วันที่ 9 เมษายน ของทุกปีเป็น “วันกองทัพอากาศ” สำหรับ กิจการบินของไทย เริ่มต้นในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จ พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อนายชาร์ล ว็อง แด็ง บอร์น นักบินชาวเบลเยี่ยม ได้นำเครื่องบินปีกสองชั้นแบบ อ็องรี ฟาร์ม็อง 4 นำเครื่องบินมาแสดงให้ชาวไทย ได้ชมเป็นครั้งแรก ณ สนามม้าสระปทุม

การแสดงการบินครั้งนั้น ทำให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพสมัยนั้น เล็งเห็นความสำคัญของการมีกำลังทางอากาศ ดังคำพูดของ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ ซึ่งภายหลังได้รับเทิดพระเกียรติเป็น “พระบิดากองทัพอากาศ” ที่ว่ากำลังทางอากาศเป็นโล่อันแท้จริงอย่างเดียว ที่จะกันมิให้การสงครามมาถึงท่ามกลางประเทศของเราได้ ทั้งเป็นประโยชน์ใหญ่ยิ่งในการคมนาคมเวลาปกติ

ด้วยเหตุนี้ กระทรวงกลาโหม จึงได้ตั้ง “แผนกการบิน” ขึ้นในกองทัพบก พร้อมทั้งได้คัดเลือกนายทหารบก 3 นาย ได้แก่ พันตรีหลวงศักดิ์ศัลยาวุธ ร้อยเอกหลวงอาวุธสิขิกร และ ร้อยโท ทิพย์ เกตุทัต ไปศึกษาวิชาการ ณ ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งในเวลาต่อมา ได้รับพระราชทานยศ และบรรดาศักดิ์ ตามลำดับ คือ พลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศนาวาอากาศเอก พระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์ และนาวาอากาศเอก พระยาทะยานพิฆาต และ กองทัพอากาศได้ยกย่องให้เป็น “บุพการีของกองทัพอากาศ”

ขณะที่นายทหารทั้ง 3 กำลังศึกษาวิชาการบินอยู่นั้น ทางราชการได้สั่งซื้อเครื่องบิน รวมทั้งมีผู้บริจาคเงินร่วมสมทบซื้อด้วยเป็นครั้งแรก จำนวน 8 เครื่อง คือเครื่องบินเบรเกต์ปีก 2 ชั้น จำนวน 4 เครื่อง และเครื่องบินนิเออปอรต์ปีกชั้นเดียว จำนวน 4 เครื่อง โดยใช้สนามม้าสระปทุม หรือราชกรีฑาสโมสรในปัจจุบันเป็นสนามบิน แต่ด้วยความไม่สะดวกหลายประการ บุพการีทั้ง 3 ท่าน จึงได้พิจารณาหาพื้นที่ที่มีความเหมาะสมต่อการบิน และได้เลือกเอา ตำบลดอนเมือง เป็นที่ตั้งสนามบิน พร้อมทั้งได้ก่อสร้างอาคาร สถานที่โรงเก็บเครื่องบินอย่างถาวรขึ้น

เมื่อการโยกย้ายกำลังพล อุปกรณ์ และเครื่องบิน ไปไว้ยังที่ตั้งใหม่เรียบร้อยแล้ว ในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2457 กระทรวงกลาโหม จึงได้สั่งยกแผนกการบินขึ้นเป็น “กองบินทหารบก” ซึ่งถือได้ว่า กิจการการบินของไทย ได้วางรากฐานอย่างมั่นคงขึ้นแล้ว ตั้งแต่บัดนั้นมา กองทัพอากาศจึงถือเอา วันที่ 27 มีนาคม ของทุกปีเป็น “วันที่ระลึกกองทัพอากาศ”

ในเวลาต่อมากำลังทางอากาศ ได้พัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติทางด้านต่างๆ อันเป็นรากฐานของกิจการหลายอย่างในปัจจุบัน อาทิ การบินส่งไปรษณีย์ทางอากาศ การส่งแพทย์ และเวชภัณฑ์ทางอากาศ เป็นต้น

ในปี พ.ศ. 2464 กระทรวงกลาโหม ได้เปลี่ยนชื่อจาก กรมอากาศยานทหาร เป็น “กรมอากาศยาน” และเป็น “กรมทหารอากาศ” ในเวลาต่อมา ให้อยู่ในบังคับบัญชาของ รมว.กลาโหม โดยตรง พร้อมทั้งได้มีการกำหนดยศทหาร และการเปลี่ยนแปลงเครื่องแบบจากสีเขียวมาเป็นสีเทา

ทั้งนี้ วันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2480 กรมทหารอากาศได้ยกฐานะเป็น “กองทัพอากาศ” มีนาวาอากาศเอก พระเวชยันต์รังสฤษฎ์ เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศคนแรกกองทัพอากาศ จึงได้ถือเอาวันที่ 9 เมษายน ของทุกปีเป็น “วันกองทัพอากาศ”

