ในส่วนประเทศไทยนั้นในแง่มุมด้าน สัมพันธไมตรี ระหว่างพระราชวงศ์ไทย และพระราชวงศ์ของสหราชอาณาจักร อังกฤษนั้นมีอย่างต่อเนื่องยาวนาน นับตั้งแต่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) และดำเนินเรื่อยมาในกาลปัจจุบัน ทั้งนี้ในวันที่ 19 ก.ค. 2503 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จฯ เยือนสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก

ในหนังสือ “สมุดภาพที่ระลึกเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี การเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหราชอาณาจักรฯ ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” ได้บันทึกพระราชดำรัสที่พระองค์มีรับสั่งกับ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ในงานถวายเลี้ยงต้อนรับ ณ พระราชวังบักกิงแฮม ใจความสำคัญว่า

“ในประเทศของหม่อมฉัน บุคลิกลักษณะของคนอังกฤษได้รับความเคารพชื่นชมเป็นอย่างมาก ทั้งในเรื่องของความยุติธรรม ความมีชีวิตชีวาและความอดทน คุณลักษณะต่าง ๆ เหล่านี้ ช่างมีเสน่ห์และน่าดึงดูด ด้วยเหตุนี้ เสด็จปู่ของหม่อมฉัน (รัชกาลที่ 5) จึงตัดสินพระทัยเลือกอังกฤษเป็นประเทศแรกที่จะส่งกลุ่มนักเรียนไทยมาศึกษายังต่างแดนซึ่งนักเรียนไทยกลุ่มนี้ได้เลือกศึกษาในสาขาวิชาที่แตกต่างกันตามแต่ที่พวกเขาสนใจ โดยพวกเขาได้อุทิศตนให้แก่ความสมัยใหม่ ความก้าวหน้า และความเจริญวัฒนาที่ยังประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติของพวกเขาทุกคน”

ขณะที่ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร มีพระราชดำรัสภายในงานถวายเลี้ยงพระกระยาหารค่ำแด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  ณ พระราชวังบักกิงแฮม กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2503 ความส่วนหนึ่งว่า “ประเทศของเราทั้งสองได้ลงนามสนธิสัญญาอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อกว่า 130 ปีมาแล้ว แต่ที่มาของสัมพันธไมตรีระหว่างสอง ประเทศ ได้เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น จากการที่พ่อค้าชาวอังกฤษเดินทางเข้ามายังประเทศไทย เพื่อเริ่มความสัมพันธ์ทางการค้าในคริสต์ศตวรรษ ที่ 17 จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ของความสัมพันธ์ทางการค้า ปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเราทั้งสองมิได้จำกัดเพียงด้านการค้า ประเทศของเราทั้งสองมิใช่เป็นเพียงเพื่อนประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ และแผนการโคลัมโบเท่านั้น แต่ยังเป็นประเทศผู้ลงนามในสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และกฎบัตรแปซิฟิก”

“หม่อมฉันมั่นใจว่า ตลอดช่วงระยะเวลาที่ฝ่าพระบาทประทับอยู่ในประเทศของเรา ความเคารพและไมตรีจิตที่เรามีต่อประเทศของฝ่าพระบาทจะปรากฏอยู่ตลอดเวลา หม่อมฉันยังมั่นใจด้วยว่า ในโอกาสนี้สายสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างประเทศทั้งสองจะเชื่อมโยงอย่างแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น” 

ในช่วงเวลาต่อมานับว่าเป็นภาพแห่งประวัติศาสตร์ที่สร้างความปลาบปลื้มใจยิ่งอีกครั้ง เมื่อ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร เสด็จฯ พร้อมด้วย เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ และ เจ้าฟ้าหญิงแอนน์ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2515 ต่อจากนั้น ในวันที่ 28 ต.ค. 2539 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรเสด็จพระราชดำเนินเยือนไทยอีกครั้ง พร้อมด้วย เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระราชสวามี ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ในโอกาสที่สองพระองค์ เสด็จฯ ทรงร่วมงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำรัสซึ่งมีการเผยแพร่ภาพทางข่าวในพระราชสำนักทางสถานีโทรทัศน์ต่าง ๆ ใจความสำคัญว่า “การเสด็จฯ มาเยือนในครั้งนี้ จึงทำให้คนไทยทั้งปวงเกิดความปีติยินดีที่จะได้เฝ้าชมพระบารมีอีกวาระหนึ่ง หม่อมฉันเชื่อมั่นว่า ระหว่างที่ประทับอยู่ในประเทศของเรา ฝ่าพระบาทคงจะได้ประจักษ์ถึงความชื่นชมโสมนัสและความเคารพยกย่องอย่างสูงที่ทุกคนมีอยู่ในพระองค์ สิ่งนั้นย่อมเป็นปัจจัยสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่จะเกื้อกูลให้สัมพันธภาพ มิตรภาพและความร่วมมือระหว่างประเทศของเราทั้งสอง ดำรงมั่นคง ทั้งเจริญงอกงามยิ่งขึ้น”

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร มีพระราชดำรัสตอบว่า ทรงรู้สึกยินที่ได้มาเยือนประเทศไทยในปีกาญจนาภิเษกนี้ และทรงตระหนักถึงความเทิดทูน ความจงรักภักดีที่พสกนิกรไทยมีต่อองค์พระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก ประเทศไทยที่ข้าพเจ้าพบเห็นในวันนี้ มีความก้าวหน้ามีความเป็นประชาธิปไตย แต่ก็ยังธำรงรักษาวัฒนธรรมไทยที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ในขณะที่ประชาชนชาวไทยยังมีไมตรีจิตต่อผู้มาเยือนอย่างไม่เสื่อมคลาย ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเรายังพัฒนาต่อเนื่องหลาย ๆ ด้าน

การโทรคมนาคมที่รวดเร็ว และการเดินทางที่สะดวกสบายทำให้เราใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น ในแต่ละปี ประชาชนของทั้งสองประเทศหลายพันคนไปมาหาสู่กันโดยมีวัตถุประสงค์ทั้งทางด้านธุรกิจ การศึกษาและการพักผ่อน ในขณะที่ความสัมพันธ์ด้านพาณิชย์ วัฒนธรรม และการกีฬา ก็งอกงามตลอดเวลา ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีของมิตรภาพในอนาคต พระองค์รู้สึกยินดีต่อสัมพันธภาพอันดีเลิศระหว่างรัฐบาลของราชอาณาจักรไทยและอังกฤษ ที่ได้มีการหารือร่วมกันเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง หรือภัยคุกคามต่าง ๆ ด้านยาเสพติด และลัทธิก่อการร้าย รวมทั้งปัญหาอาชญากรรม และเชื่อว่าประเทศไทย จะมีบทบาทแก้ปัญหาดังกล่าวเพิ่มขึ้นโดยลำดับ

แม้วันนี้ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร และ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จสู่สวรรคาลัยแล้ว ทว่ามิตรไมตรีแห่งจิตสัมพันธ์ในพระราชไมตรีทั้งสองพระราชวงศ์ไทยและพระราชวงศ์ของสหราชอาณาจักร ที่มีอย่างต่อเนื่องยาวนานยังคงดำรงแนบแน่นตราบนานเท่านาน.

ภาพจาก Getty Images