน้าที่บุกเข้าจับก็พบว่าพวกนี้อยู่รวมกันเป็นหมู่บ้านเลย และเมื่อตรวจสอบเงินในบัญชี ปรากฏมีเงินหมุนเวียนหลักล้านเลย ซึ่งรายได้จากการขอทานนี้สมัยที่ คุณนที สรวารี อดีตเลขาฯ มูลนิธิฯ ยังไม่เสียชีวิต เคยปลอมตัวใส่วิกไปนั่งขอทานที่สะพานลอยย่านรังสิต ปรากฏนั่งชั่วโมงเดียวได้เกือบ 2 พันบาท ซึ่งสะท้อนชัดเจนว่าขอทานเป็นธุรกิจไปแล้ว และการที่หาเงินได้ง่ายก็เลยทำให้อาชีพนี้ไม่หมดไป”

นี่ฉายภาพ “ไฉนอาชีพขอทานยังมีอยู่?”

ไม่หมดไป “ซ้ำมีพัฒนาการเป็นธุรกิจ!!”

ทั้งนี้ กับ “ปรากฏการณ์ขอทานในไทย” ดังที่ฉายภาพมาข้างต้นนั้น ทาง อัจฉรา ยังได้ระบุว่า… ส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้ก็ สะท้อน “ความล้มเหลวของระบบสวัสดิการรัฐ??” …ที่ไม่สามารถทำให้คนเกิดรู้สึกถึงความมั่นคงในชีวิต?? และก็สะท้อนได้จากกระแสดราม่าหลาย ๆ กรณี ที่เมื่อมีคนเดือดร้อนจากปัญหาอะไรก็ตาม หรือจากระบบของรัฐ ก็จะเกิด “ปรากฏการณ์กระหน่ำเงินเข้าไปบริจาค” จนทำให้บางคนที่ได้รับการช่วยเหลือผ่านตัวเงินไม่ทันได้ตั้งรับเรื่องนี้ ซึ่งคนที่ตั้งหลักได้ ก็จะระมัดระวังในเรื่องนี้ แต่ก็มีหลาย ๆ กรณีที่ “นำเงินบริจาคไปใช้ผิดวัตถุประสงค์” จนเป็น “ดราม่า”

“ส่วนตัวคิดว่าคนที่อยู่ในระบบงานคงจะรู้กันว่า…ทำไมขอทานยิ่งจับก็ยิ่งมี?? อีกเรื่องหนึ่งคือ…ถ้าคนไทยยังทำบุญผิดวิธี ยังตกเป็นเหยื่อธุรกิจขายความน่าสงสารแบบนี้ ยังไง ๆ ธุรกิจขอทานก็ไม่หมดไป ดังนั้นสิ่งแรกที่ต้องทำคือหยุดให้เงินก่อนเลยเพื่อตัดวงจรนี้ออกไป ถ้าวงจรแรกนี้ไม่ถูกตัดไป ก็จะมีดราม่า มีกรณีมิจฉาชีพในคราบขอทานซ้ำ ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ” …เป็นอีกส่วนจากการสะท้อนไว้โดยเลขาธิการมูลนิธิอิสรชน กับกรณี “ขอทาน” ที่…

เป็น “ขอทานอาชีพ” นี่ก็ “ชวนอึ้ง” แล้ว

ยุคนี้ “ไปกันใหญ่” มี “นักธุรกิจขอทาน”

“ขายสงสารมีเงินล้านด้วยทุนมนุษย์!!”.