การผ่านร่างพระราชบัญญัติ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เรียกเสียงฮือฮาจากบรรดาผู้กู้ยืมเงินจาก กยศ. เป็นจำนวนไม่น้อย

ขณะเดียวกัน!! ก็เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากกระแสสังคมไทยได้เป็นจำนวนไม่น้อยเช่นเดียวกัน ด้วยเพราะ…ไม่เพียงจะดับฝันของบรรดาเด็กรุ่นหลังที่กำลังเข้ารับการศึกษาและต้องการที่พึ่งอย่าง กยศ. เพื่อสร้างฝันให้กับตัวเอง

แต่…พ.ร.บ.กยศ.ฉบับใหม่ ที่บรรดาสมาชิกผู้ทรงเกียรติ 314 เสียง ได้ลงมติให้ผ่านร่างกฎหมายนี้ในวาระที่ 3 กำลังจะก่อให้เกิดปัญหาการสร้างพฤติกรรมลูกหนี้แบบผิด ๆ หรือมอร์รัล ฮาร์ซาร์ด ด้วยการ “จงใจเบี้ยวหนี้”

สาระสำคัญของร่างกฎหมาย คือ การกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาแบบปลอดดอกเบี้ย แถมยังไม่มีการคิดค่าปรับการผิดนัดชำระหนี้ ที่สำคัญ… ถ้ากระบวนการออกกฎหมายดำเนินการตามขั้นตอนจนมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ก็ยังมีผลย้อนหลังกับบรรดาเด็กนักเรียน นักศึกษา ผู้กู้ยืมเงินรวมไปถึงบรรดาผู้ค้ำประกันทุกรายอีกต่างหาก

สรุปง่าย ๆ ก็คือ “ไม่เก็บดอกเบี้ย ไม่คิดค่าปรับ ไม่ต้องมีคนค้ำประกัน แถมยังมีผลย้อนหลังไปยังบรรดาผู้กู้ยืมเงิน รวมถึงคนค้ำประกันทุกราย โดยไม่มีการเหลื่อมล้ำใด ๆ ”

ทั้งที่ร่าง พ...กยศ.ที่กระทรวงการคลัง ได้เสนอให้รัฐสภาพิจารณานั้น คือ อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ค่าเบี้ยปรับไม่เกิน 1% ของวงเงินกู้ แต่เมื่อนำไปพิจารณาในชั้นกรรมาธิการแล้ว อัตราดอกเบี้ย และค่าปรับเป็น 0%

อย่างที่บอก…แม้มองในภาพรวมแล้วน่าจะเป็นผลดีกับบรรดาเด็กนักเรียน นักศึกษา รวมไปถึงบรรดาผู้ค้ำประกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคุณครู เป็นญาติพี่น้องของผู้กู้ยืม

แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับไม่ใช่!! เพราะไม่เช่นนั้น คุณ ๆ ท่าน ๆ คงไม่ได้เห็น จำนวนผู้กู้ยืมเงินจาก กยศ.ที่ผิดนัดชำระหนี้มากถึง 2.5 ล้านคน โดยมีวงเงินที่ค้างชำระหนี้ 90,000 ล้านบาท

แม้มีหลายความเห็นระบุว่า… บรรดาผู้กู้ยืมไม่มีใครตั้งใจเบี้ยวหนี้และพร้อมชำระหนี้ตามกำหนดเวลาแน่นอน แต่จากข้อมูลก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ในความคาดหมายกับความเป็นจริงนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง!!

กยศ. ก่อตั้งขึ้นปี 38 ในรูปแบบของเงินทุนหมุนเวียน ก่อนออกกฎหมายมารองรับเพื่อให้ฐานะของ กยศ.เป็นนิติบุคคล โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังเมื่อปี 41

วัตถุประสงค์ของการก่อตัั้ง…ก็เพื่อ…ให้กู้ยืมเงินแก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการครองชีพระหว่างศึกษา ต่อมาได้ปรับเปลี่ยนแก้ไข โดยในปี 60 ได้มีนำ กยศ.และกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต หรือ กรอ. ให้มาอยู่ในกฎหมายเดียวกัน

ที่ผ่านมา กยศ.ได้ปล่อยกู้เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กนักเรียน นักศึกษาได้รับการศึกษาไปแล้ว จำนวน 6.28 ล้านคน วงเงินปล่อยกู้ 690,000 ล้านบาท โดยขณะนี้ผู้กู้ยืมได้ชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้วจำนวน 1.66 ล้านคน วงเงินที่ชำระหนี้คืน 129,183 ล้านบาท

ขณะที่มีผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างผ่อนชำระหนี้จำนวน 3,559,421 ราย วงเงินกู้ 452,677 ล้านบาท และยังมีผู้กู้ยืมที่อยู่ในช่วงปลอดหนี้ 986,668 ราย คิดเป็นเงิน 114,398 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้มีผิดชำระหนี้ 2.5 ล้านคน คิดเป็นเงิน 90,000 ล้านบาท

หากจำกันได้ ก่อนหน้านี้ที่มีการออกแคมเปญ #ล้างหนี้กยศ. ได้ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ขณะที่การพิจารณาร่างกฎหมายในสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ก็ดุเดือดไม่แพ้กัน กระแสเสียงแตกฉานซ่านเซ็นกันถ้วนหน้า ก่อนลงเอยผ่านฉลุยในวาระสาม 

ณ เวลานี้ กยศ.ไม่ได้พึ่งพาเงินงบประมาณมาตั้งแต่ปี 61 แต่นำเงินหมุนเวียนจากการชำระหนี้คืนจากผู้กู้ยืมปีละกว่า 30,000 ล้านบาท มาปล่อยกู้ให้กับนักเรียน นักศึกษารุ่นต่อไปกู้ยืมได้โดยไม่ต้องใช้เงินงบประมาณแผ่นดินตั้งแต่ปีการศึกษาขณะที่ในปีการศึกษา 65 นี้ กยศ.ได้เตรียมเงินไว้กว่า 38,000 ล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ให้กับนักเรียน นิสิต นักศึกษา กว่า 6 แสนราย

ถามว่า? ถ้าการไม่คิดดอกเบี้ย ไม่มีค่าปรับ แล้วผู้กู้ยืมจะมีวินัยทางการเงินหรือไม่? ปัญหานี้เป็นเรื่องใหญ่ ถ้าผู้กู้ยืมทุกรายมีวินัย นั่นก็หมายความว่าต้องขึ้นอยู่กับฝีมือการบริหารของ กยศ.เองว่าจะบริหารได้ดีแค่ไหน

การผ่านกฎหมายฉบับนี้ เหตุผลชัด ๆ ก็เพื่อหวังผลทางการเมือง เพราะเล็งเห็นแล้วว่า ฐานเสียงกลุ่มนี้มีจำนวนไม่น้อย โดยนำเรื่องของการปลดล็อกเงื่อนไขดอกเบี้ยเป็นศูนย์ ไม่มีค่าปรับการผิดนัดชำระหนี้ และไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันทุกกรณี แถมย้อนหลังให้ทุกคนอีกต่างหาก มาเป็นตัวตั้ง เพื่อหวังผลกับคะแนนเสียงในอนาคต

แต่ถ้าผู้กู้ไม่มีวินัย…แล้วอะไรจะเกิดขึ้น อนาคตของเด็กที่ควรได้รับโอกาสในการศึกษานั้นจะริบหรี่ลงเพียงใด?

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”