ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังคงมีความเคลื่อนไหวทั้งหนังไทยและต่างประเทศ แต่เพราะสถานการณ์โรคระบาด “โควิด-19” จึงยังไม่สามารถเปิดฉายในโรงภาพยนตร์ได้ แฟนคลับและคอหนังก็ต้องอดใจรอต่อไปนะครับ เพื่อความปลอดภัยของทุก ๆ คน สำหรับกลางเดือน พ.ค.นี้ ดูหนังกับหมี ชวนคุณผู้ชมมาย้อนรอยดู “หนังไทยหาชมยาก” 3 เรื่อง 3 อารมณ์ แบบถูกลิขสิทธิ์ใน Apple TV โดย สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล (Sahamongkolfilm International) ได้ปล่อยหนังไทยระดับพรีเมี่ยม ทั้งหนังรักสุดคลาสสิก หนังสยองขวัญ ที่ใครหลายคนดูแล้วบอกต่อ ๆ กันว่าน่ากลัวสุด ๆ เพื่อให้คอหนังได้ซึมซับกับบรรยากาศเก่า ๆ ไปชมกันเลยครับ

“ขวัญ-เรียม”
ภาพยนตร์เรื่องนี้มีเนื้อหาดัดแปลงจากบทประพันธ์เรื่อง “แผลเก่า” ผลงานประพันธุ์เรื่องแรกของ “ไม้  เมืองเดิม” ตีพิมพ์ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2479 มีการนำมาทำเป็นภาพยนตร์หลายเวอร์ชั่น แต่ที่โดดเด่นสุดเป็นของ “เชิด ทรงศรี” (พ.ศ. 2520) คว้ารางวัลชนะเลิศจากงานประกวดภาพยนตร์ ณ เมืองน็องต์ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ.2524 ส่วน ขวัญ-เรียม เวอร์ชั่นล่าสุด (พ.ศ.2557) กำกับโดย หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล นำแสดงโดย ชัยพล จูเลี่ยน พูพาร์ต รับบทเป็น ขวัญ ส่วน ดาวิกา โฮร์เน่ รับบทเป็น เรียม ทำรายได้ไปมากกว่า 20 ล้านบาท

สำหรับ ขวัญ-เรียม 2544 นำแสดงโดย โจ-นินนาท สินไชย ในบท ไอ้ขวัญ แห่งทุ่งบางกะปิ และ ตอง-ภัครมัย โปตระนันท์ กับบทของ เรียม สาวงามผู้เพรียบพร้อมแห่งคลองแสนแสบ ความรักของทั้งสองเกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งของผู้ใหญ่สองบ้าน อันเป็นชนวนแห่งความรักอันยิ่งใหญ่ด้วยคำสาบานต่อ “เจ้าพ่อไทร” ว่าจะรักและซื่อตรงต่อกันตลอดไป 

จุดเด่น-ด้อย
ด้วยความเป็นหนังรักสุดคลาสสิก แนวลูกทุ่งเก่า ๆ ผู้ชมจะได้เห็นภาพบรรยากาศธรรมชาติของคลองแสนแสบเมื่อ 20 ปีก่อน มีทั้งความอุดมสมบูรณ์ ความเรียบง่ายของการใช้ชีวิตชาวนาชาวไร่ ทั้งยังมีเพลงประกอบภาพยนตร์ด้วยเสียงร้องของสาว “ตอง-ภัครมัย” ให้ฟังกันเพลิน ๆ เนื้อเรื่องไม่ได้มีความสลับซับซ้อนตรงตามบทประพันธ์เป๊ะ จะมีแปลกแตกต่างก็ตรงเซอร์ไพรส์ช่วงสุดท้าย แต่ที่ต้องเก็บไว้เป็นบทเรียนก็คือ บทหนังที่ดูตรงไปตรงมา จนดูราบเรียบซะทุกอย่าง ส่งผลให้ พระเอก-นางเอก ไม่โดดเด่นเท่าที่ควร เชื่อว่าจุดอ่อนเหล่านี้ทางผู้สร้างหนังจะนำไปปรับแก้กันใหม่ต่อไป. 

พลิกอารมณ์จากหนังสะเทือนใจกลับมาดูหนังสยองขวัญเรื่องที่ 2 กันบ้างกับ ฝีมือ  “มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล” ผู้กำกับชื่อดัง….หากคุณเป็นคนหนึ่งที่จำภาพของ “ป้าบัว” ได้ขึ้นใจแล้ว…เธอกำลังจะกลับมาชวนหลอนอีกครั้ง ไม่ว่าจะกลางวันหรือกลางคืนใน “คน ผี ปีศาจ” เมื่อภาพเหตุการณ์พ่อแม่ถูกฆ่าตายต่อหน้าต่อหน้า ทำให้ “อุ้ย” (นำแสดงโดย แอ-ภัทราริน ปัญญานุตธรรม) ต้องหนีออกมาขออาศัยอยู่กับ “ป้าบัว” (นำแสดงโดย อมรา อัศวนนท์) ญาติที่กรุงเทพฯ เจ้าของโรงพิมพ์ ที่มีอาชีพเสริมคือ “ร่างทรง” อุ้ยสัมผัสได้กับบรรยากาศแปลก ๆ ได้แถม “อาร์ม” (นำแสดงโดย อเล็กซ์ เรนเดลล์) หลานชายอีกคนก็มีพฤติกรรมประหลาด เอาแต่พูดเรื่อง “ผี” หวาดกลัวตลอดเวลา กระทั่งบางสิ่งทำให้เริ่มเชื่อว่าสถานที่แห่งนี้ คงไม่ได้มีแค่ “คน” อยู่จริง ๆ 

จุดเด่น-ด้อย
“คน ผี ปีศาจ” เป็นที่กล่าวขานในเรื่องการตีบทแตกของ “ป้าบัว” ด้วยสีหน้าท่าทางต่าง ๆ ที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกได้ถึงความหลอนชวนผวา นอกจากนี้ 2 นักแสดงทั้ง “แอ” และ “อเล็กซ์” สมัยเมื่อยังวัยรุ่นใส ๆ ก็ตีบทแตกเช่นกัน หนู ๆ ต่างสู้สุดชีวิตเพื่อให้หลุดรอดจากสิ่งลี้ลับ ผู้ชมจะได้เห็นมุมกล้องแปลก ๆ รู้สึกเหมือนว่ากำลังอยู่ใกล้ ๆ กับ เด็ก ๆ ทั้งแสงไฟและสีของภาพที่ดูหม่น ๆ สำหรับจังหวะ “ผีตุ้งแช่” ก็ยังมีให้เห็นแน่นอน ต้องยอมรับว่าการตัดภาพไปมาอาจมีเวียนหัวไปบ้าง แต่ก็ยังสร้างบรรยากาศให้น่ากลัวได้อยู่ดี สำหรับหนังเรื่องนี้ลงทุนไปหลายล้านบาท เหล่าคอหนังไทยก็ไม่พลาด ตามไปดูกันอย่างล้นหลามกวาดรายได้ไปมากกว่า 11 ล้านบาท 

และสุดท้ายกับหนังที่มีประโยคสุดคลาสสิกอย่าง “ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจว่า ฉันมีคนที่ฉันรัก” ใน “ข้างหลังภาพ (2544) ” ฝีมือผู้กำกับ “เชิด ทรงศรี” ที่ตีความหมายของคำว่า “ความรัก” เอาไว้ได้อย่างสวยงาม เราจะได้เห็นบทบาทของนักแสดงชื่อดัง เคน-ธีรเดช วงศ์พัวพันธ์ ที่มารับบทเป็น นพพร และ คาร่า พลสิทธิ์ ในบทของ ม.ร.ว.กีรติ โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ แม้จะผ่านมานานกว่า 19 ปี แล้วก็ตาม แต่เมื่อหวนกลับไปดูอีกรอบ ก็ยังสามารถตรึงใจผู้ชมได้มิรู้ลืม 

สำหรับ ข้างหลังภาพ เป็นนวนิยายประพันธ์โดย “ศรีบูรพา” หรือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เริ่มตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ลงในหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวัน เมื่อ พ.ศ. 2479 เป็นเรื่องราวของความรักต่างวัย ต่างสถานะ เนื้อหากินใจผู้อ่าน ด้วยภาษาที่สวยงาม นวนิยายเรื่องนี้เมื่อรวมเล่มได้รับการตีพิมพ์ซ้ำถึง 47 ครั้ง และได้รับการยกย่องว่า เป็นความงามในเชิงวรรณศิลป์ จนถูกนำไปแสดงเป็นละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ รวมถึงละครเวที ในรูปแบบละครเพลงอีกด้วย

จุดเด่น-ด้อย
ถือหนังรักที่ไม่ใช่แค่เพียงโชว์มุมกล้องกว้าง ๆ ในสถานต่างแดนที่สวย ๆ แต่ตัวละครคู่พระ-นาง ยังโชว์บทบาทและอารมณ์สีหน้าแววตาได้ยอดเยี่ยมราวกับเป็นละครเวที ซึ่งแม้ทุกอย่างจะดูธรรมดาในช่วงแรก ๆ แต่ช่วงหลัง เราจะได้เห็นการส่งอารมณ์แบบสุด ๆ ทั้งการพลัดพลากและการสูญเสีย อย่างไรก็ตามหลังจากที่ผู้ชมได้ชม ข้างหลังภาพ (2544) จนจบแล้ว ก็มักจะมีการถกเถียงในแง่มุมหลายประเด็น ซึ่งผู้ชมส่วนหนึ่งจะรู้สึกคล้อยตามจนเกิดความสะเทือนใจ และหลายคนอาจต้องเสียน้ำตา ขณะที่อารมณ์ของผู้ชมอีกส่วนหนึ่ง จะรู้สึกขัดแย้งว่าทำไมถึงกลายเป็นเรื่องเศร้า ซึ่งก็ต้องขออธิบายสั้น ๆ ว่า สมัยก่อนสังคมไม่เหมือนในปัจจุบันนี้ ค่านิยมทางสังคมสมัยนั้น “ผู้หญิง” จะมีกฏเกณฑ์บังคับทำให้ไม่มีโอกาสทำอะไร ๆ หลายอย่างที่ตัวเองต้องการ ความจริงบางอย่างก็ไม่อาจจะเผยให้รู้ได้นั่นเอง