เมื่อครั้งที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เคยกล่าวเป็น “อมตะวาจา” ไว้ว่า “เขาอยากอยู่ยาว” หลังจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คว่ำร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 58

“เขาอยากอยู่ยาว” ในที่นี้คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คนทำรัฐประหารเมื่อปี 57 นั่นเอง แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ก็แต่งตั้งนายบวรศักดิ์มาเป็นประธานคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อผลงานออกมาไม่ได้ดั่งใจ พล.อ.ประยุทธ์ จึงแต่งตั้งนายมีชัย ฤชุพันธุ์ มาเป็นประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งนายสุพจน์ ไข่มุกด์ ขึ้นมาทำหน้าที่ต่อ

แต่เมื่อ 9 ส.ค. 65 มีการเผยแพร่เอกสารบันทึกการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ครั้งที่ 500 (7 ก.ย. 61) ระบุประเด็นการพิจารณาตอนหนึ่งเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยบันทึกการประชุมระบุว่า นายมีชัยได้สอบถามว่า ผู้ที่เป็นนายกฯ ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญ (รธน.) ปี 60 ประกาศใช้บังคับ สามารถนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ดังกล่าว เข้ากับวาระดำรงตำแหน่งนายกฯ ตาม รธน. ปี 60 หรือไม่

จากนั้นนายสุพจน์ได้กล่าวว่า หากนายกฯ ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่ รธน. ปี 60 ประกาศใช้บังคับ เมื่อประเทศยังคงมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ควรนับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าว รวมเข้ากับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ตาม รธน. ปี 60 ด้วย

นายมีชัยกล่าวว่า เมื่อพิจารณาบทเฉพาะกาลในมาตรา 264 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้ รธน.นี้ เป็น ครม.ตามบทบัญญัติแห่ง รธน.นี้ จนกว่า ครม.ที่ตั้งขึ้นใหม่ ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตาม รธน.นี้ จะเข้ารับหน้าที่ และให้นำความในมาตรา 263 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยโดยอนุโลม” การบัญญัติในลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า แม้จะดำรงตำแหน่งนายกฯอยู่ก่อนวันที่ รธน.นี้ใช้บังคับ สามารถนับรวมระยะเวลาดังกล่าว รวมกับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ตาม รธน.ปี 60 ได้ เมื่อนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ต้องมีระยะเวลาไม่เกิน 8 ปี

หลังจาก 7 ก.ย. 61 เรื่อยมา นายมีชัยไม่เคยมีข้อท้วงติงว่าบันทึกการประชุมดังกล่าวตกหล่น เนื้อหาสาระไม่ครบถ้วนตรงไหน หรือว่าเนื้อหาขาด ๆ เกิน ๆ ในช่วงใด แต่วันที่ 6 ก.ย. 65 มีเอกสารหลุดว่อน! โดยอ้างว่าเป็นความเห็นของนายมีชัยชี้แจงศาลรัฐธรรมนูญว่าปมวาระนายกฯ 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 60 หลังจาก รธน.ปี 60 ใช้บังคับ ส่วนบันทึกการประชุม กรธ. ครั้งที่ 500 นั้น จดไม่ครบ! จึงใช้เป็นหลักฐานไม่ได้

นักกฎหมายบอกกับ “พยัคฆ์น้อย” ว่าถ้าบันทึกการประชุม เหมือนกับคำให้การที่พนักงานสอบสวนจดบันทึกไว้ จากเหตุการณ์เพิ่งเกิดสด ๆ ไม่มีเวลาเตรียมตัวนัก มีการจดรายงานการประชุมไว้ หรือหลังเหตุเกิดไม่กี่ชั่วโมงมาให้การกับพนักงานสอบสวน จนเวลาล่วงเลยไป 4-5 ปี แล้วมา “กลับคำให้การ” ถ้าเป็นคดีอาญาทั่ว ๆ ไป ส่วนใหญ่เขาไม่รับฟังกัน

โดยเฉพาะปมวาระ 8 ปีนั้น ตีความง่ายมาก! ให้ยึดหลัก “ความยุติธรรมตามธรรมชาติ” คือ พล.อ.ประยุทธ์ นั่งคุกเข่ารับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ ตั้งแต่เมื่อไหร่ ให้เริ่มนับตั้งแต่วันนั้นเรื่อยมา ไม่ต้องสนใจกับท่าทีของบรรดา “ตัวละครโรงใหญ่” ไม่ว่าจะเป็นนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ นายมีชัย นายสุพจน์ หรือแม้แต่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ที่ออกมาชื่นชมลูกพี่ว่าเคารพคำสั่งศาล เมื่อถูกสั่งพักงาน สมกับเป็นชายชาติทหาร

ปมวาระ 8 ปี จะจบแบบไหนก็แล้วแต่! แต่เรื่องของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีวันจบลงได้ง่าย ๆ เพราะเป็นอะไรที่ฝืนความรู้สึกของคนไทยส่วนใหญ่

พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะรอด! แต่คนไทยส่วนใหญ่คงไปไม่รอด! จากปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้ารอบด้าน ภาระหนี้สินหนักหน่วงมาก สาเหตุหลักเพราะ “นายกฯ ชำรุดยุทธ์โทรม” อยู่มา 8 ปี “จีดีพี” โตต่ำเตี้ยปีละ 1% กว่า ๆ แต่ยังไม่ยอมพอ!!

————————
พยัคฆ์น้อย