สำหรับตอนที่ 2 จะมาติดตามเรื่องของทองคำกันต่อไป โดยเฉพาะปมปัญหา “เหมืองทองอัครา” มีที่มาที่ไปอย่างไรจึงถูกนายกรัฐมนตรีใช้ ม.44 สั่งปิดเหมืองไปตั้งแต่ปลายปี 60

“ทองคำ”สารพัดประโยชน์

ก่อนอื่นต้องบอกว่าประโยชน์ของทองคำ นอกจากใช้เป็นเครื่องประดับแล้ว ทองคำยังถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ มากมาย เช่น อิเล็กทรอนิกส์ การสื่อสารโทรคมนาคม การทันตกรรม ศัลยกรรม ใช้รักษามะเร็ง และเป็นหลักประกันความมั่นคงทางการเงิน

ใครจะรู้ว่าซากคอมพิวเตอร์เก่า ๆ 35 เครื่อง จะมีทองคำน้ำหนักประมาณ 1 บาท แม้แต่โทรศัพท์ไอโฟนทุกเครื่องก็มีปริมาณทองคำอยู่เป็นส่วนประกอบในประมาณ 0.0012 ออนซ์ (มูลค่า 52 บาท)

เมื่อทองคำมีความต้องการสูงในตลาด จึงมีการทำเหมืองแร่ทองคำใน 82 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศที่มีกำลังผลิตมากที่สุดในโลก (ปี 62) คือ จีน (420 เมตริกตัน) รองลงมาคือออสเตร เลีย รัสเซีย อเมริกา แคนาดา ขณะที่แอฟริกาใต้อยู่ในอันดับ 10 จำนวน 90 เมตริกตัน ทั้งที่ก่อนหน้านี้แอฟริกาใต้ครองแชมป์ผู้ผลิตทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก มาเป็นเวลาหลายทศวรรษ

ส่วนในประเทศไทย เคยมีบริษัทเอกชนยื่นขอประทานบัตรกับกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำในปี 38 จำนวน 6 แปลง เนื้อที่กว่า 1,200 ไร่ บริเวณ จ.เลย อุดรธานี และหนองคาย

สำรวจเยอะแต่เปิดเหมืองไม่คุ้ม

นอกเหนือจากนี้เป็นเพียงการยื่นขออนุญาตเพื่อสำรวจแร่ทองคำที่ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี นครสวรรค์ ลพบุรี ระยอง จันทบุรี แพร่ ลำปาง และสตูล แต่ไม่ได้มีการลงทุนทำเหมืองทองแต่อย่างใด สาเหตุคงเป็นเพราะแร่ทองคำที่สำรวจพบมีปริมาณน้อย ไม่คุ้มค่าการลงทุน

จนกระทั่งปี 44 เหมืองแร่ทองคำชาตรีที่ จ.พิจิตร และเพชรบูรณ์ ของบริษัทอัคราฯ ได้ผลิตแร่ทองคำก้อนแรกออกมา โดยมีอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร มาทำพิธีเปิดเหมืองเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 44

ผู้บริหารคนหนึ่งของบริษัทอัคราฯ กล่าวว่า การค้นพบแหล่งแร่ทองคำนั้น ไม่ง่ายอย่างที่หลายคนคิด สำหรับบริษัทนั้นต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี ในการสำรวจจนเจอแหล่งแร่ที่มีศักยภาพมากพอที่จะทำเหมือง และต้องเสียค่าใช้จ่ายมากมายในการสำรวจ และลงทุน

รวมทั้งการจ่ายค่าภาคหลวงให้กับรัฐบาล ทั้งส่วนกลางและอบต.ในพื้นที่ ฯลฯ รวมแล้วกว่า 4.3 พันล้านบาท

สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นที่เหมืองทองอัครา จ.พิจิตร เกี่ยวกับเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและปัญหาสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ เป็นเพียงข้ออ้างของคนบางกลุ่มเท่านั้น ทั้งที่สาเหตุความขัดแย้งที่แท้จริงมาจากเรื่องปัญหาที่ดิน หลังจากมีคนบางกลุ่มพยายามเสนอขายที่ดินให้บริษัทในราคาสูงกว่าราคาประเมินอย่างมาก ซึ่งบริษัทไม่สามารถรับซื้อไว้ได้ คนเหล่านี้จึงออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านเหมืองทองคำ

