ทั้งนี้ ทั้งสองประเทศประกาศร่วมกันอย่างเป็นทางการ ฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตที่ห่างเหินกันไปนาน 3 ทศวรรษ “สนับสนุนซึ่งกันและกันบนเวทีระหว่างประเทศ” “การเคารพอธิปไตยซึ่งกันและกัน” และ “การไม่ก้าวก่ายกิจการภายในของอีกฝ่าย”

ความคืบหน้าครั้งสำคัญดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า คือผลงานชิ้นโบแดงทางการทูตของรัฐบาลไทยในสมัย พล.อ.ประยุทธ์ ที่ใช้เวลาขับเคลื่อนเบื้องหลังเป็นหลักนานถึง 6 ปี โดยการดำเนินงานของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.การต่างประเทศคนปัจจุบัน เนื่องจากแม้รัฐบาลชุดก่อนหน้านั้นหลายสมัย พยายามรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับรัฐบาลริยาด ทว่าไม่ประสบความสำเร็จมากนัก

เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ทรงต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย

เจ้าชายโมฮัมเหม็ด ซึ่งทรงเป็นที่รู้จักด้วยพระนามย่อ “เอ็มบีเอส” ทรงดำรงพระอิสริยยศองค์รัชทายาทแห่งซาอุดีอาระเบีย เมื่อปี 2558 หลังเหตุการณ์ที่หลายฝ่ายมองว่า เป็นการ “ก่อรัฐประหารเงียบ” เพื่อถอดเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน นาเยฟ ซึ่งทรงมีศักดิ์เป็นพระราชภาดา พ้นจากตำแหน่งมกุฎราชกุมาร หากไม่นับ “การบริหารจัดการภายใน” หรือ “การปรับโครงสร้าง” ภายในราชวงศ์ ถือได้ว่า เจ้าชายโมฮัมเหม็ดทรงมีพระวิสัยทัศน์ที่มีความเป็นสมัยใหม่สูงมาก ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนให้แผนการพัฒนาประเทศรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว เพื่อลดการพึ่งพิงเศรษฐกิจของประเทศกับน้ำมันเพียงอย่างเดียว

Arab News

เพียงไม่นานหลังรัฐบาลซาอุดีอาระเบียกับไทยประกาศการฟื้นฟูความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ ความร่วมมือระหว่างสองราชอาณาจักรในมิติที่สำคัญมีความเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นด้านการท่องเที่ยว แรงงาน พลังงาน และความมั่นคงทางอาหาร โดยสถิตินักท่องเที่ยวจากซาอุดีอาระเบียสะสมเพิ่มเป็นประมาณ 35,000 คน เมื่อรวบรวมข้อมูลถึงต้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ขณะที่รัฐบาลไทยคาดหวังว่า มาตรการผ่อนคลายวีซ่าจะช่วยให้ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากซาอุดีอาระเบีย เพิ่มเป็น 300,000 คน ภายในสิ้นปีนี้

จริงอยู่ที่พัฒนาการของความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบียกับไทยจนถึงเวลานี้ เน้นไปที่เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์ในแง่บริบททางการเมืองระหว่างประเทศ มีข้อบ่งชี้ว่า ไทยและซาอุดีอาระเบียกำลังเผชิญกับ “ความท้าทายที่คล้ายคลึงกัน” ทั้งสองประเทศถือเป็น “พันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ” ของสหรัฐ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกกลางตามลำดับ และความสัมพันธ์ระหว่างแต่ละประเทศกับสหรัฐนั้น ตึงเครียดเป็นระยะ จากประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนและสถานการณ์ภายในประเทศของตัวเอง

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลวอชิงตันแสดงท่าทีค่อนข้างชัดเจนว่า “ไม่สบอารมณ์” ที่ซาอุดีอาระเบียและไทย มีความร่วมมือและความสัมพันธ์ที่ดูเหมือนจะแน่นแฟ้นมากขึ้น กับจีนและรัสเซีย ท่ามกลางบรรยากาศตึงเครียดด้านภูมิศาสตร์การเมืองโลก จากสงครามในยูเครนที่ยืดเยื้อ

ภาพถ่ายมุมสูงของเมืองเจดดาห์ เมืองใหญ่อันดับสองของซาอุดีอาระเบีย

อนึ่ง นโยบายการต่างประเทศที่เป็นมิตรของไทยมีส่วนสำคัญช่วยให้การสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางเป็นไปด้วยความราบรื่นมาตลอด โดยเฉพาะกับประเทศขนาดใหญ่ในภูมิภาค ดังนั้น ความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบียที่ดีขึ้นเป็นลำดับ น่าจะช่วยเป็นใบเบิกทางให้ไทยสามารถยกระดับความร่วมมือกับอีกหลายประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางเช่นกัน และโยงไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับองค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี)

การฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย เป็นเรื่องที่ฝ่ายไทยเฝ้ารอและพยายามมานานหลายทศวรรษ แน่นอนว่า ความคืบหน้าและแนวโน้มในทางที่ดีซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลา 8 เดือนจนถึงปัจจุบัน มีความสำคัญสำหรับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม การซ่อมแซมและการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระดับทวิภาคียังคงจำเป็นต้องเกิดขึ้น “อย่างจริงจัง” เพราะยากที่จะปฏิเสธว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 3 ทศวรรษที่แล้ว ส่งผลกระทบต่อทั้งสองประเทศอย่างมาก และเมื่อความสัมพันธ์กำลังก้าวไปข้างหน้าอย่างราบรื่น ทั้งสองประเทศไม่ควรปล่อยให้ช่วงเวลาที่ถือเป็นโอกาสทองแบบนี้ ต้องหลุดมือไปอีก.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES