จากนี้ไปสัมพันธภาพระหว่างประเทศ “สัมพันธ์อังกฤษ-ไทย” มีประเด็นใดที่ “น่าจับตา?” หรือไม่?-อย่างไร?… ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มีบทวิเคราะห์มานำเสนอ…

ทั้งนี้ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ ได้วิเคราะห์และสะท้อนผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ถึง “สถานการณ์โลก-สถานการณ์ไทย” ภายหลังการสวรรคตของ “ควีนเอลิซาเบธที่ 2” และการขึ้นครองราชย์ของ “พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3” โดยระบุในเบื้องต้นว่า… สถาบันกษัตริย์อังกฤษผูกพันกับประชาชนอังกฤษมาอย่างยาวนาน และควีนเอลิซาเบธที่ 2 ก็ทรงครองราชย์มาอย่างยาวนาน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในจิตใจของพสกนิกรอังกฤษ การสิ้นพระชนม์ของควีนเอลิซาเบธที่ 2 จึงย่อมนำมาซึ่งความโศกเศร้าอาดูรยิ่งของพสกนิกรอังกฤษ ขณะที่การขึ้นครองราชย์ของ “พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3” นั้น สถาบันกษัตริย์อังกฤษก็จะยังคงดำเนินต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงบริหารความสัมพันธ์กับพสกนิกรอังกฤษมาอย่างต่อเนื่อง และทรงวางพระองค์ไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจการบริหารและการเมืองอังกฤษมาโดยตลอด

“แม้ว่าคงต้องขึ้นกับอัตลักษณ์ของกษัตริย์พระองค์ใหม่นับจากนี้ด้วยว่า จะเป็นอย่างไรในสายตาของคนอังกฤษ แต่ส่วนตัวก็เชื่อว่าในแง่ความสัมพันธ์และความผูกพันระหว่างสถาบันกษัตริย์และประชาชนอังกฤษ ไม่น่าจะมีผลกระทบใด ๆ”

รศ.ดร.สมชาย วิเคราะห์และสะท้อนผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ต่อไปว่า… การสิ้นพระชนม์ของควีนเอลิซาเบธที่ 2 และการขึ้นครองราชย์ของ “พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3” ไม่น่าจะส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อการเมืองภายในสหราชอาณาจักร เนื่องจากพระราชวงศ์นั้นไม่ได้ยุ่งเกี่ยวหรือมีบทบาทในทางการเมืองภายในมาเป็นระยะเวลานานมากแล้ว นับตั้งแต่สมัยที่ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ยังไม่สิ้นพระชนม์ ส่วนตัวจึงคิดว่าไม่น่ามีผลใด ๆ กับการเมืองภายในอังกฤษ รวมถึงไม่น่าจะส่งผลต่อการเมืองโลก

อย่างไรก็ตาม ทาง รศ.ดร.สมชาย ระบุว่า… ก็มี “ประเด็นที่น่าจับตามองเป็นพิเศษ” นั่นคือเรื่อง “ความเคลื่อนไหวของประเทศที่อยู่ในเครือจักรภพ” หรือที่เรียกว่า “กลุ่มประเทศ Commonwealth” ที่ปัจจุบันนี้หากไม่รวมอังกฤษด้วยก็จะมีอยู่ 14 ประเทศ ได้แก่ แอนติกาและบาร์บูดา, ออสเตรเลีย, บาฮามาส, เบลีซ, แคนาดา, เกรเนดา, จาเมกา, นิวซีแลนด์, ปาปัวนิวกินี, เซนต์คิตส์และเนวิส, เซนต์ลูเชีย, เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์, หมู่เกาะโซโลมอน, ตูวาลู ซึ่งการสวรรคตของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ในฐานะประมุขแห่งรัฐในเครือจักรภพ ในอนาคตก็เป็นไปได้ว่าประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มนี้ อาจมีการขอแยกตัวออกจากเครือจักรภพ หรือลดการพึ่งพาประเทศอังกฤษกันมากขึ้น แต่ทั้งนี้ การจะแยกตัว หรือลดระดับการพึ่งพา หรือมีความผูกพันน้อยลง ก็ไม่ได้ขึ้นกับการสวรรคตของควีนเอลิซาเบธที่ 2 อย่างเดียว หากแต่เป็นไปตามความเปลี่ยนแปลง ซึ่งอันที่จริงก็เริ่มเกิดความเปลี่ยนแปลงลักษณะนี้มาแล้วสักพักใหญ่ ๆ กับการที่มีบางประเทศตัดสินใจจะขอแยกตัวจากเครือจักรภพ

“สาเหตุหลักที่ทำให้ขอแยกตัว หรือลดระดับการพึ่งพาและความผูกพันน้อยลงนั้น มีปัจจัยมาจากเรื่องของผลประโยชน์กลุ่มที่ไม่ตรงกัน เนื่องจากสังคมโลกเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก” …นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ ระบุ

ถามว่า…สถานการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นช้าหรือเร็ว? จะมีการลดระดับความผูกพันและการพึ่งพาอังกฤษมากน้อยแค่ไหน? นักวิชาการท่านเดิมบอกว่า… เบื้องต้นคงยังระบุชัดไม่ได้ คงต้องรอดูหลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีพระบรมศพควีนเอลิซาเบธที่ 2 แต่ก็มีโอกาส มีแนวโน้มสูง ที่ประเทศในเครือจักรภพจะลดระดับการพึ่งพา ลดระดับความผูกพัน ลดระดับความสัมพันธ์กับอังกฤษ

และเมื่อถามว่า…แล้ว “สัมพันธ์อังกฤษ-ไทย จะมีประเด็นใดที่น่าจับตาหรือไม่?-อย่างไร?” จากการสิ้นพระชนม์ของ “ควีนเอลิซาเบธที่ 2” และการขึ้นครองราชย์ของ “พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3ทาง รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ ระบุว่า…

“อย่างที่ได้ระบุไว้ในตอนต้น สถาบันกษัตริย์อังกฤษไม่ได้มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือการบริหารประเทศมานานมากแล้ว ดังนั้นจึงเชื่อได้ว่าสำหรับประเทศไทย ก็ไม่น่าจะมีผลกระทบใด ๆ ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของประเทศอังกฤษครั้งนี้ ไม่น่าจะส่งผลกระทบใด ๆ กับประเทศไทย??”.