จากความเคลื่อนไหวพรรคการเมืองหลายต่อหลายพรรค ที่เริ่มส่งสัญญาณเตรียมสู้ศึกเลือกตั้ง ท่ามกลางบริบทการเมืองที่กำลังนับถอยหลังไปสู่การเลือกตั้ง พรรคการเมืองและตัวผู้เล่นที่ถูกเติมลงในสมการการเมืองมากขึ้น วันนี้ “ทีมการเมืองเดลินิวส์” จึงถือโอกาสพูดคุยกับ ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง เพื่อหาคำตอบทุกคำถามเกี่ยวกับเกมการเมืองและการเลือกตั้งในอนาคตอันใกล้

โดย ดร.เจษฎ์ เปิดฉากกล่าวว่า ขั้วการเมืองที่เป็นขั้วอยู่เดิม อาจจะเริ่มไม่มีความชัดเจนเหมือนเดิม แต่เดิมอาจจะมองว่า พรรคพลังประชารัฐกับพรรคเพื่อไทย ตั้งประจันกันอยู่เป็นคนละฝ่าย แต่ตอนนี้ต้องดูว่าเงื่อนไขในการจะร่วมกันคืออะไร ไม่ได้แปลว่า จะต้องต่างคนต่างอยู่ แต่มันยังมีเงื่อนไขที่จะร่วมกันได้ พรรคบางพรรคที่อาจจะดูว่าไม่สามารถที่จะร่วมกันได้ อย่างพรรคก้าวไกลกับพรรคพลังประชารัฐ แต่นัยนี้จะมีผลหรือไม่ อยู่ที่ว่าท้ายที่สุดแล้วพรรคก้าวไกลจะได้คะแนนเท่าไหร่ ถ้าได้ ส.ส. 80-90 เสียง ก็คงจะพอคุย แต่ถ้าได้ ส.ส. 30-40 เสียง อันนี้คงอาจจะไม่สนใจ จะอยู่ขั้วไหนก็คงไม่มีความสำคัญ ในขณะที่พรรคซึ่งแต่เดิมเห็นได้ชัดว่าจะเป็นอย่างไร เช่น พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังไม่รู้ อาจจะบอกว่าร่วมกับพรรคเพื่อไทยไม่ได้ แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็อาจจะไม่ต่างกับพรรคก้าวไกล อยู่ที่ว่าจะได้ ส.ส.เท่าไหร่ ถ้าได้ 60-70 เสียงเหมือนเดิม ก็พอคุย แต่หากได้แค่ 30-40 เสียง ขั้วก็จะไม่มีความชัดเจนอีก เพราะจะเท่ากับว่า พรรคก้าวไกลอาจะกลายเป็นฝ่ายค้าน และพรรคประชาธิปัตย์อาจจะกลายเป็นฝ่ายค้าน อาจจะเป็นเสียงในส่วนที่ไม่มีใครสนใจ

หากพรรคเพื่อไทยกับพรรคพลังประชารัฐ มีเงื่อนไขในการจับมือกันได้ ก็จะทำให้จำนวนของ ส.ส.เกินครึ่งค่อนสภา ส่วนพรรคที่เหลืออย่างพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเสรีรวมไทย เศรษฐกิจไทย และพรรคเกิดใหม่ทั้งหลาย เขาจะสถาปนาเป็นพรรคขนาดใหญ่เลยก็ไม่ได้ จะตั้งตนเป็นพรรคขนาดกลางค่อนเล็ก 30-40 เสียง หรืออาจจะกลายเป็นพรรคเล็ก 10-20 เสียง หรือจะเป็นพรรคจิ๋วในบริบทใหม่ 5-10 เสียง

“ดังนั้นสิ่งที่เราเห็นอยู่ตอนนี้คือเขาพยายามสร้างความได้เปรียบเพื่อให้ได้เสียงมากที่สุดก่อน แล้วจะเอาอย่างไรค่อยว่ากัน เพราะขั้วมันไม่ชัดเจน จึงต้องไปดูที่จำนวน ส.ส.ว่า จะจับมือกันได้หรือไม่ หรือจะจับมือกันอย่างไรค่อยว่ากัน”

@โมเดลการจับมือกันของขั้วอำนาจกลุ่มเดิม โดยที่มี 250 ส.ว. คอยโหวตช่วยจะยังเป็นไปได้หรือไม่

               ผมคิดว่าคราวนี้ไม่คิดเรื่อง 250 ส.ว. เข้มข้นเท่ากับการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว เพราะครั้งที่แล้ว ส.ว. 250 คน คงจะไม่กลัวเกิดเรื่อง และคิดว่า คสช.ในตอนนั้น ก็ยังมีกลไกในการใช้อำนาจอยู่ ภาวการณ์บ้านเมืองยังไม่เห็นภาพอะไรในตอนนั้น เพราะการชุมนุมการเรียกร้องต่างๆ ไม่ได้เข้มข้นเหมือนหลังจากนั้น และยังมีประชาชนจำนวนหนึ่งมีความรู้สึกว่าให้ ส.ว.มารักษาสถานภาพให้ พล.อ.ประยุทธ์ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน แต่ภาพนั้นเดี๋ยวนี้ประชาชนแทบไม่มองแล้ว เพราะประชาชนก็เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนักการเมืองเต็มตัวแล้ว พล.อ.ประวิตร และบรรดาแกนนำ คสช.ทั้งหลายกลายเป็นนักการเมืองหมดแล้ว

