วันนี้ “ทีมการเมืองเดลินิวส์” จึงถือโอกาสมาสนทนากับ “แม่บ้าน กกต.” แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. เพื่อไขคำตอบของทุกคำถามเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น

โดย เลขาธิการ กกต. เปิดฉากกล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งของ กกต.ว่า  กกต. พร้อมจัดการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นด้วยเงื่อนไขอะไร แต่ครั้งนี้มีเงื่อนไขที่สำคัญประการหนึ่ง คือยังไม่มีกฎหมายที่จะทำให้การเลือกตั้งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม ทั้งเรื่องจำนวน ส.ส. ที่เปลี่ยนไป กล่าวคือ ส.ส.แบ่งเขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน รวมทั้งเรื่องวิธีการคำนวณ ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำกฎหมายให้ไปตามรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม แต่ในทางการบริหารและธุรการนั้น ได้เตรียมเรื่องพวกนี้ไว้ตลอด รวมทั้งได้ร่างระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับภายหลังกฎหมายใช้บังคับ ทั้ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ทั้งนี้ ถึง สำนักงาน กกต. จะเตรียมการไว้อย่างไรแต่บางเรื่องต้องมีกฎหมายก่อนเราถึงจะทำได้

ส่วนความพร้อมในเรื่องอื่น ๆ จริง ๆ แล้วระบบที่ กกต.กำลังจะใช้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป เป็นเรื่องที่ประชาชนคุ้นเคยอยู่แล้ว ไม่ใช่ระบบใหม่เหมือนการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 แต่เป็นระบบเดิมที่เคยใช้มาแล้ว ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 รัฐธรรมนูญปี 2550 การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไรแล้ว จึงไม่รู้สึกหนักใจอะไรมากในการทำงาน ทั้งในส่วนของการทำงานของ กกต.เอง รวมทั้งการให้ข้อมูลแก่ประชาชนเกี่ยวกับเรื่องระบบเลือกตั้ง รวมทั้งผู้สมัครและพรรคการเมืองเองต่างก็คุ้นกับระบบนี้อยู่แล้ว เพราะมีการใช้มาโดยตลอด ยกเว้นการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 ดังนั้น โดยภาพรวม หากกฎหมายมีผลบังคับใช้ก็น่าจะไม่มีปัญหาอะไร ทั้งในส่วนของ กกต. พรรคการเมือง ตลอดจนประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

ความพร้อมเรื่องงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่จะใช้จำนวนเท่าไหร่

สำหรับงบประมาณในการจัดการเลือกตั้ง สนง.กกต. ได้รับการจัดสรรในภาพรวม 4,450 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขอาจจะสูง เนื่องจากเราของบประมาณ เพื่อจัดการเลือกตั้งภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ซึ่งจะต้องลดจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งต่อหน่วย และต้องเพิ่มหน่วยเลือกตั้งมากขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งระบบบัตรเลือกตั้งแบบ 2 ใบ ต้องพิมพ์บัตร 2 ประเภท และการที่แต่ละเขตผู้สมัครพรรคเดียวกันในจังหวัดนั้น ใช้เบอร์ต่างกัน รวมทั้งเบอร์ของผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตต่างจากเบอร์ของพรรคการเมือง อาจต้องพิมพ์บัตรเลือกตั้งแตกต่างกันทั้ง 400 เขต เป็นต้น จึงทำให้งบประมาณในการเลือกตั้งเพิ่มขึ้นมา อย่างไรก็ตาม สำหรับงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น รัฐบาลและรัฐสภาไม่ได้จัดสรรงบประมาณไว้ใน พ.ร.บ.งบประมาณปี 2566 ดังนั้น เมื่อจะมีการเลือกตั้ง กกต. ต้องไปของบกลางมาใช้ในการจัดการเลือกตั้ง

กกต. ตั้งเป้าหมายกับการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างไร และจะสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนได้อย่างไร

การเลือกตั้งครั้งหน้าตามเป้าหมายของ กกต. คือการเลือกตั้งต้องเป็นที่ยอมรับ ทั้งกระบวนการจัดการเลือกตั้ง และผลของการเลือกตั้ง โดยหลักง่าย ๆ คือ 1. การเลือกตั้งต้องโปร่งใส ประชาชนเห็นทุกขั้นตอนว่าเราจัดการเลือกตั้งอย่างไร 2. การเลือกตั้งที่เที่ยงธรรม คือการบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างถูกต้อง และเสมอภาค และ 3. การเลือกตั้งที่ประชาชนมีส่วนร่วม ทั้งกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งก็มาจากประชาชน การให้ประชาชนหรือองค์กรต่าง ๆ สามารถสังเกตการณ์การเลือกตั้งได้ทุกขั้นตอน

“ผมคิดว่ารูปแบบการเลือกตั้งเป็นวิธีการ จะเลือกตั้งแบบไหนก็ไม่ส่งผลต่อความไม่เรียบร้อยในการจัดการเลือกตั้ง หากสามารถทำได้ทั้ง 3 หลัก ทั้งโปร่งใส เที่ยงธรรม และการมีส่วนร่วม มันจะไม่เกิดความไม่เรียบร้อย”

