เป็นสถานการณ์ที่ทาง ศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง ได้ระบุไว้…ถึง “วิกฤติลูกโซ่” ที่ “ผู้ป่วยมะเร็งโรคเลือด” นั้นต้องได้รับผลกระทบทุก ๆ ครั้งเมื่อมีสถานการณ์ “ขาดแคลนโลหิต” ซึ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีมานี้ ทำให้ “จำนวนผู้บริจาคเลือดลดลง” ส่งผลให้ “โลหิตขาดแคลน” จนมี ผู้ป่วยมะเร็งโรคเลือดตกค้างการรักษา จำนวนไม่ใช่น้อย ๆ…

ที่ถ้าไม่ได้รับการรักษาโดยถ่ายเลือด…

ยิ่งเสี่ยงเกิดอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิต!!

ทั้งนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ขอร่วมสะท้อนต่อเรื่องนี้ ซึ่งเรื่อง “วิกฤติผู้ป่วยมะเร็งโรคเลือด” นี้ได้รับการเปิดเผยจากแพทย์ด้านโรคมะเร็ง และเครือข่ายช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งโรคเลือด เพื่อเชิญชวนประชาชนช่วยบริจาคโลหิตเพื่อเป็นคลังเลือดสำรองไว้ใช้ช่วยเหลือผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉิน รวมถึงเพื่อ “ช่วยลดอัตราเสียชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งโรคเลือด” โดยนี่เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมรณรงค์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำในทุก ๆ “เดือนกันยายน” ของทุกปี ซึ่งถือเป็น “เดือนแห่งการรณรงค์การตระหนักรู้โรคมะเร็งทางโลหิตวิทยา” ซึ่งสำหรับปีนี้ก็จะมีการจัดงานในวันที่ 17 กันยายน เพื่อเชิญชวนคนไทยให้ร่วมกันตระหนัก…

ให้ความรู้ความเข้าใจ “มะเร็งโรคเลือด”

โดยเฉพาะมะเร็งโรคเลือดชนิดหายาก

สำหรับการให้ข้อมูลสร้างความรู้ความเข้าใจ “มะเร็งโรคเลือดชนิดหายาก” หรือ “เอ็มพีเอ็น (Myeloproliferative Neoplasm : MPN)” นั้น ทาง มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง (Thai Cancer Society) ได้ร่วมมือกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโลหิตวิทยา ชมรมโรคเอ็มพีเอ็นแห่งประเทศไทย (Thai MPN Working Group) ชมรมผู้ป่วยโรค MPN ประเทศไทย และ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย โดยกำลังจะมีการจัดงานเสวนาออนไลน์ขึ้น ภายใต้ชื่อ “มะเร็งโรคเลือดชนิดหายาก MPN ครั้งที่ 2” ซึ่งการเสวนาดังกล่าวนี้ จะจัดในวันเสาร์ที่ 17 กันยายน 2565 เวลา 14.00-16.00 น. ผ่านทาง เพจเฟซบุ๊ก Thai cancer society โดยสำหรับผู้สนใจลงทะเบียนร่วมงาน สามารถทำได้ที่ลิงก์ https://bit.ly/3C1Bp7I

โฟกัสกันโดยสังเขปถึงรายละเอียดของ “มะเร็งโรคเลือดชนิดหายาก MPN” ทาง ร.อ.นพ.รัฐพันธ์ ละมูล แผนกโลหิตวิทยา กองอายุรกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ได้อธิบายไว้ว่า… มะเร็งโรคเลือดชนิดหายาก MPN เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ต้นกำเนิดในไขกระดูกที่ทำหน้าที่ผลิตเม็ดเลือด ซึ่งได้มีการกลายพันธุ์และแบ่งตัวเพิ่มขึ้นมากเกินไป ทำให้ผู้ป่วยมีอาการที่เกิดจากการสร้างเม็ดเลือดเพิ่มขึ้น เช่น เกิดลิ่มเลือดอุดตัน มีตับและม้ามโต เป็นต้น 

อนึ่ง แพทย์ท่านเดิมให้ข้อมูลเพิ่มเติมไว้อีกว่า… มีโรคที่พบบ่อยในผู้ป่วยมะเร็งโรคเลือด MPN ได้แก่ 1. โรคเลือดข้น (PV) ที่เกิดจากร่างกายผลิตเซลล์เม็ดเลือดทุกชนิดมากกว่าปกติ 2. โรคเกล็ดเลือดสูง (ET) จากการที่ร่างกายผลิตเกล็ดเลือดมากกว่าปกติ 3. โรคพังผืดในไขกระดูก (MF) จากการที่ร่างกายมีการสร้างพังผืดในไขกระดูก ส่งผลให้ไขกระดูกไม่สามารถผลิตเม็ดเลือดแดงได้ตามปกติ ซึ่ง มะเร็งกลุ่ม MPN นี้พบได้มากในกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป โดยในยุโรปพบอัตราการเกิดเฉลี่ยอยู่ที่ 9.53 รายต่อประชากร 1 แสนคนต่อปี ขณะที่ไทยเวลานี้ยังไม่มีการเก็บข้อมูลอุบัติการณ์การเกิดโรคนี้…

ด้าน พญ.ลัลธริมา ภู่พัฒน์ หน่วยโลหิตวิทยา คณะแพทย ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ข้อมูลเสริมไว้ว่า… มะเร็งโรคเลือดชนิดหายากกลุ่ม MPN ถือเป็นหนึ่งในโรคหายาก ที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วยอย่างมาก ซึ่งยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดอย่างไรก็ตาม การรู้ทันและเริ่มรักษาตั้งแต่แรกอย่างต่อเนื่องจะทำให้ผู้ป่วยดำเนินชีวิตอยู่กับโรคได้ และเพื่อทำให้รู้จักโรคนี้มากขึ้น การให้ความรู้เกี่ยวกับโรคก็เป็นอีกแนวทางที่สำคัญ เพราะ “การเข้าใจอาการของโรค” เป็นสิ่งที่ “สำคัญสำหรับผู้ป่วย” กลุ่มนี้ ซึ่งข้อมูลความรู้เพื่อความเข้าใจมะเร็งชนิดนี้ ก็ศึกษาได้จากงานเสวนาที่กำลังจะจัดขึ้น

ขณะที่ พญ.สุนิสา ก้องเกียรติกมล สาขาวิชาโลหิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ระบุถึงภาวะขาดแคลนเลือดและสเต็มเซลล์ไว้ว่า… ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดชนิดต่าง ๆ  ที่มีภาวะซีด จำเป็นต้องได้รับเลือด เนื่องจากไม่สามารถผลิตเม็ดเลือดแดงได้เพียงพอ ซึ่งต้องได้รับเลือดมากพอในกระบวนการรักษา แต่ช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา มีการบริจาคเลือดและสเต็มเซลล์ลดน้อยลง จึงส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็งกลุ่มนี้ ที่บางรายหากไม่ได้รับการรักษาทันทีก็อาจถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้น “เลือด-โลหิต” และ “สเต็มเซลล์” จึง “สำคัญต่อผู้ป่วยมะเร็งโรคเลือด”

จากปัญหาขาดแคลนโลหิตในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้ป่วยต้องเลื่อนการผ่าตัดและการรักษาออกไป เพราะไม่มีเลือด และสเต็มเซลล์ นำมาใช้ในกระบวนการรักษา ซึ่งน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง โดยเฉพาะผู้ป่วยบางรายที่ถ้าไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีอาจมีภาวะแทรกซ้อนทำให้เสียชีวิตได้” …นี่เป็นการย้ำไว้ถึง “ความสำคัญ” กรณีนี้โดย ศิรินทิพย์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายมะเร็งเพื่อเชิญชวนคนไทยให้ร่วมกัน “บริจาคโลหิต-บริจาคสเต็มเซลล์” ผ่านช่องทางต่าง ๆ

การ “บริจาค” กรณีนี้เป็นการ “ทำบุญ”

ที่ “ไม่ต้องใช้เงินทอง-ใช้เวลาไม่นาน”

แต่ “เป็นบุญใหญ่…ที่ได้ต่อชีวิตคน”.