คนนอกพื้นที่มาผสมโรงด้วย

“เราทำตามกฎหมายว่าพื้นที่โดยรอบเหมือง ต้องมีการปลูกแนวต้นไม้ (Buffer Zone) เพื่อช่วยดูดซับฝุ่นและเสียงอีกชั้นหนึ่ง จึงจำเป็นต้องซื้อที่ดินจากชาวบ้านรอบ ๆ เหมือง จำนวน 29 หมู่บ้าน พูดง่าย ๆ ว่าเป็นที่ดินกันชน โดยซื้อไว้เป็นพัน ๆ ไร่เหมือนกัน ไร่ละประมาณ 2-5 แสนกว่าบาท ที่ดินใครอยู่ติดเหมืองก็ได้ราคาสูง ถ้าห่างออกไปราคาก็ถูกลง คือยื้อกันมาแบบนี้ในเรื่องของราคาที่ดิน ทั้งที่ก่อนเหมืองจะมาเปิด ที่ดินแถวนี้ไม่ค่อยมีราคา”

ผู้บริหารของบริษัทอัคราฯ กล่าวว่าอีกปัญหาใหญ่ที่เจอ คือ การมาปลูกบ้านทิ้งไว้เพื่อขอค่ารื้อถอน โดยมีคนจำนวนไม่น้อยไม่ได้อยู่ในพื้นที่ อาจอยู่หมู่บ้านห่าง ๆ ออกไป แต่พอเหมืองมาอยู่ก็มาปลูกบ้านบนแปลงที่ดินของญาติพี่น้องในหมู่บ้านซึ่งติดกับเหมือง เพื่อขอค่ารื้อถอนหลังละหลักแสนบาท จนถึงหลายแสนบาท

ผู้ประท้วงต่อต้านเหมืองทองอัครา ส่วนหนึ่งมาจากนอกพื้นที่ เช่น จันทบุรี สระบุรี พิษณุโลก คือรู้ข่าวว่าบริษัทจะขออนุญาตสำรวจแหล่งแร่ทองคำในจังหวัดดังกล่าว ก็มาประท้วงคัดค้านกันแล้ว เพราะเกรงว่าบริษัทจะไปเปิดเหมืองที่จันทบุรี สระบุรี และพิษณุโลก ทั้งที่เป็นเพียงการขออนุญาตสำรวจเท่านั้น ยังไม่รู้เลยว่าจะมีแร่ทองคำในปริมาณมากพอที่จะลงทุนทำเหมืองหรือไม่

ผู้ใหญ่บ้านป่วย-ไม่ตาย
น.ส.สิริรัตน์ ม่วงวัดท่า อายุ 46 ปี ผู้ใหญ่บ้านเขาหม้อ หมู่ 9 ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ  “พี่เป็นผู้ใหญ่บ้านมาตั้งแต่ปี 58 ตรงนี้ถือว่าอยู่ติดเหมืองทองอัคราฯ มากที่สุด รวมทั้งหมู่ 3 หมู่ 7 หมู่ 8 สภาพพื้นที่แถวนี้ทำนาปีละ 1 ครั้ง อาศัยน้ำฝนอย่างเดียว แต่เมื่อมีเหมืองทองเข้ามาผู้คนได้เข้าไปทำงานวันละ 300-400 บาท คนมีวุฒิการศึกษาได้กว่า 10,000 บาท หรือถ้าอยู่ที่บ้านเขาก็มาช่วยส่งเสริมอาชีพให้เพาะเห็ด เลี้ยงสุกร ทำกระเป๋า ผ้าเช็ดเท้า สมุนไพร ช่วยดูแลประปาหมู่บ้าน