มีความกังวลว่าอาจเกิดการยุบสภาก่อนที่กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งประกาศใช้ จะจัดเลือกตั้งได้หรือไม่และต้องจัดการเลือกตั้งอย่างไร

ตามหลักแล้วทุกปัญหามีทางออก ทั้งนี้ กกต. ก็ได้ศึกษาอยู่ว่าจะทำอะไรได้แค่ไหนอย่างไร หรือจะทำอะไรได้บ้าง แต่หากจะพูดตอนนี้คงยังไม่เหมาะสม เพราะยังไม่ได้เกิดเหตุการณ์อะไร แต่ยืนยันว่า สนง.กกต. ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการศึกษาว่าหากเกิดสถานการณ์แต่ละสถานการณ์เราจะทำอะไรได้บ้าง อาจมีสถานณ์การณ์ที่เกิดขึ้นได้ 3 สถานการณ์ กล่าวคือ 1. กรณีอายุสภาผู้แทนราษฎรครบวาระ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องมีผลบังคับใช้แล้ว หรือ 2. กรณีที่อายุสภาผู้แทนราษฎรอยู่ไม่ครบวาระ แต่กฎหมายที่เกี่ยวข้องมีผลบังคับใช้แล้ว และ 3. สถานการณ์สุดท้ายคือมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจนทำให้สภาผู้แทนราษฎรอยู่ไม่ครบวาระ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องยังไม่มีผลบังคับใช้

ผมเชื่อว่าหากเราทุกฝ่ายตั้งใจดีที่จะให้บ้านเมืองเดินต่อไป ปัญหาข้อกังวลต่าง ก็จะลดลง ถ้าทุกฝ่ายได้ร่วมมือกันแก้ปัญหาว่า กรณีที่ไม่มีกฎหมายต้องอาศัยความร่วมมือกันว่าจะคิดอ่านอย่างไรให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้ หรือให้มีการเลือกตั้งที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ซึ่งกระบวนการเลือกตั้งถ้าจะเรียบร้อยคือกติกาต้องเป็นที่ยอมรับ ชอบตามกฎหมาย มีความชอบธรรม และในระหว่างจัดการเลือกตั้งก็ต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส เที่ยงธรรม และการมีส่วนร่วม การที่เราจะไปคาดคะเนอะไรตอนนี้ยังไม่ได้มาก แต่หลักมันอยู่แบบนี้ หากทุกคนทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องตั้งใจดีกับบ้านเมือง ก็เชื่อว่าปัญหาต่าง จะเบาลง ถึงแม้จะอยู่ในกรณีที่ไม่มีกฎหมายบังคับใช้ก็ตาม

การจัดการเลือกตั้งในแต่ละสถานการณ์จะเป็นอย่างไร

กรณีที่รัฐบาลอยู่ครบวาระ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องมีผลบังคับใช้แล้ว เชื่อว่า กกต. พรรคการเมืองมีความพร้อม เชื่อว่าทุกอย่างจะพร้อมหมด พรรคการเมืองมีเวลาทำไพรมารีโหวตตามกฎหมายใหม่ เพราะทุกคนรู้เงื่อนเวลา มีเวลาเตรียมตัว

ส่วนกรณีสภาผู้แทนราษฎรอยู่ไม่ครบวาระ แต่กฎหมายที่เกี่ยวข้องมีผลบังคับใช้แล้ว สำนักงาน กกต. มีการเตรียมตัวอยู่แล้ว แต่พรรคการเมืองจะเตรียมความพร้อมได้แค่ไหนเพียงไรขึ้นอยู่กับว่ามีเวลาเตรียมการมากน้อยแค่ไหน พรรคการเมืองทำไพรมารีโหวตตามกฎหมายใหม่ได้ทันหรือไม่ หากพรรคการเมืองมีความพร้อมก็เป็นเรื่องดี เพราะ กกต. อยากให้การเลือกตั้งเรียบร้อย อยากให้พรรคการเมืองแข่งขันกันให้ได้มาก เพื่อเป็นทางเลือกของประชาชนในการเลือกผู้สมัครได้มากขึ้น

แต่หากเป็นกรณีสภาผู้แทนราษฎรอยู่ไม่ครบวาระ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องยังไม่มีผลบังคับใช้ จะต้องกลับไปใช้ไพรมารีโหวตตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน โดยพรรคการเมืองต้องมีตัวแทนพรรคหรือสาขาพรรคในเขตเลือกตั้งทุกเขต ถึงจะส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งได้ ต้องมีการจัดประชุม ตรวจเช็กองค์ประชุม บันทึกการประชุม มีการลงคะแนนโหวตผู้สมัคร ทั้งนี้หากดูข้อมูลในวันนี้ก็เป็นไปได้ยากมาก ที่พรรคการเมืองจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ครบทุกเขต.