ด้าน พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 81 ปี กองทัพอากาศ ได้พัฒนาและเจริญก้าวหน้าพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ โดยที่ผ่านมาได้เข้าร่วมในสมรภูมิต่างๆ ในการปกป้อง รักษาอธิปไตยของชาติ อาทิ สงครามกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส และสงครามมหาเอเชียบูรพา รวมทั้งเข้าร่วมกับกองกำลังสหประชาชาติ ในสงครามเกาหลี และร่วมกับพันธมิตร ในสงครามเวียดนาม อันนำมาซึ่งเกียรติยศศักดิ์ศรีแก่กำลังทางอากาศของประเทศไทย และแสดงแสนยานุภาพ ให้ทั่วโลกเป็นที่ยอมรับ

ผบ.ทอ.กล่าวว่า ยุทธศาสตร์กองทัพอากาศ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) มีความสอดคล้องตามยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี ตลอดจนสอดคล้องตามยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหมและยุทธศาสตร์ทหาร กองทัพไทย เพื่อที่จะให้กองทัพอากาศเป็นอีกกลไกหนึ่งที่สำคัญในการร่วมผนึกกำลังกับทุกภาคส่วนตามแนวคิด “ประชารัฐ” ที่ต้องการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศไปสู่วิสัยทัศน์ไทยแลนด์ 4.0 ที่ต้องการให้ประเทศไทย มีความมั่นคง มั่นคั่ง และยั่งยืน ได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ

โดยยุทธศาสตร์ฉบับนี้เป็นการ “สาน เสริม สร้าง” และพัฒนาต่อ ยอดจากยุทธศาสตร์กองทัพอากาศ พ.ศ.2551-2562 ให้ความสำคัญกับการพัฒนา กองทัพอากาศ ในทุกด้านอย่างเป็นระบบ เช่น การจัดหาอุปกรณ์ เครื่องมือ และอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เหมาะสม การฝึกศึกษาเพื่อพัฒนาบุคลากร การพัฒนาแนวความคิดในการปฏิบัติภารกิจ และการปรับปรุงโครงสร้างองค์กร

ปัจจุบัน กองทัพอากาศ ได้กำหนดค่านิยมหลักเป็นแนวทางให้กำลังพลของกองทัพอากาศยึดถือปฏิบัติร่วมกัน อันเป็นเอกลักษณ์ของทหารอากาศ เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกในความเป็นทหารอากาศ (Air – minded) โดยกำหนดค่านิยมหลักของกองทัพอากาศไว้ 3 ประการ ใช้คำย่อว่า “AIR” ให้กำลังพลของกองทัพอากาศถือปฏิบัติ ดังนี้

Airmanship (ความเป็นทหารอากาศ) หมายถึง การแสดงออกถึงความเป็นทหารอากาศที่มีระเบียบวินัย รู้หลักการ ขั้นตอน และมีทักษะในการปฏิบัติงาน มีความเชี่ยวชาญในงานที่รับผิดชอบอย่างมืออาชีพ มีความตระหนักรู้ในตนเอง สามารถตัดสินใจได้อย่างเหมาะสมภายใต้ความเสี่ยงในทุกสถานการณ์และสามารถทำงานเป็นทีมเพื่อผลสัมฤทธิ์ของงาน

Integrity and Allegiance (ความซื่อสัตย์และความจงรักภักดี) หมายถึง มีความยึดมั่นในระบบเกียรติศักดิ์ มีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ กล้ากระทำในสิ่งที่ถูกต้อง มีคุณธรรมจริยธรรม มีความซื่อตรง ดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม และมีจรรยาบรรณในวิชาชีพ พร้อมเปอดใจรับความคิดเห็นของผู้อื่น

Responsibility (ความรับผิดชอบ) หมายถึง ความรับผิดชอบต่อตนเอง องค์การ สังคมและประเทศชาติ เพื่อให้การปฏิบัติภารกิจสัมฤทธิ์ผล อย่างมีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง

ดังนั้น กองทัพอากาศ เมื่อเน้นด้านยุทธศาสตร์แล้ว ก็มุ่งเน้นค่านิยมหลัก เพื่อทำให้ กองทัพอากาศมีความสมบูรณ์ครบเครื่อง ทั้งเทคโนโลยี กำลังคน และจิตใจ ในอนาคตกำลังพลต้องให้ความสำคัญและปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ของตนเอง เพื่อพัฒนากองทัพอากาศมุ่งสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ พร้อมด้วยความซื่อสัตย์จงรักษ์ภักดี ความรับผิดชอบ และเป็นทหารอากาศอาชีพ อยู่เคียงข้างประชาชน.

……………………………………….
คอลัมน์ : รายงานพิเศษ
โดย “อุบล ชาญปรีชาสมุทร”

ขอบคุณ :กองทัพอากาศ