อย่างไรก็ดี ย้อนกลับไปเมื่อปี 2499 ตรงกับช่วงเวลาที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต จัดการประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 20 นายนิกิตา ครุสชอฟ เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตในเวลานั้น สามารถกระชับอำนาจภายในพรรคได้อย่างเบ็ดเสร็จ และปิดโอกาสคู่แข่งทางการเมืองภายในพรรคได้ทั้งหมด
ขณะเดียวกัน ครุสชอฟ ยังนำเสนอแผนยุทธศาสตร์ทางการทูตของซึ่งเป็นที่ถกเถียงอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศสังคมนิยม ซึ่งยึดถือหลักการว่า ทุนนิยมกับสังคมนิยมไม่สามารถร่วมมือและดำรงอยู่ร่วมกันได้ แต่ ครุสชอฟ กลับกล่าวว่า สหภาพโซเวียต “สามารถดำรงอยู่ร่วมกัน” กับ “ฝ่ายทุนนิยม” โดยเฉพาะการที่ ครุสชอฟ กล่าวว่า รัฐสังคมนิยมสามารถก้าวข้ามผ่านยุคสมัยดังกล่าวได้อย่างสันติ
ในเวลาเดียวกัน ชนชั้นแรงงานในโลกตะวันตกสามารถก้าวขึ้นสู่อำนาจสูงสุดทางการเมืองในประเทศของตัวเองได้เช่นกัน ผ่านการเลือกตั้งที่ต้องเป็นไปตามกระบวนการประชาธิปไตย หากทั้งสองสถานการณ์สามารถเกิดขึ้นได้ โลกสังคมนิยมกับโลกทุนนิยมจะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ โดยปราศจากความขัดแย้งด้านอาวุธ
ทั้งนี้ การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตครั้งที่ 20 มีอิทธิพลและส่งผลกระทบทางอ้อมต่อสถานการณ์ความไม่สงบในจีน ระหว่างช่วงยุคทศวรรษที่ 1950-1960 แม้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตพยายามบรรเทาความวิตกกังวลและความสงสัยของจีน เกี่ยวกับการสถาปนานายโจเซฟ สตาลิน เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของรัฐสังคมนิยมทั้งมวล ซึ่งเรื่องนี้ช่วยให้จีนสามารถปฏิวัติประเทศให้เป็นไปตามหลักการของ “ลัทธิเหมา” ได้ง่ายยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของการเผยแพร่อุดมการณ์ทางการเมืองของครุสชอฟในจีน เป็นเรื่องที่รบกวนและสร้างความลำบากใจให้แก่ประธานเหมา เจ๋อตง จนนำไปสู่การปฏิวัติทางวัฒนธรรมในที่สุด
ขณะที่ “การรณรงค์ร้อยบุปผา” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ขบวนการร้อยบุปผา” ซึ่งเป็นแคมเปญของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ระหว่างปี 2499-2500 ในการส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์พรรคคอมมิวนิสต์ได้อย่างเปิดเผย ทว่าความพยายามรณรงค์ครั้งนี้ล้มเหลวในท้ายที่สุด เนื่องจากกลับกลายเป็นการกวาดล้างกลุ่มปัญญาชนและนักวิชาการครั้งใหญ่
แม้การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต กับการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งนี้เกิดขึ้นคนละช่วงเวลา และมีความเหมือนกันตรงที่ เป็นการประชุมครั้งที่ 20 อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางการเมืองทั้งภายในจีน และสถานการณ์ภายนอกซึ่งจีนมีความเกี่ยวข้อง เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2561 ผลการหยั่งเสียงของที่ประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ ( เอ็นพีซี ) สมัยที่ 13 ปรากฏว่า มติที่เสนอโดยคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี “ควรอยู่ในตำแหน่งได้นานกว่า 2 สมัย” ได้รับเสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้น
ทั้งนี้ การแก้ไขมาตราดังกล่าวของรัฐธรรมนูญจะถือเป็นการสิ้นสุดธรรมเนียมปฏิบัติของการที่ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงทางการเมืองควรอยู่ในตำแหน่งไม่เกิน 2 สมัยหรือ 10 ปี ที่กำหนดขึ้นเมื่อปี 2525 ตามแนวคิดของนายเติ้ง เสี่ยวผิง ประธานคณะกรรมาธิการที่ปรึกษาส่วนกลางแห่งพรรคคอมมิวนิสต์ในเวลานั้น เพื่อป้องกันการเกิด “ความไม่สงบและความวุ่นวาย” ทางการเมือง ไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำรอยช่วงหลังการถึงแก่อสัญกรรมของประธานเหมา เจ๋อตง
แม้พรรคคอมมิวนิสต์จีนมี “ธรรมเนียมปฏิบัติ” ของการไม่เลื่อนขั้นให้แก่สมาชิกที่มีอายุมากกว่า 68 ปี แต่บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ เดอะ โกลบอล ไทม์ส ซึ่งเป็นหนึ่งในสื่อกระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์ ระบุเป็นนัยว่า จีนต้องการ “ภาวะผู้นำที่มีเสถียรภาพ” ระหว่างปี 2563 ถึง 2568
นอกเหนือจากการยกเลิกธรรมเนียมการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีแล้ว การประชุมเอ็นพีซีครั้งที่ 13 ยังมีมติให้บรรจุ “หลักปรัชญาสีจิ้นผิง” ว่าด้วย “แนวคิดสังคมนิยมอันเป็นคุณลักษณะเฉพาะสำหรับชาวจีนในศักราชใหม่” เพิ่มเติมเข้าสู่รัฐธรรมนูญของจีนอย่างเป็นทางการ หลังที่ประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ ( ซีพีซี ) มีมติในเรื่องนี้เมื่อเดือน ต.ค. 2560 ถือเป็นผู้นำระดับสูงสุดคนที่ 3 ของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีหลักปรัชญาเป็นชื่อของตัวเอง ต่อจาก “แนวคิดเหมา” ของประธานเหมา เจ๋อตง ผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ และทฤษฎีปฏิรูปเศรษฐกิจของนายเติ้ง เสี่ยวผิง
ในสายตาของสมาชิกระดับสูงในพรรคคอมมิวนิสต์จีน การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตเมื่อ 66 ปีที่แล้ว ยังคงเป็น “กรณีศึกษา” ต่อการบริหารจัดการความมั่นคงทางการเมืองภายในของจีนจนถึงปัจจุบัน และความกังวลเกี่ยวกับตัวเลข “20” จะผ่านพ้นไป จนกว่าการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะผ่านพ้นไปได้อย่างราบรื่นเท่านั้น.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES