พบกับคอลัมน์ “สังคมภูมิภาค” ออนไลน์ทุกวันเสาร์ “เมธ บานเย็น” ศูนย์ข่าวเดลินิวส์ภาคอีสานตอนล่าง มารับใช้ผู้อ่านบนโลกออนไลน์ เช่นเดิม วันนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 14 สิงหาคม 2564
@ วัคซีน…คือทางออกจากวิกฤติการระบาดโควิด-19 และนำพาประเทศกลับสู่ภาวะปกติ คือคำกล่าวที่น่าจะได้รับการยอมรับอย่างไม่มีข้อสงสัยแล้วในปัจจุบัน จากหลายๆ องค์กรและทุกภาคส่วนของประเทศในขณะนี้…แต่ต้องเป็น “วัคซีนที่มีคุณภาพสูง” และ “มีปริมาณเพียงพอ” ที่จะฉีดให้คนไทยทุกคน เพื่อป้องกันการป่วยหนักเข้าโรงพยาบาล และป้องกันการตายได้
@ ซึ่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้ทำข้อเสนอแนะให้มีการปรับแผนการจัดหาวัคซีน และบทเรียนที่ผ่านมาของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการจอง การจัดซื้อวัคซีนที่ล่าช้า และมีปริมาณน้อยเกินไป ความจำกัดของประเภทวัคซีน และการบริหารความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ ที่ไม่เพียงพอ อันเป็นผลจากการติดกฎระเบียบที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ ความล่าช้าในกระบวนการต่าง ๆ ของระบบราชการ การไม่มีกลไกคุ้มครองผู้ตัดสินใจหากตัดสินใจผิดพลาดโดยสุจริต การขาดมุมมอง และทักษะหลายด้านที่จำเป็น รวมทั้งการมีภารกิจล้นตัวจากงานประจำของคณะผู้จัดหาวัคซีน จึงทำให้การจัดหาวัคซีนไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิผลดังกล่าวนั่นเอง
@ เช่นที่ จ.นครราชสีมา…องค์กรภาคเอกชน 5 สถาบันของจังหวัด ประกอบด้วยหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา, สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา, สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยจังหวัดนครราชสีมา, เครือข่าย Biz Club นครราชสีมา และชมรมผู้ประกอบการร้านอาหารจังหวัด พากันร่วมกันออกแถลงการณ์ผ่านสื่อโซเชียลต่างๆ เพื่อเรียกร้องให้ 2 รัฐมนตรีโคราช ส.ว. ส.ส. ตลอดจนนักการเมืองทั้งหมด ให้สามัคคีร่วมกันเร่งแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของประชาชนชาวโคราช
@ โดย “นายศักดิ์ชาย ผลพานิชย์” ประธานหอการค้าจังหวัด สรุปข้อเรียกร้องดังนี้ 1.ขอให้เร่งจัดหาวัคซีนทั้งวัคซีนของทางภาครัฐ และวัคซีนทางเลือก นำมาฉีดให้กับประชาชนในจังหวัดให้ได้มากกว่า 70% และเร็วที่สุด เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งจะทำให้การใช้ชีวิตและเศรษฐกิจสังคมของโคราช กลับมาเหมือนเดิมโดยเร็วที่สุด 2.ขอให้ใช้ศักยภาพในทุกทางจัดหาชุดตรวจโควิด Antigen Test Kits (ATK) เพื่อทำการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยง และประชาชนทั่วไป รวมทั้งผู้ประกอบการ และภาคอุตสาหกรรม ให้ทั่วถึงและเร็วที่สุด 3.การเข้าถึงแหล่งเงินทุนแก่ผู้ประกอบการ Micro SME และ SME ให้สะดวก และรวดเร็ว โดยเน้นไปที่สถาบันการเงินของรัฐ เพื่อช่วยเหลือเงินหมุนเวียนในช่วงโควิด และ 4.ขอขยายระยะเวลาการลงทะเบียนผู้ประกันตนมาตรา 40 ของประกันสังคม ออกไปอีกไม่น้อยกว่า 1 เดือน และเพิ่มวงเงินเยียวยา เพื่อให้กลุ่มอาชีพอิสระที่มีอายุตั้งแต่ 15-65 ปี ได้เข้าถึงเงินเยียวยาจากประกันสังคม ฯลฯ
@ ตรงนี้ต้องชม “เทศบาลตำบลหมูสี” ถือว่าเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก่อนใครเพื่อน ใน จ.นครราชสีมา ที่สั่งซื้อวัคซีนซิโนฟาร์ม 12,000 โด๊ส ได้เป็นผลสำเร็จและกำหนดวันฉีคเป็นที่เรียบร้อย โดย “นายสมเกียรติ พยัคฆกุล” นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลหมูสี อ.ปากช่อง ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจการท่องเที่ยวขนาดใหญ่ ติดแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทั้งนี้เพื่อปกป้องชีวิตของประชาชน ถือเป็นการช่วยภาครัฐ และช่วยพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ให้ได้ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 โดยสภาเทศบาล ได้อนุมัติงบประมาณ 16 ล้านบาท ทำสัญญาซื้อวัคซีนซิโนฟาร์ม จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยจะทำการฉีดให้ประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งหมด 6,000 คน ณ โรงแรมกรีนเนอรี่ รีสอร์ทเขาใหญ่ โดยฉีดงวดแรกในวันที่ 19 สิงหาคมนี้ จำนวน 3,000 คนก่อน ผู้สูงอายุและ 7 โรคเรื้อรัง
@ ที่ จ.บุรีรัมย์…”นายธัชกร หัตถาธยากูล” ผวจ.บุรีรัมย์ กำหนดพื้นที่ควบคุม 2 หมู่บ้านใน 2 อำเภอ หลังพบผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่ เพื่อควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากเป็นผู้ติดเชื้อที่มาจากพื้นที่เสี่ยงแล้ว ยังตรวจพบผู้ติดเชื้อในพื้นที่บ้านหนองขาม หมู่ที่ 14 ตำบลหนองเต็ง อำเภอกระสัง จำนวน 17 ราย และในพื้นที่บ้านหนองปรือน้อย หมู่ที่ 9 ตำบลสวายจีก อำเภอเมืองบุรีรัมย์ อีกจำนวน 8 ราย ซึ่งมีผู้สัมผัสเพิ่มเติมในพื้นที่ดังกล่าว และพื้นที่ใกล้เคียงจำนวนมาก จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนหากปล่อยไว้ อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง จึงมีมติห้ามผู้ใดเข้า-ออก จากพื้นที่บริเวณคุ้มเหนือและคุ้มตะวันออกกลาง หมู่ที่ 9 บ้านหนองปรือน้อย ตำบลสวายจีก อำเภอเมืองบุรีรัมย์ และพื้นที่บ้านหนองขาม หมู่ที่ 14 ต.หนองเต็ง อ.กระสัง จนถึงวันที่ 20 สิงหาคม 2564 นี้
@ ตบท้าย…การแก้ปัญหาตลาดนัดบางแห่ง ในระดับเทศบาลตำบลที่ อ.สูงเนิน โคราช กับแม่ค้า-พ่อค้าที่หาเช้ากินค่ำ ที่พวกเขาก็เป็นอาชีพหนึ่งเหมือนกัน ที่ต้องจำเป็นทำมาหากินในตลาดนัดแห่งนี้มานานนับสิบปีแล้ว เพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เลี้ยงครอบครัว และสารพัดค่าใช้จ่าย ฯลฯ การที่พวกท่านสั่งปิดโดยที่ไม่มีมาตรการเยียวยาเขา ภาระหนี้สินเขา ใครจะรับผิดชอบ ทั้ง ๆ ที่พวกเขาก็ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค และทำการปรับปรุงพื้นที่ตามที่ท่านสั่งทุกอย่างแล้วก็ตาม
@ แต่พวกท่านก็ไม่สนใจถึงความเดือดร้อนของพวกเขา ไม่ยอมอนุญาตให้เปิดเหมือนเดิม เอากฎเกณฑ์ระเบียบ “ตลาดชุมชนถาวร” มาใช้กับ “ตลาดนัด” ที่พวกเขานัดรวมกลุ่มกันมาขายเพียงระยะเวลาอันสั้นๆ 2-3 ชั่วโมง และอาทิตย์ละแค่ 2 วันเท่านั้น..ฉะนั้นควรใช้หลักรัฐศาสตร์ควบคู่ไปกับนิติศาสตร์ด้วย มิเช่นนั้นต่อไปก็จะลุกลามบานปลายเป็นลูกโซ่ เป็นข่าวเกรียวกราว เหมือนเช่นกรณีแม่ค้าจิ้มจุ่มใต้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว ที่ จ.มุกดาหาร
บรรยายภาพข่าวสังคม
จ.อุบลราชธานี..นายแพทย์สุวิทย์ โรจนศักดิ์โสธร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วย นางเพชรา โรจนศักดิ์โสธร ประธานแม่บ้านสาธารณสุข และนายธานินทร์ ไชยานุกูล รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสร้างขวัญ ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขอำเภอนาจะหลวย ที่อยู่ห่างไกลติดชายแดนไทย-กัมพูชา โดยเจ้าหน้าที่ทุกคนปฏิบัติหน้าที่ประจำโรงพยาบาลสนามอำเภอนาจะหลวย ที่วัดป่าโนนนิเวศน์
จ.สุรินทร์…เจ้าหน้าที่ทหารจาก “ร้อย มทบ.25” ค่ายวีรวัฒน์โยธิน จ.สุรินทร์ จัดกำลังพล พร้อมรถจักรยานยนต์ 5 คัน ออกแจกจ่ายอาหารกล่อง ให้กับประชาชนที่มีอาชีพขับรถสามล้อ และผู้ยากไร้ ในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
จ.ศรีสะเกษ…”นายวัฒนา พุฒิชาติ” ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานปิดโรงพยาบาลสนาม Hospitel โรงแรมพรหมพิมาน อ.เมืองศรีสะเกษ ที่ใช้สำหรับรองรับและให้บริการผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ที่มีอาการดีขึ้น ที่ถูกส่งตัวมาจากโรงพยาบาลสนามวีสมหมาย และโรงพยาบาลศรีสะเกษ และโรงพยาบาลในอำเภอต่างๆ เพื่อมาพักรักษาตัวให้ครบ 14 วัน ทั้งนี้พบว่ายอดจำนวนลดลง จึงได้ทำการปิดโรงพยาบาลสนาม Hospitel ดังกล่าว และส่งคืนอาคารสถานที่ให้กับทางผู้บริหารเจ้าของโรงแรม พร้อมแสดงความขอบคุณคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ พนักงานโรงแรมพรหมพิมาน ทีมแพทย์ พยาบาล บุคลากรสาธารณสุขมา ที่ทุ่มเทเสียสละเพื่อสังคมส่วนรวมด้วยจิตอาสา
จ.ชัยภูมิ…เติมกำลังใจให้กัน “นายอนุชา เจริญรักษ์” นอภ.เมืองชัยภูมิ พร้อมบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ อสม. และทุกหน่วยงานลงพื้นที่ ไม่เว้นวันหยุดราชการ ตรวจเยี่ยมพร้อมให้กำลังใจแก่บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ อบต.ห้วยบง, รพ.สต.ห้วยบง, อสม. ชรบ.ตำบลห้วยบง ที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำศูนย์พักคอยตำบลห้วยบง ณ หอประชุม รพ.สต.ห้วยบง อ.เมือง จ.ชัยภูมิ
จ.ยโสธร…”นายชลธี ยังตรง” ผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการและองค์กรต่างๆ ร่วมกิจกรรมดำนาวันแม่ เก็บเกี่ยววันพ่อ ฉลอง 250 ปี ฮุ่งเฮืองเมืองยศ ณ แปลงสาธิตศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ อ.คำเขื่อนแก้ว พร้อมส่งเสริมการปลูกสมุนไพรไทย ในการป้องกันโรคระบาดโควิด-19 เช่น ฟ้าทะลายโจร ขิง ไพล กระชาย ข่า เพื่อผลิตท่อนพันธุ์ไปแจกจ่ายให้ประชาชนนำไปปลูกที่บ้าน เป็นสมุนไพรไทยที่มีประโยชน์สามารถต่อยอดทางธุรกิจได้ ภายใต้มาตรการการจัดงานที่เข้มงวด โดยมีผู้ร่วมกิจกรรมไม่เกิน 20 คน
@ จ.อุบลราชธานี…ต่างชื่นชม “พ.ต.อ.บุรภัช บุรีภักดี” ผกก.สภ.ช่องเม็ก ที่ใช้ความเฉียบคมเข้าทำการแก้ไขปัญหา ไม่เกิดการประทบกระทั่งของเจ้าหน้าที่รักษาความสงบ และกลุ่มที่ใช้ชื่อว่าราษฎรอุบล ที่จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เพื่อไปขอยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ที่ชายแดนช่องเม็ก แต่ทุกอย่างจบลงด้วยดี ไม่มีเหตุการณ์ใด ๆ และเรื่องดังกล่าวไม่ไปก่อให้เกิดความสั่นคลอนของความสัมพันธ์อันดีของทั้งสองประเทศด้วย
จ.นครราชสีมา…”น.ส.สราญจิต เจริญวัฒนากุล” พร้อมตัวแทนศิษย์เก่าสระแก้ว รุ่น 16 ร่วมบริจาคสมทบทุน กับสมาคมผู้ปกครองโรงเรียนวัดสระแก้ว คณะกรรมการสถานศึกษา สมาคมผู้ปกครอง สมาคมศิษย์เก่า รวมจำนวนทั้งสิ้น 52,219 บาท น้ำดื่ม 109 แพ็ก หน้ากาก N95 จำนวน 5 กล่อง ผ่าน “นายเสรี เจริญกลาง” ผอ.โรงเรียนวัดสระแก้ว เพื่อเป็นตัวแทนส่งมอบให้กับโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่บุคลากรของโรงพยาบาล
“ประเมธ เพราะพินิจ” หัวหน้าศูนย์ข่าวภาคอีสานตอนล่าง จ.นครราชสีมา รายงาน