“ดังนั้นภาพที่เขาคิดว่าจะเอา ส.ว.มาช่วยมันอาจจะเลือนไปแล้ว จึงคิดว่าถึงเวลานั้น ส.ส.คงไปคิดเรื่องเอาเสียงข้างมากในสภาล่างไว้ก่อน เพราะถ้าได้เสียงข้างมากในสภาล่าง ก็อาจจะตรึง 250 ส.ว.ได้ ”

@พรรคเพื่อไทยยืนกรานไม่ร่วมกับพรรคสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จะสวนทางกับโมเดลการจับมือกันในอนาคตหรือไม่

            วันนี้ยังอาจจะมีพรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ หรืออาจจะมองได้ว่า คือ พรรคพลังประชารัฐ แต่หากในไม่กี่วันข้างหน้า ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ครบวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ แล้ว ถึงวันนั้นก็ไม่มีพรรคที่สนับสนุน หรือหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าต้องเริ่มนับวาระตั้งแต่ปี 2560 จะมีพรรคไหนเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะถ้าเกิดไปได้ครึ่งเทอมแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ยุบสภา พรรครัฐบาลแม้กระทั่งพรรคฝ่ายค้าน ก็คงไม่อยากให้ยุบสภา หรือหากพรรคพลังประชารัฐ มีการเสนอเผื่อเลือกว่า หากพ้นครึ่งเทอมแรกไป ค่อยโหวตเอา พล.อ.ประวิตร ขึ้นมา คนที่เขาอยากได้ พล.อ.ประวิตร เป็นนายกฯ เลย ก็คงไม่อยากให้มี พล.อ.ประยุทธ์ มาคา ในขณะเดียวกันคนที่เขาอยากได้ พล.อ.ประยุทธ์ เขาก็กลัวว่าหากสนับสนุนเพื่อให้ได้ พล.อ.ประยุทธ์ แต่หาก พล.อ.ประวิตร เข้ามาเสียบก่อนแล้วจะทำอย่างไร ก็จะเกิดความคลางแคลงใจกัน

เว้นแต่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่าต้องเริ่มนับวาระตั้งแต่ปี 2562 ถ้าอย่างนั้นภูมิทัศน์ก็จะเป็นคนละแบบ เพราะฉะนั้นตอนนี้ก็ยังไม่รู้เลยว่า ในอนาคตจะมีพรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่ เพราะเรายังไม่รู้อนาคตของ พล.อ.ประยุทธ์

@โจทย์แลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทยจะสามารถเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่

               การจะแลนด์สไลด์โดยเอาเสียงสภาล่างชนะสภาบนเลยนั้น ลำพังพรรคเพื่อไทยพรรคเดียวเป็นไปไม่ได้เลย แต่หากพรรคเพื่อไทยไปรวมกับพรรคอื่นๆ ก็ไม่แน่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพรรคเพื่อไทยรวมกับพรรคพลังประชารัฐ และอาจจะมีพรรคอื่นรวมเข้ามาด้วย ก็อาจจะจะทำให้ได้เสียงเกิน 376 เสียงเลย ถือว่าเกินกึ่งของ 2 สภา ซึ่งหากเป็นอย่างนั้นได้ ก็จะไม่ต้องสนเสียงของ ส.ว.เลย แต่ตนคิดว่าเขาไม่คิดไกลขนาดนั้น แต่เขาคิดแค่ว่าใช้เสียงข้างมากในสภาล่างตรึงการลงมติของสภาบน ซึ่งแบบนี้อาจจะไม่ได้ยากเย็นเท่าไหร่ และพรรคเพื่อไทย อาจจะมีโอกาสแลนด์สไลด์ได้เสียงเกิน 50% ของสภาผู้แทนราษฎร เพราะใช้ระบบหาร 100 แต่อาจจะไม่ถึงขนาดว่าจัดตั้งรัฐบาลด้วยพรรคเดียวเหมือนสมัยที่นายทักษิณ ชินวัตร นั้น คงเป็นไปไม่ได้

@ด้วยบริบทการเมืองแบบนี้ กลุ่ม 3 ป. ยังจะสามารถคุมเกมอำนาจทางการเมืองหลังการเลือกตั้งได้หรือไม่

               ตอนนี้มันเข้าสู้โลกการเมืองที่ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร เข้าสู่โลกการเมืองที่ยังไม่มีตัวผู้เล่นหรือทีมไหนที่โดดเด่นถึงขนาดบอกได้ว่า คนนี้หรือพรรคนี้มาแน่นอน ดังนั้นการที่จะบอกว่าใครจะมีโอกาสมากกว่าใครภูมิทัศน์ทางการเมืองนั้นยังไม่เกิด ยังไม่มีความชัดเจน ก็จะเท่ากับว่าต่างคนต่างก็ต้องทำให้ดีที่สุด ซึ่งกลุ่ม 3 ป. ก็ยังไม่มั่นคง ยังไม่รู้เลยว่าจะจับมือกันหรือไม่ ไม่รู้ว่าจะรวมกับใคร ไม่รวมกับใคร เพราะพรรคเพื่อไทยเองก็ยังไม่มั่นใจเลย ยังไม่มั่นคง กลุ่ม 3 ป. ก็ยิ่งโยกคลอน ไม่รู้จะเหลือกี่ ป. เหลือ 2 ป. 1 ป. หรือจะไม่เหลือสัก ป. เลยก็ได้ ดังนั้นเราไม่รู้เลย เพราะตอนนี้เคลื่อนอยู่ตลอด ซึ่งการตัดสินในส่วนของวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาแล้ว น่าจะเห็นภาพเพิ่มขึ้น.