เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา สื่อบางสำนัก ได้เปิดประเด็นการจับมือจัดตั้งรัฐบาล ระหว่าง “พลังประชารัฐ” (พปชร.) กับ “เพื่อไทย” (พท.) เป้าหมายเพื่อร่วมมือแก้ไขวิกฤติที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย โดยเฉพาะการต่อสู้กับเชื้อโรคร้าย “โควิด – 19” ซึ่งกำลังสร้างความหวาดวิตกให้กับคนทั้งโลกอยู่ในขณะนี้
ท่ามกลางคำถามที่ว่า กระแสข่าวชิ้นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน แล้วพรรคร่วมรัฐบาล อย่าง “ ประชาธิปัตย์ (ปชป.) และ” ภูมิใจไทย” (ภท.) จะตกอยู่ในสถานะอย่างไร
จริงๆถ้าใครติดตามความเคลื่อนไหวของพท. ในฐานะแกนนำพรรคฝ่ายค้าน ก็คงมองออกว่า ห้วงเวลานี้อยู่ในสภาพอดอยากปากแห้ง เนื้อไม่ได้กินหนังไม่ได้รอง อันเนื่องมาจากในภาวะวิกฤติของประเทศ ทำได้ได้เพียงให้ความเห็นในเชิงติติง หรือวิจารณ์ในมุ่งเน้นประเด็นเพื่อประโยชน์การเมือง
จะใช้แนวทางวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ด้วยถ้อยคำรุนแรง ก็คงทำได้ยาก เดี๋ยวกระแสจะตีกลับ ถูกสังคมติติงว่า ในห้วงเวลากำลังประเทศชาติกำลังเผชิญกับโรคร้าย พรรคการเมืองยังมุ่งแย่งอำนาจ ไม่คิดถึงความรู้สึกประชาชน แต่ที่สำคัญ “พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เดินตามแนวทางตามคำแนะนำของคณะอาจารย์แพทย์ ที่ได้รับยอมรับจากนานาชาติ ดังนั้นใครจะโจมตีโดยมุ่งเน้นทำลายล้างทางการเมือง ก็ต้องชั่งน้ำหนักให้ดีว่าจะได้คุ้มเสียหรือไม่
แต่ที่ต้องยอมรับ บทบาทในการช่วยเหลือประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจาก”โควิด- 19“ ทั้ง ด้านสาธารณสุข และการผลักดันมาตรการด้านเศรษฐกิจ เป็นหน้าที่ของรัฐบาล ที่มี พปชร.เป็นแกนนำ และพรรคร่วมรัฐบาล นั่นหมายความว่า ความนิยมชมชอบ และความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งบรรดาพรรคการเมืองต้องทำงาน ในฐานะตัวแทนประชาชน พรรคร่วมรัฐบาลจะมีภาษีมากว่าฝ่ายค้าน
ยิ่งรัฐบาลเตรียมผลักดันมาตรการด้านเศรษฐกิจ เพื่อช่วยเหลือประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจาก ”โควิด -19“ เช่นมาตรการดูแลและเยียวยา “แรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระ ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม หลายมาตรการ อาทิ 1. มาตรการชดเชยรายได้แก่แรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมหรือผู้ได้รับผลกระทบอื่นๆ ของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า (โควิด-19)
เพื่อช่วยเหลือเยียวยาให้กับกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว ที่ได้รับผลกระทบจาก การหยุดประกอบกิจการของสถานประกอบการ ที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีคนแออัด เบียดเสียด ง่ายต่อการแพร่เชื้อ เช่น สนามมวย สนามกีฬา ผับ สถานบันเทิง โรงมหรสพ นวดแผนโบราณ สปา ฟิตเนส สถานบริการอื่นๆ เป็นต้น
หรือผู้ได้รับผลกระทบอื่นๆซึ่งไม่รวมผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่มีคุณสมบัติครบตามเงื่อนไขการได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสำนักงานประกันสังคม ไม่รวมข้าราชการและข้าราชการบำนาญ และไม่รวมเกษตรกร (กลุ่มเกษตรกรได้รับความช่วยเหลืออื่นๆ จากรัฐบาลอยู่แล้ว)
ทั้งนี้ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จะเป็นผู้รับลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการ เป้าหมายรวมทั้งสิ้น 3 ล้านคน โดยการสนับสนุนเงินช่วยเหลือรายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน-มิถุนายน 2563) ผ่านการลงทะเบียนแสดงความจำนงตรวจสอบคุณสมบัติและการโอนเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น พร้อมเพย์ตามเลขบัตรประจำตัวประชาชน โอนเข้าบัญชีธนาคาร กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ส่วนวิธีการขอรับความช่วยเหลือจะเป็นไปตามแนวทางที่กระทรวงการคลังกำหนด
- โครงการสินเชื่อฉุกเฉิน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยไม่จำเป็นต้องมีหลักประกัน โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 40,000 ล้านบาท (ธนาคารออมสิน 20,000 ล้านบาท และ ธ.ก.ส. 20,000 ล้านบาท) วงเงินต่อรายไม่เกิน 10,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกินร้อยละ 0.10 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือนรับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563
- โครงการสินเชื่อพิเศษเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตแก่ประชาชนที่มีรายได้ประจำ โดยมีหลักประกัน โดยธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 20,000 ล้านบาท วงเงินต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกินร้อยละ 0.35 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563
- โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับสำนักงานธนานุเคราะห์ เพื่อช่วยเหลือประชาชนฐานรากที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของโควิด-19 เพื่อช่วยเหลือประชาชนฐานรากที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19
โดยธนาคารออมสินสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำวงเงินรวม 2,000 ล้านบาท ให้แก่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในนามของสำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.10 ต่อปี และ สธค. คิดดอกเบี้ยจากประชาชนในอัตราไม่เกินร้อยละ 0.125 ต่อเดือน ระยะเวลา 2 ปี
นอกจากนี้รัฐบาลยังเตรียมกู้เงิน เพื่อนำมาใช้ในการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจ ด้วยวงเงินเป็น จำนวนสูงนับล้านล้านบาท นั่นหมายความว่า รัฐบาลจะมีกลไกที่ใช้ในการบริหารประเทศอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ กำลังพล อำนาจรัฐบาล
สำคัญมากกว่านั้น ถ้าประชาชนพอใจในการรับมือกับไวรัสร้าย นั่นหมายความว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จะได้คะแนนเสียงอย่างเต็มที่ ส่วนพรรคฝ่ายค้านนำโดย “พท.” จะทำได้เพียงการออกมาให้ความเห็น หรือท้วงติงประเด็นต่างๆผ่านสื่อ
จึงไม่แปลกเมื่อ “นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์” หัวหน้าพท. และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรจะออกมาแถลงตอนหนึ่งว่า สถานการณ์ของบ้านเมืองเราวันนี้เจอโจทย์ปัญหาที่ใหญ่และหนักหนาสาหัสจากวิกฤติ ไวรัสโควิด-19 ซึ่งกระทบต่อชีวิต และความเป็นอยู่ทั้งด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง เป็นเรื่องที่ท้าทายทุกคนในชาติว่า
เราจะสามารถฟันฝ่าวิกฤตินี้ไปด้วยกันได้หรือไม่ ทั้งนี้ ตนมองว่าชีวิตของพี่น้องประชาชนสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง เราต้องร่วมกันทำทุกวิถีทาง เพื่อรักษาชีวิตของประชาชนไว้ด้วยวิธีที่ชาญฉลาด และสร้างบาดแผลให้กับประเทศน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ตนและพรรคร่วมฝ่ายค้านพร้อม ที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาล ทั้งในด้านการจัดสรรงบประมาณ การออกกฎหมายเร่งด่วน และการเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่สร้างสรรค์ เพื่อเราจะได้ฝันฝ่าวิกฤตินี้ไปด้วยกัน….”
อย่าลืมว่า พรรคฝ่ายค้านเพิ่งล้มเหลวจากญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ จึงวางตัวลำบาก
ยิ่งในช่วงเกิดการระบาดของไวรัสร้าย การสื่อสารออกมาบางอย่าง อาจตกเป็นเป้าโจมตีของสังคมและโลกออนไลน์ เหมือนอดีตแกนนำพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) และ พรรคก้าวไกล ( กก. ) เลยอาศัยสื่อบางสำนัก มาช่วยสร้างประเด็นข่าว หวังสร้างราคาให้กับตนเอง ทำนองมีลุ้น เข้าร่วมกับพปชร. ในรูปแบบรัฐบาลแห่งชาติ
ซึ่งดูแล้วคงยาก. แต่สะท้อนให้เห็นว่า สภาพแกนนำพรรคฝ่ายค้านอย่าง ”พท.” แทบจะไม่เหลือลาย รอวันแตก ไม่มีวันโต แม้กระทั่งสมาชิกพรรคบางคนยังกล้าทำข้อสอบรั่ว เพราะยังไม่รู้ว่า เมื่อไหร่สนามเลือกตั้งจะเปิด
……………………………….
คอลัมน์ สืบเสาะเจาะข่าว
โดย “ระฆังแก้ว”