ในหมู่ 9 มีบ้านอยู่ไม่กี่หลังคาเรือน ตอนนั้นมีนักเรียน 50-60 คน หลายคนมาปลูกบ้านเพื่อเอาค่ารื้อถอนจากเหมือง คือตัวตนไม่อยู่ที่นี่หรอก แต่มีญาติอยู่ที่นี่ มีที่ดิน 10 ไร่ ก็มาปลูกบ้านทิ้งๆไว้หลังละ 2-3 หมื่นบาท แล้วก็ประท้วงเพื่อขอค่ารื้อถอนหลังละ 4-5 แสนบาท เมื่อได้ค่ารื้อถอนแล้วก็พาลูกไปอยู่หมู่บ้านอื่น และไม่มีลูกบ้านโวยว่าอาบน้ำประปาแล้วคัน มีแต่โทรฯมาโวยเมื่อประปาไม่ไหล

ส่วนพี่เป็นโรคธาลัสซีเมีย ผ่าตัดม้ามตั้งแต่ปี 50 ร่างกายไม่มีที่กรองเชื้อ มีประวัติอยู่ที่ รพ.พิจิตร และรพ.ทับคล้อ ต้องใส่ไหน้ากากอนามัยไปโรงพยาบาล เพราะถ้าเจอใครไอ-จามใส่ กลับมาป่วยเป็นเดือน ถ้าสภาพสิ่งแวดล้อมที่นี่มีปัญหา น้ำประปา-พืชผักมีปัญหา ผู้ใหญ่บ้านคงตายก่อนเพื่อน”

สารพัดที่จะตรวจ
นางสำราญ บุญบำรุง อายุ 57 ปี ประธานอสม. หมู่ 9 ต.เขาเจ็ดลูก “มีเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานใน จ.พิจิตร รวมทั้งสาธารณสุข-อนามัย ระดับเขตที่ จ.นครสวรรค์ มาตรวจคัดกรองกันเป็นประจำ ตรวจเลือด ปัสสวะ น้ำประปา เก็บผักที่บ้าน และผักที่ตลาดนัดไปตรวจ เจ้าหน้าที่ประมงก็เอาปลาช่อน ปลาหมอ จากแหล่งน้ำไปตรวจหาสารหนู-แมงกานิส ส่วนพี่เป็นอสม.สุขภาพร่างกายปกติ ไม่เห็นเป็นอะไร อาบน้ำประปาก็ไม่คัน แต่ถ้ามีคนร้องว่าน้ำประปากินไม่ได้ เดี๋ยวทางเหมืองก็ซื้อน้ำมาให้กิน”

อยากได้ค่ารื้อถอน-ขายที่
นายธงชัย ธีระชาติดำรง อายุ 70 ปี “ผมนี่คนร้องเรียนเลย เคยพาพวกไปร้องที่ศาลากลางจ.พิจิตร ว่าเหมืองทองมีปัญหาเรื่องฝุ่น ระเบิดหินส่งเสียงดัง ทางเหมืองก็เอารถน้ำเข้ามาฉีดพ่นน้ำ และปรับแก้เรื่องระเบิดหิน คือระเบิดเป็นสเต็ปๆ บึ้มๆๆ เสียงไม่ดังแล้ว คนประท้วงส่วนใหญ่หวังค่ารื้อถอนบ้านหลังละ 4-5 แสนบาท และต้องการขายที่ดินให้เหมือง

ที่ดินแถวนี้เป็นน.ส.3 และโฉนด ทำนาปีละครั้ง ต้องอาศัยน้ำฝน ไถนาลงไปเจอแต่ก้อนหินใหญ่ๆ ใบผานรถไถแตกหมด จะขายที่ไร่ละ 2 หมื่นบาทยังไม่มีใครซื้อเลย แต่ผมมีที่ดินติดขอบเหมือง 48 ไร่ 2 งาน เป็นที่ดินกันชน ประท้วงไปประท้วงมา ก็ขายที่ดินให้เหมืองเมื่อปี 56 ไร่ละ 5 แสนกว่าบาท บวกค่ารื้อถอนบ้าน รวมได้เงินมากว่า 27 ล้านบาท

เมื่อขายที่ไปแล้ว แต่เหมืองไม่ได้ทำประโยชน์ ผมจึงขอเช่าที่ดินจากเหมือง 10 ไร่ ไว้ทำนาและเลี้ยงสุกร เสียค่าเช่าให้เหมืองไร่ละ 500 บาทต่อปี สภาพมันเป็นแบบนี้ คนที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการประท้วงเหมืองก็ญาติผมนี่แหล่ะ”