ในช่วงสถานการณ์หน้าฝน ที่ยังมีฝนตกหนัก จนเกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ ดังที่ปรากฏในสื่อให้เราได้เห็นกันเช่นนี้นั้น แน่นอนว่าย่อมเป็นช่วงที่หลีกเลี่ยงอาการเจ็บป่วยได้ยากนัก โดยเฉพาะ “โรคไข้เลือดออก” ที่หลายๆ คนคุ้นหู แต่อาจจะลืมเลือนไปบ้างนั้น
ทางด้าน ผศ.ดร.นพ.นพพร อภิวัฒนากุล สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ความรู้ในเรื่องนี้เอาไว้ว่า สำหรับ “โรคไข้เลือดออก” นั้นเกิดจากการติด “เชื้อไวรัสเดงกี” ซึ่งมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ คือสายพันธุ์ 1, 2, 3 และ 4 การระบาดมักเกิดในช่วงฤดูฝน โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งในอดีตจะพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกมากในวัยเด็ก แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาพบว่า กลุ่มอายุผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้เลือดออกได้ขยายไปยังกลุ่มวัยรุ่น และผู้ใหญ่วัยทำงานมากขึ้น ทำให้ปัจจุบันตัวเลขของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ
“อาการของโรคไข้เลือดออก” ไม่ว่าจะเป็นวัยเด็กหรือผู้ใหญ่นั้นไม่ต่างกันมาก เนื่องจากขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง อาทิ ความรุนแรงที่ต่างกันของแต่ละสายพันธุ์ รวมไปถึงพันธุกรรมของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน เพราะแม้จะป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกสายพันธุ์เดียวกัน ก็มีอาการความรุนแรงไม่เท่ากัน โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดออกจะมาด้วยอาการเบื้องต้นที่เหมือนกัน ดังนี้
- มีไข้สูงเฉียบพลันเกิน 38 องศาเซลเซียส
- ปวดเมื่อยตามตัว บางรายปวดไปถึงกระดูก
- คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร
- มีเลือดออกที่ผิวหนัง เป็นจุดเลือดเล็ก ๆ กระจายอยู่ตามแขน ขา ลำตัว รักแร้
- มีเลือดกำเดา หรือเลือดออกตามไรฟัน
- เกร็ดเลือดต่ำ
- อุจจาระเป็นเลือด
โดยทั่วไปแล้ว “ไข้เลือดออก” สามารถแบ่งได้ 3 ระยะด้วยกันคือ ระยะไข้สูง เป็นช่วงที่ไม่อันตรายเท่าไร แต่อาจทำให้ผู้ป่วยอ่อนเพลีย หมดแรง อาเจียน รับประทานอาหารได้น้อย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่เมื่อผ่านระยะไข้สูงแล้วจะเข้าสู่ ระยะฟื้นตัว ที่ร่างกายจะค่อย ๆ แข็งแรงขึ้น จนกลับมาสู่ภาวะปกติ แต่จะมีผู้ป่วยส่วนน้อยที่เข้าสู่ ระยะวิกฤติ ซึ่งเป็นช่วงที่เป็นอันตรายที่สุดโดยเป็นช่วงที่ผู้ป่วยมีไข้สูงและไข้ลดลง แล้วมีอาการช็อกตามมา
“วิธีการรักษา” สำหรับผู้ป่วยที่เพิ่งมีไข้ แนะนำให้พักผ่อนมาก ๆ ดื่มน้ำ รับประทานอาหารอ่อน ๆ สามารถรับประทานยาพาราเซตามอลได้ ไม่ควรรับประทานยาไอบูโพรเฟน หรือแอสไพริน หากผู้ป่วยมีไข้ได้ประมาณ 3-4 วันแล้วไม่ลด แพทย์จะทำการเจาะเลือดเพื่อตรวจวินิจฉัยว่าเป็นโรคไข้เลือดออกหรือไม่ หากเจาะเลือดแล้วพบว่าเกร็ดเลือดต่ำ แพทย์จะแนะนำให้นอนโรงพยาบาลเพื่อรับน้ำเลือดและติดตามสัญญาณชีพอย่างใกล้ชิด เพราะผู้ป่วยอาจเข้าสู่ระยะวิกฤติได้ ปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสเดงกีโดยเฉพาะ
ทั้งนี้ สำหรับ “ไข้เลือดออก” หลายๆ คนคงจะเกิดคำถามกันอยู่ว่า… เป็นแล้วกลับมาเป็นอีกได้หรือไม่? ก็อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าโรคไข้เลือดออกมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ เพราะฉะนั้น “คนหนึ่งคนสามารถเป็นไข้เลือดออกได้ถึง 4 ครั้ง” เช่น หากเคยเป็นไข้เลือดออกสายพันธุ์ที่ 1 แล้วหาย ร่างกายจะมีภูมิต้านทานไข้เลือดออกสายพันธุ์ที่ 1 ซึ่งจะไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก แต่ก็มีโอกาสที่จะเป็นไข้เลือดออกสายพันธุ์อื่น ๆ ที่เหลือได้ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เป็นโรคไข้เลือดออกครั้งแรก อาการจะไม่รุนแรงมาก แต่หากได้รับการติดเชื้อเป็นครั้งที่ 2 อาการของผู้ป่วยบางรายจะมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น แต่ก็พบได้กับคนส่วนน้อยเท่านั้น
“วิธีการป้องกัน” ควรกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้านและชุมชน ด้วยการปิดฝาภาชนะที่มีน้ำขังให้มิดชิด ไม่ให้ยุงเข้าไปวางไข่ได้ เปลี่ยนน้ำในภาชนะทุกสัปดาห์ ดูแลความสะอาดปรับสภาพแวดล้อมบริเวณบ้านให้ปราศจากภาชนะที่มีน้ำขังได้ เช่น ยางรถยนต์ จาน ชามเก่าที่วางทิ้งไว้ เป็นต้น
ในช่วงฤดู “ไข้เลือดออก” ระบาดเช่นนี้ คุณพ่อคุณแม่ หรือจะเป็นคุณลูกก็อย่างได้นิ่งนอนใจ หากคนในครอบครัวมีอาการไข้สูงหลายๆ วัน ควรเร่งพาคนที่คุณรักไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้อง เพราะหากล่าช้าเกินไป ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่ผู้ป่วยอาจมีภาวะช็อกและเสี่ยงต่อการเกิดเรื่องเศร้า ที่พรากชีวิตของคนที่คุณรักไปในที่สุด
………………………………………….
คอลัมน์ : Healthy Clean
โดย “พรรณรวี พิศาภาคย์”