หลังจากมีการเกิด “อุบัติเหตุในสวนสนุก” แห่งหนึ่ง ที่ในครั้งนี้เหตุไม่ได้เกิดกับเด็ก แต่เกิดกับผู้ปกครองที่เข้าไปดูแลบุตรหลานขณะเล่นเครื่องเล่น จนถึงขั้นทำให้ผู้ปกครองรายนี้ “ได้รับอันตรายรุนแรง” ซึ่งหลังจากเกิดเหตุก็ได้ทำให้เกิดกระแสเกี่ยวกับ “ความปลอดภัย” รวมไปถึง “กฎระเบียบ” และ “มาตรฐานควบคุม” อื้ออึง เซ็งแซ่ขึ้นอีกครั้ง…

ที่ว่า “อีกครั้ง” เพราะ “นี่มิใช่ครั้งแรก”

ในอดีตเมืองไทยก็เคยมีกระแสแบบนี้

ก็เคยมี “อุบัติเหตุในสวนสนุก” เกิดขึ้น 

ทั้งนี้ เกี่ยวกับ “อุบัติเหตุในสวนสนุก” นั้น เท่าที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ย้อนดูกรณีที่เคยเกิดขึ้น เฉพาะกรณีที่ปรากฏตามสื่อ ก็มีไม่น้อย อาทิ… ปี 2550 เคยเกิดเหตุ “เครื่องเล่นล่องแก่งพุ่งออกนอกราง” ทำให้ผู้เล่นกระเด็นออกจากตัวเรือกระแทกพื้น เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 5 ราย โดยมีสาเหตุจากระบบไฟฟ้าขัดข้องทำให้ปั๊มน้ำหยุดทำงาน, ปี 2551 มีเหตุ “เครื่องเล่นซูเปอร์สไปรัลหัก 2 ท่อน” ทำให้ผู้เล่นตกลงมา บาดเจ็บ 28 ราย สาเหตุจากข้อต่อรางหลุดออกจากกัน

ปี 2553 มีเหตุ “เครื่องเล่นสไปเดอร์หมุนเร็วผิดปกติ” มีผู้ บาดเจ็บ 1 ราย จากการหลุดจากเก้าอี้ตกลงมากระแทกรั้ว และปี 2553 เช่นกัน มีเหตุ “เครื่องเล่นรถเมล์เหินเวหาหงายร่วงลงพื้น” มีผู้ บาดเจ็บ 7 ราย สาเหตุเกิดจากอุปกรณ์ชำรุด, ปี 2556 มีเหตุ “เครื่องเล่นจีแม็กซ์รีเวิร์สบันจี้สลิงขาด” ขณะที่เครื่องเริ่มทำงาน โดยเหตุการณ์นี้ไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต, ปี 2557 มีเหตุผู้เล่น “มือติดในสลิงชิงช้าสวรรค์” มีผู้บาดเจ็บ 1 ราย ซึ่งถึงขั้น นิ้วขาด 2 นิ้ว

ปี 2558 มีเหตุ “สายยึดบันจี้จัมพ์ที่ติดกับข้อเท้าหลุด” ส่งผลทำให้ผู้เล่น เสียชีวิต 1 ราย จากการที่ร่างตกกระแทกพื้น และปี 2558 เช่นกัน มีเหตุ “ผู้เล่นเครื่องเล่นกระรอกบินกระแทกตัวกั้น” ทำให้ เสียชีวิต โดยอุบัติเหตุนี้เกิดจากความประมาทของเจ้าหน้าที่ ทำให้ผู้ใช้บริการคอหักจากแรงเหวี่ยง, ปี 2559 เกิดเหตุ “เครื่องเล่นจังเกิ้ลโคสเตอร์ชนกัน” โดยเหตุการณ์นี้มีผู้ บาดเจ็บ 2 ราย และปี 2560 มีเหตุ “นอตยึดเครื่องเล่นหนวดปลาหมึกหลุด” ส่งผลให้กระเช้านั่งร่วงหล่นลงพื้น โดยทำให้มีผู้ บาดเจ็บ 15 ราย …เหล่านี้เป็นกรณี “อุบัติเหตุในสวนสนุก” ที่เคยเกิดขึ้น จากสาเหตุต่าง ๆ…

ฉายภาพ “อันตราย” ที่เคยเกิดในอดีต

มีทั้ง “บาดเจ็บ” และบางเคส “เสียชีวิต”

จนล่าสุดสังคมไทยก็ “มีปุจฉาอีกครั้ง?”

ทั้งนี้ กับ “อุบัติเหตุในสวนสนุก” ที่เคยเกิดในอดีต หรือที่เพิ่งเกิดเมื่อเร็ว ๆ นี้ แต่ละกรณีสาเหตุที่แท้จริงของอุบัติเหตุนั้นเป็นเช่นไร?? หรือบทสรุปของอุบัติเหตุในแต่ละครั้งเป็นเช่นไร?? นั่นก็ว่ากันไป… อย่างไรก็ตาม ที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะชวนพิจารณากันในภาพรวมวันนี้คือ… “มาตรการคุ้มครองผู้บริโภคจากการใช้บริการเครื่องเล่นในสวนสนุกที่อาจเป็นอันตราย” ซึ่งเรื่องนี้ก็มีงานวิชาการ…มี สารนิพนธ์ ที่จัดทำโดย พนิดา ศุกรกมล ในฐานะนักศึกษา หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต กลุ่มวิชากฎหมายธุรกิจ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ที่ได้มีการศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้ไว้…

สำหรับผลการศึกษาที่พบในเรื่อง “มาตรการทางกฎหมายในการคุ้มครองผู้บริโภค” จากการใช้บริการ “เครื่องเล่นที่อาจเป็นอันตราย” นั้น ทางผู้ศึกษาได้ค้นพบ “อุปสรรค-ปัญหา” เกี่ยวกับกรณีนี้ ซึ่งโดยสรุปนั้นมีใจความว่า…จากการศึกษากฎหมายที่มีอยู่ของไทย ถึงแม้จะมีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องนี้อยู่ อาทิ… ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์, พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522, พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535, กฎกระทรวงว่าด้วยการควบคุมเครื่องเล่น พ.ศ. 2558 …แต่ในทางปฏิบัติยังคง “มีปัญหาการตีความนิยาม” คำว่า “เครื่องเล่น”

และสืบเนื่องจากปัญหาในเรื่องการ “ตีความนิยาม” ดังกล่าวนี้ ผลก็คือ… ทำให้ ไม่สามารถคุ้มครองผู้ใช้บริการในฐานะผู้บริโภคให้ใช้บริการเครื่องเล่นในสวนสนุกได้อย่างปลอดภัยมากที่สุด?!?!? แล้วด้วยเหตุนี้ผู้ที่ได้ทำการศึกษาในเรื่องนี้จึงได้จัดทำ “ข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขอุปสรรค-ปัญหา” กรณีนี้เอาไว้ในสารนิพนธ์ฉบับดังกล่าวด้วย ดังนี้…

ควรแก้ไขนิยามคำว่าเครื่องเล่น ให้ครอบคลุมเครื่องเล่นที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบันให้มากที่สุด, ควรแก้ไขการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยเครื่องเล่น โดยเปลี่ยนจากมาตรฐานความปลอดภัยตามคู่มือผู้ผลิตเป็นมาตรฐานความปลอดภัยของเครื่องเล่นในสวนสนุก, ควรเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่การพิจารณาและสั่งการตามกฎหมาย ในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ ในช่วงท้ายของสารนิพนธ์ฉบับดังกล่าว ซึ่งจัดทำเมื่อปี 2561 ผู้ศึกษาได้ระบุถึงการเสนอแนะเรื่องนี้ไว้ด้วยว่า… เพื่อให้ กฎหมายมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้ ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยจากการใช้บริการเครื่องเล่นสวนสนุกมากที่สุด …ซึ่ง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” เชื่อว่าทุกฝ่ายก็คงอยากให้เป็นเช่นนี้

หลัง ๆ มา…มาตรการคงดีขึ้นกว่าเดิมแล้ว

แต่กระนั้น…“อุบัติเหตุสวนสนุกยังเกิด”

ดังนั้น…“ต้องใส่ใจป้องกันให้ดีขึ้นอีก”

“โดยเฉพาะเจ้าของเจ้าหน้าที่รัฐ!!”.