รัฐบาลเยอรมนีกำลังมุ่งเสนอกรีนการ์ด หรือ “ชานเซนคาร์เทอ” ที่แปลตรงตัวว่า “บัตรโอกาส” เพื่อพยายามอุดช่องว่างการขาดแคลนแรงงานอย่างร้ายแรงของประเทศ ซึ่งสมาคมอุตสาหกรรมได้มีการร้องเรียนมาระยะหนึ่งแล้ว และกระทรวงแรงงานเยอรมนี ยังบ่งชี้ว่าการขาดแคลนดังกล่าว กำลังชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ “บัตรโอกาส” แบบใหม่ที่นำเสนอโดยนายฮูเบอร์ตุส เฮล รมว.แรงงานเยอรมนี จะมอบโอกาสให้ชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศ เพื่อหางานทำ แม้จะไม่มีข้อเสนอจ้างงานก็ตาม ตราบใดที่บุคคลเหล่านั้นปฏิบัติตามเกณฑ์ 3 ประการ จากทั้งหมด 4 ประการ ได้แก่ 1) มีวุฒิการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย หรือคุณวุฒิวิชาชีพ, 2) มีประสบการณ์การทำงานอย่างน้อย 3 ปี, 3) มีทักษะทางภาษา หรือที่อยู่อาศัยเดิมในเยอรมนี และ 4) มีอายุต่ำกว่า 35 ปี

เฮล เน้นย้ำและอธิบายเพิ่มเติมว่า เกณฑ์ที่ใช้จะไม่ต่างจากระบบคะแนนที่มีการใช้ในแคนาดา แต่จะมีการใช้ระบบน้ำหนักที่ซับซ้อนมากกว่า ซึ่งจะรวมถึงข้อจำกัดและเงื่อนไขต่าง ๆ อีกทั้งจำนวนบัตรจะถูกจำกัดโดยรัฐบาลเยอรมนีแบบปีต่อปี ตามความต้องการของตลาดแรงงานด้วยเช่นกัน

ขณะที่ น.ส.โสมยา เธียการาจัน ซึ่งเดินทางจากอินเดียมายังเมืองฮัมบวร์ก เมื่อปี 2559 และปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของบริษัทโฟเวียเทค กล่าวว่ามันมีการปรับปรุงแก้ไขเกิดขึ้น ซึ่งเธอคิดว่าระบบคะแนนเช่นนี้ อาจเป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับคนต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประชากรวัยหนุ่มสาวในเยอรมนีมีจำนวนลดน้อยลงอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม มีบางคนที่ไม่รู้สึกประทับใจกับบัตรโอกาสของเฮลเลย ดังเช่นนายโฮลเกอร์ โบนิน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยจากสถาบันเศรษฐศาสตร์แรงงาน (ไอแซดเอ) ในเมืองบอนน์ ที่มองว่า กรีนการ์ดกำลังสร้างอุปสรรคที่สูงเกินความจำเป็น รวมทั้งทำให้ระบบซับซ้อนยิ่งขึ้นกว่าเดิม และระบบคะแนนจะต้องการใช้ระบบราชการมากขึ้น

เยอรมนีมีความเสียเปรียบด้านวัฒนธรรมเล็กน้อย เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในฝั่งตะวันตกที่หวังจะดึงดูดแรงงานที่มีทักษะเข้าประเทศของตน ซึ่งสิ่งนั้นก็คือ ภาษาเยอรมันเป็นภาษาพูดที่มีความเป็นสากลน้อยกว่าภาษาอังกฤษ และปัญหาอีกประการหนึ่งคือการที่นายจ้างในเยอรมนีมักจะตั้งเกณฑ์ที่สูง ซึ่งต้องใช้เวลานานหลายเดือนเพื่ออนุมัติเอกสารทั้งหมด และโบนินกล่าวว่า ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยบัตรโอกาสเพียงอย่างเดียว

ยิ่งไปกว่านั้น มันยังมีปัญหาเชิงระบบอื่น ๆ สำหรับนายจ้างชาวเยอรมัน เนื่องจากระบบกลางของเยอรมนีหมายถึงหน่วยงานท้องถิ่นที่แตกต่างกัน ทำให้ในบางครั้งพวกเขาจะรับรองคุณสมบัติโดยใช้มาตรฐานคนละแบบ อีกทั้งการพึ่งพาระบบราชการของเยอรมนีกับลูกจ้าง มักจะต้องการการแปลใบรับรองของพวกเขาที่อนุมัติโดยพนักงานจดทะเบียน ซึ่งรัฐบาลยอมรับปัญหาดังกล่าว และยืนยันว่า กำลังพยายามแก้ไข.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES